นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เข้ามารับตำแหน่งตั้งแต่เดือนพฤษภาคมจนถึงปัจจุบันนี้เป็นเวลาเกือบ 3 เดือนแล้ว แต่ปรากฏว่าในช่วงเดือนที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน นายชัชชาติได้ทำในสิ่งที่เป็นการสวนทางกับนโยบายที่หาเสียงไว้ 214 ข้อ ซึ่งนายชัชชาติคุยโวว่าได้ศึกษาปัญหากทม.มา 2 ปีแล้ว โดยเฉพาะนโยบายการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ที่อยู่ในข้อ 162 และนโยบายนำสายไฟฟ้าลงดิน ที่อยู่ในข้อ 101
ข่าวที่น่าสนใจ
โดยการแก้ปัญหาน้ำท่วม ทราบกันดีว่าในระยะนี้พื้นที่กทม.ได้มีฝนตกลงมาอย่างหนัก ทำให้เกิดน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ บางพื้นที่ไม่เคยท่วม ก็ท่วม การจราจรแทบจะเป็นอัมพาต แม้จะต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งเกิดจากพายุเข้าทำให้มีปริมาณฝนที่ตกลงมาอย่างหนัก และต้องให้ความเป็นธรรมว่านายชัชชาติเพิ่งเข้ามาทำงานไม่กี่เดือน คงจะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทันที แต่สังคมก็อดตั้งคำถามไม่ได้ เนื่องจากนายชัชชาติเองก็ได้หาเสียงไว้อย่างสวยหรูเช่น โครงสร้างดี ลอกท่อ-เลิกท่วม ,แจ้งเตือนฝนตกล่วงหน้าแม่นยำ ประกอบกับนายชัชชาติทราบดีอยู่แล้วว่างานด่วนลำดับแรกที่จะต้องทำคือ การรับมือปริมาณฝน เพราะเป็นช่วงฤดูฝน ซึ่งที่ผ่านนายชัชชาติได้ดำเนินการในเรื่องนี้อยู่บ้าง แต่สังคมก็มองว่าเป็นทำในลักษณะฉาบฉวย เช่น การนำผู้ต้องขังมาลอกท่อ ปัจจุบันก็มีเพียงจุดเดียวที่นำนักโทษมาลอกคือย่านตลาดห้วยขวาง ,ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ แต่เน้นหนักไปที่การไลฟ์สด และถ่ายรูปกับประชาชน ขณะที่การเข้มงวดจับปรับทิ้งขยะก็ยังไม่เห็นผลจริงจัง มีเพียงนายชัชชาติพายเรือเก็บขยะในแม่น้ำเจ้าพระยาเท่านั้น และที่ต้องอึ้งคือ นายชัชชาติได้บอกให้ประชาชนรีบกลับบ้าน หากน้ำท่วมก็ให้วิดน้ำออกจากบ้าน
ต่อมาเป็นนโยบายนำสายไฟฟ้าลงดิน ซึ่งถือเป็นปัญหาทัศนียภาพ ในกทม. ซึ่งประชาชนและคนกรุงหลายคนอยากเห็นการแก้ไขด้วยการนำทั้งหมดลงใต้ดิน และที่ผ่านมาได้ดำเนินการไปบางส่วนแล้ว แต่เวลานี้อาจต้องสะดุดลง แม้ก่อนหน้า กทม.จะประกาศเป็นนโยบายสำคัญ เพราะล่าสุดนายชัชชาติ สั่งทบทวนแผนธุรกิจโครงการนำสายสื่อสารลงดินวงเงินกว่า 1.9 หมื่นล้านบาท ของกรุงเทพธนาคม โดยอ้างเหตุค่าเช่าท่อสูง งานมีความซ้ำซ้อน ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการก่อสร้างท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินนำร่องเสร็จแล้ว เป็นระยะทาง 7.2 กิโลเมตร วงเงิน 140 ล้านบาท ประกอบด้วย
1.ถนนวิทยุ ช่วงถนนเพชรบุรี – แยกเพลินจิต – หน้าซอยร่มฤดี 2.ถนนรัชดาภิเษก ช่วงMRT ศูนย์วัฒนธรรมประตู 2 – หน้าซอยรัชดาภิเษก 7 3. ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ช่วงถนนสาทรเหนือ/ใต้ – ซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 10 ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างท่อร้อยสายสื่อสาร ในแนวถนนพระรามที่ 1 จากแยกปทุมวันถึงแยกราชประสงค์ ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร
ส่วนสายไฟฟ้าการไฟฟ้านครหลวง หรือ กฟน. นำสายไฟลงดินแล้ว 62 กิโลเมตร กำลังก่อสร้าง 174.1 กิโลเมตร และในปี 2565 คาดจะรื้อถอนเสาและสายไฟฟ้าได้ 12 กิโลเมตร และมีแผนขออนุมัติคณะรัฐมนตรี อีก 77.3 กิโลเมตร คาดแล้วเสร็จในปี 2570 เมื่อนำสายไฟฟ้าลงดินแล้ว กฟน.จะรื้อถอนเสาไฟฟ้าออก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง