วันที่ 11 ส.ค.65 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ แถลงผลการประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ ครั้งที่ 1/2565 โดยพลเอก ประยุทธั จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เห็นชอบแนวทางเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ในระดับวิกฤตเศรษฐกิจ ผ่านมาตรการระยะเร่งด่วน (Quick win) และมาตรการที่ต้องเร่งดำเนินการต่อเนื่อง (Follow-up Urgent Poliy) เพื่อรองรับสถานการณ์ในระดับวิกฤตเศรษฐกิจ โดยมอบหมายให้คณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์
สถานกรณ์วิกฤตเศรษฐกิจพิจารณากำหนดรายละเอียดมาตรการ และเสนอคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
นายกฤษฎา กล่าวว่า ที่ประชุมได้มีการประเมินสถานการณ์ต่างๆที่มีโอกาสกลายเป็นวิกฤต พร้อมทั้งมีแผนรองรับสถานการณ์ ใน 4 ด้าน 1.วิกฤตต้นทุนพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ 2.วิกฤตการเพิ่มขึ้นของตันทุนการผลิตและการขาดแคลนวัตถุดิบด้านการเกษตร 3.วิกฤตการเงินภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ SMES และ 4.วิกฤตเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจและการลดลงของขีดความสามารถในการแข่งขัน พร้อมทั้งได้เสนอแนวทางที่ควรจะดำเนินการในระยะสั้นและระยะยาวให้ที่ประชุมรับทราบ
ขณะที่ วิชญายุทธ บุญชิต รองเลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปิดเผยว่า สถานการณ์เศรษฐกิจโลกเริ่มชะลอตัว จากวิกฤตราคาพลังงาน เงินเฟ้อในครึ่งปีแรกยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และคาดว่า จะชะลอตัวลงในครึ่งปีหลัง และการขึ้นดอกเบี้ยที่ยังปรับตัวต่อเนื่อง
ส่วนเศรษฐกิจไทย ในไตรมาสที่ 2 ยังปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสแรก โดยมีแรงสนับสนุนจากการใช้จ่ายการบริโภคภาคเอกชนภายในประเทศ การท่องเที่ยว การส่งออกที่ขยายตัวต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ประชุมได้มีการประเมินสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน โดยได้กำหนดฉากทัศน์ 3 แบบ 1.ในกรณีความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ยังยืดเยื้อ แต่มาตรการตอบโต้ทางเศรษฐกิจ ระหว่างรัสเซีย กับสหรัฐ มีลักษณะทรงตัว ถ้าเป็นกรณีนี้ เศรษฐกิจยังขยายตัวได้ตามการประมาณการณ์ไว้ โดยสภาพัฒน์ฯประเมินจีดีพี ปี 65 ที่ 2.5-3.5% กระทรวงการคลัง ประเมินจีดีพีที่ 3.5% ธนาคารแห่งประเทศไทย ประเมินจีดีพีที่ 3.3% ส่วนปี 66 ยังคาดว่า เศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้น