เมื่อวันที่ 14 ส.ค. นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความคิดเห็นวิเคราะห์ประเด็นด้านกฎหมายเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ด้านการเมืองที่กำลังเป็นที่ถกเถียงในขณะนี้ ทั้งเรื่องระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และการพิจารณาสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยได้หยิบยกข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องมาอธิบายอย่างละเอียดมีเนื้อหา ระบุว่า
“ต้องขอโทษทุกๆ ท่านที่ติดตามและทวงถามอยากฟังเรื่องการทำงานของผม ที่ผ่านมา มีทั้งงานและภารกิจที่ได้รับมอบหมายมากจริงๆ แถมมีภารกิจเพื่อชาติที่สำคัญคือ การทำพรรคการเมืองใหม่ให้พี่น้องประชาชน คือ “พรรครวมไทยสร้างชาติ” ทำให้ไม่มีเวลาเล่าเรื่องการทำงานที่เป็นประโยชน์ให้ฟัง เพราะผมเขียนเองทุกเรื่อง ไม่เคยใช้แอดมินหรือตัวแสดงแทน
ความจริงอยากเล่าให้ฟังทุกเรื่องพร้อมๆ กันตามคำเรียกร้อง แต่ถ้าเขียนทุกเรื่องพร้อมกันคงต้องอ่านกันเป็นสัปดาห์กว่าจะจบ ทั้งเรื่องความคืบหน้าคดี “ค่าโง่โฮปเวลล์” ซึ่งผมและทีมงาน โดยเฉพาะ “ยิ้ม” ยังไม่หายไปไหนนะครับ รวมทั้งเรื่องการช่วยแก้ไขความเดือดร้อนและความทุกข์ของชาวบ้านในฐานะที่ผมเป็นประธานคณะกรรมการอำนวยความเป็นธรรมและเร่งรัดการปฏิบัติราชการ ของสำนักนายกรัฐมนตรี ที่สามารถช่วยแก้ทุกข์ของชาวบ้านไปได้เป็นจำนวนมากในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา และเรื่องความเป็นมาของ “พรรครวมไทยสร้างชาติ” ที่ได้รับการตอบรับดีเกินคาดอยู่ในขณะนี้
แต่เรื่องที่สอบถามความเห็นผมมาอย่างมาก เป็นเรื่องที่ทั้งผมและประชาชนเบื่อหน่ายมากที่สุด คือ เรื่องเกมการเมืองไร้สาระ เรื่องวาระ 8 ปี ของนายกรัฐมนตรี และเรื่องหาร 100 หาร 500
ประชาชนจะเป็นจะตายกับภาวะการทำมาหากิน กับการดำรงชีวิต การไม่ได้รับความเป็นธรรม การถูกรังแก แต่ไม่มีนักการเมืองในสภาคนไหนสนใจเสนอกฎหมาย แก้ไขกฎหมาย ถกเถียงหาทางออกให้ประชาชนแบบจะเป็นจะตายกันเหมือนเรื่องวาระ 8 ปี ของนายกรัฐมนตรี และ เรื่องหาร 100 หาร 500 เลย
ประชาชนเคยให้ความหวังกับการเลือกตั้งปี 2562 สุดท้ายทั้งพรรคหลักพรรครองแปรสภาพเป็นนักกีฬามาเล่นเกม หัวหน้าทีมก็มีความสุขกับการสร้างความยิ่งใหญ่ให้กับตัวเองและการยกยอปอปั้นจากบรรดาคนรอบข้าง คิดว่าการเมืองมีเพียงแค่ “เงิน” กับ “อำนาจ” แต่ที่เลวร้ายที่สุดคือการใช้บ้านเมืองเป็นสนามเล่นเกม โดยมีประชาชนเป็นผู้รับเคราะห์ เรื่องเหล่านี้กำลังกินลึกเข้าไปในหัวใจของประชาชน ผมเชื่อว่าเลือกตั้งครั้งหน้าประชาชนจะร่วมกันให้บทเรียนสั่งสอนครั้งใหญ่ครับ สำหรับผม เรื่องนี้เป็นเพราะความไม่ชัดเจนของการเขียนรัฐธรรมนูญ สุดท้ายจะต้องไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ
นายพีระพันธุ์ ได้กล่าวถึงประเด็นวาระ 8 ปีของนายกรัฐมนตรี โดยหยิบยกรายละเอียดของกฎหมายมาอธิบาย มีเนื้อหาระบุว่า เกมวาระ 8 ปีนายกฯ ตามหลักกฎหมายแล้ว เรื่องวาระ 8 ปีของนายกรัฐมนตรีมีหลักเกณฑ์ในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 158 วรรคสี่แต่เพียงว่า “นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่” ปัญหาคือผู้ร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดวันเริ่มต้นนับหนึ่งของแปดปีไว้ว่าให้เริ่มนับหนึ่งตั้งแต่เมื่อใด ต่างจากกรณี “ค่าโง่โฮปเวลล์” ที่บัญญัติไว้ชัดเจนว่าให้เริ่มนับหนึ่งตั้งแต่ “วันที่รู้หรือควรรู้เหตุแห่งการฟ้องคดี”
จึงเป็นเหยื่ออันโอชะสำหรับนักเล่นเกมที่จะตีความมาตรา 158 วรรคสี่ให้เป็นไปอย่างที่ตนคิดเพื่อประโยชน์ของตนเองไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของประชาชน จะครบ 8 ปีตอนไหน ใครจะมาเป็นนายกฯ ไม่มีประโยชน์อะไรกับบ้านเมืองและประชาชนเลย หากการเมืองเต็มไปด้วยนักเล่นเกมเช่นในปัจจุบัน
รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายเหมือนกฎหมายและพระราชบัญญัติอื่นๆ เพียงแต่รัฐธรรมนูญมีสถานะเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ การตีความกฎหมายรัฐธรรมนูญจึงต้องตีความตามหลักการตีความกฎหมายและต้องตีความโดยเคร่งครัด นั่นคือ ต้องตีความตามตัวอักษรเป็นอันดับแรก แต่หากตัวอักษรที่เขียนไว้ไม่มีความชัดเจนอีก ก็ต้องตีความตามเจตนารมณ์ของผู้ร่างเป็นอันดับต่อไป นั่นคือ เหตุผลของผู้ร่างตัวบทกฎหมายนั้นขึ้นมา ถ้าหาเหตุผลเจตนารมณ์ของผู้ร่างไม่ได้ ก็ต้องตีความตามขนบธรรมเนียมประเพณี ซึ่งปกติไม่น่าจะเกิดขึ้นเพราะการจะยกร่างกฎหมายโดยเฉพาะกฎหมายรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสำคัญและเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศจะเขียนขึ้นโดยไม่มีที่มาที่ไปและไม่มีเหตุผลมาก่อนคงเป็นไปไม่ได้
สำหรับรัฐธรรมนูญ 2560 นี้ มีหนังสือคู่มืออธิบายเหตุผลและเจตนารมณ์ของแต่ละมาตราไว้ แต่พอมาถึงเรื่อง 8 ปี ในมาตรา 158 กลับเขียนอธิบายไว้แบบเดียวกับเนื้อความในมาตรา 158 โดยไม่ได้บอกว่านับหนึ่งจากไหนและเมื่อใด เลยไม่รู้ว่าจะเขียนขึ้นมาทำไมให้ยุ่งเล่น