เวลา 18.00 น.วันที่ 11 สิงหาคม 2565 นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ นายกเมืองพัทยา พร้อมด้วย นายพุฒิสิทธิ์ โชติสิริวโรทัย หัวหน้างานสถานบริการปลัดอำเภอบางละมุง พ.ต.อ.กุลชาต กุลชัย ผกก.สภ.เมืองพัทยา เจ้าหน้าที่สำนักช่างเมืองพัทยา เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง และเจ้าหน้าที่ตำรวจสภ.เมืองพัทยา ร่วมลงพื้นที่ตรวจสอบสถานบันเทิงแบบปิด ภายในถนนคนเดินวอล์คกิ้งสตรีทพัทยาใต้ พร้อมแจกเอกสารแจ้งเตือนผู้ประกอบการสถาบันเทิงเกี่ยวกับมาตรฐานความปลอดภัย ที่อาจเกิดจากอัคคีภัย สร้างความเชื่อมั่นและความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยวที่เข้าใช้บริกาน หวั่นเกิดให้เกิดเหตุซ้ำรอย เหตุเพลิงไหม้ผับ เมาท์เทน บี สัตหีบ ที่มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก
โดยได้เน้น 8 มาตราการหลัก ประกอบด้วย 1.วัสดุตกแต่งผิวผนังและฝ้าเพดานที่ใช้ภายในสถานบริการ จะต้องเป็นวัสดุที่ ติดไฟหรือลุกไหม้ที่มีอุณหภูมิไม่น้อยกว่า 750 องศาเชลเซียสขึ้นไป หรือเป็นวัสดุที่มีดรรชนีการลามไฟไม่เกิน 75 และดรรชนีการกระจายควันไม่เกิน 450 2.ผนังภายนอก ประตู หน้าต่าง และส่วนประกอบของผนังกั้นภายในอาคาร บริเวณทางเดินของสถานบริการประเภทที่ทำด้วยกระจกจะต้องใช้กระจกนิรภัยที่มีคุณสมบัติในการ ป้องกันหรือลดอันตรายจากการบาดของเศษกระจกเมื่อกระจกแตก 3.สถานบริการหรืออาคารที่ตั้งสถานบริการต้องมีระบบจ่ายพลังงานไฟฟ้า
สำรองสำหรับเครื่องหมายแสดงทางฉุกเฉิน ทางเดิน บันได บันไดหนีไฟ 4.สถานบริการต้องมีระบบสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ 5.สถานบริการต้องติดตั้งเครื่องดับเพลิงแบบมือถือหรือเครื่องดับเพลิงยกหิ้วตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม โดยให้มี 1 เครื่องต่อพื้นที่สถานบริการไม่เกิน 600 ตารางเมตร 6.จำนวนทางออกและประตูทางออกในสถานบริการต้องสอดคล้องกับจำนวนคนสูงสุดที่อยู่ในพื้นที่สถานบริการนั้น 7.ทางออกหรือประตูทางออกจากสถานบริการ ไปสู่ทางหนีไฟ ต้องมีป้ายบอกทางหนีไฟด้วยตัวอักษรหรือสัญลักษณ์ แสดงทางหนีไฟที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจนตลอดเวลา ความกว้างสุช่องทางออกต้องไม่น้อยกว่า 0.85 เมตร สูงไม่น้อยกว่า 1.95 เมตร อีกทั้งจะต้องสามารถเปิดออกได้โดยสะดวกตลอดเวลา และ 8.สถานบริการจะต้องมีจำนวนทางหนีไฟที่ขึ้นกับจำนวนคนสูงสุดที่อยู่ในสถาน
นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ นายกเมืองพัทยา เปิดเผยว่า จากการซุ่มตรวจสอบสถานบันเทิงในโซนนิ่ง ครั้งนี้นั้นพบว่าสถานประกอบการหลาย ๆแห่งมีมาตราการในการป้องกัน ซึ่งมีความปลอดภัยระดับหนึ่ง แต่ยังคงมีรายละเอียดที่ต้องแก้ไขเพิ่มเติม จึงได้มอบเอกสารให้กับผู้ประกอบการสถาบันเทิง เพื่อให้ปรับปรุ่งแก้ไขในส่วนที่ยังถูกต้อง พร้อมเน้นย้ำให้ทำตามมาตรการอย่างเคร่งครัด แต่ก็ต้องให้โอกาสกับผู้ประกอบการ ได้ปรับปรุงแก้ไขต่อไป ส่วนสถาบันเทิงนอกโซนนิ่งนั้น ก็จะใช้มาตรการเดียวกัน
นอกจากนี้ในส่วนของสถานประกอบการที่ มีการต่อเติมหรือสร้างผิดรูปแบบที่ได้ขออนุญาตไว้ ก็จะลงตรวจสอบ ออกหนังสือเตือน จนกระทั่งไปสู่การระงับการก่อสร้าง และระงับใช้ตัวอาคาร หากมีการฝ่าฝืนก็จะต้องบังคับใช้กฎหมายต่อไป
ภาพ/ข่าว อนันต์ กิ่งสร ทิวากร กฤษมณี ผู้สื่อข่าวTOPNEWS ประจำ จ.ชลบุรี