ตามต่อเนื่องกับอนาคตรถไฟฟ้าสายสีเขียว หลังจากคาราคาซังมาตั้งแต่ปลายปี 2564 เมื่อการตัดสินใจทั้งหมดยังค้างอยู่ที่การประชุมคณะรัฐมนตรี และเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มาเป็น นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ดูเหมือนว่า กรณีนี้ดูเหมือนจะยิ่งซับซ้อนมากขึ้น ทั้ง ๆ ที่ รับปากว่าทุกอย่าง โดยเฉพาะมูลหนี้ค้างชำระกว่าแสนล้าน ทั้งในส่วนของรฟม. และ BTSC จะชัดเจนภายใน 1 เดือน
ขณะที่ในความเป็นจริงต้องย้ำว่า บทบาทการตัดสินใจ ฐานะผู้ว่าฯกทม.เป็นเพียงการนำเสนอความเห็นประกอบ เรื่อง “ร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว” ตามที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ในฐานะ รมว.มหาดไทย ได้มีข้อสรุปไปแล้ว จากข้อมูลการพิจารณาของคณะกรรมการ ที่แต่งตั้งขึ้นตามมาตรา 44 อันประกอบด้วย ปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน ปลัดกระทรวงการคลัง , ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา , เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ , อัยการสูงสุด , ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ และผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงินและด้านระบบรถไฟฟ้า ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งด้านละหนึ่งคนเป็นกรรมการ และปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นกรรมการและเลขานุการ
ไม่เท่านั้นที่ผ่านมา พล.อ.อนุพงษ์ ในฐานะรมว.มหาดไทย มีจุดยืนชัดเจนในเรื่องนี้มาโดยตลอด ในการตอบข้อซักถาม สภาผู้แทนราษฎร ถึง 2 ครั้ง ว่า ผลประโยชน์จากข้อสรุปของคณะกรรมการ ตามมาตรา 44 ในเรื่้องการลงทุนร่วมรัฐ-เอกชน เป็นประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ ไม่เฉพาะกับการแก้ปัญหาหนี้ค้างชำระสะสม แต่ผลประโยชน์ต่างตอบแทน ตลอดระยะเวลาการขยายสัมปทาน รถไฟฟ้าสายสีเขียวยังคุ้มค่าสูงสุด เนื่องจากภาครัฐ โดยเฉพาะกทม. และ รฟม. ไม่ต้องนำเงินงบประมาณ มาดำเนินการ แต่ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ จะเป็นภาระของภาคเอกชนในระยะยาว
ล่าสุด นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ตอบคำถามต่าง ๆ กับ TOP NEWS ในแต่ละประเด็นปัญหา ว่าทำไมถึงยังไม่มีความชัดเจนใด ๆ เกี่ยวกับการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว
เริ่มจากกรณีการจัดการกับหนี้สะสม โดยระบุว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว มีผู้เกี่ยวข้องด้วยกัน 3 ส่วน ประกอบด้วย กทม. , บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) เเละบริษัทเอกชนที่รับจ้างเดินรถ หรือ BTSC โดยส่วนต่อขยายที่ 1 หรือ อ่อนนุช-แบริ่ง และช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า มีสัญญาว่าจ้างเดินรถชัดเจน ระหว่าง กทม. และ KT รวมถึงผ่านการพิจารณาของสภากทม.แล้ว จากนั้น KT ได้นำสัญญาฉบับเดียวกันไปลงนามกับบริษัทเอกชน ทำให้ตัวเลขทั้งหมดผ่านการพิจาณา และการรับรู้ของสภากทม. ดังนั้น ในส่วนของภาระหนี้ที่เกิดขึ้น จึงจะต้องจ่ายตามสัญญา
พร้อมกันนี้ นายชัชชาติ ยอมรับว่า ปัจจุบันกทม. มีการหยุดจ่ายหนี้ให้แก่เอกชนไปแล้ว ด้วยความเข้าใจว่า สภาพหนี้ที่มีอยู่ ถูกนำไปคำนวณรวมกับข้อตกลง เรื่องการขยายสัมปทาน ถึงปี 2602 ซึ่งขณะนี้ประเด็นดังกล่าว อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี(ครม.) จึงเป็นที่มาของการหยุดจ่ายเงินให้แก่เอกชนชั่วคราว ดังนั้นการดำเนินการในส่วนนี้จะต้องรอครม. พิจารณาเสร็จก่อน
ขณะที่จากการตรวจสอบ เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2565 หรือ ภายหลังเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าฯกทม. นาย ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เคยระบุภายหลัง การประชุมร่วมกับบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด หรือ เคที ว่า กรุงเทพธนาคม หรือ KT รายงานการบริหารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว (ส่วนต่อขยาย) ที่ผ่านมา ว่า มีการนำรายได้ค่าบริการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายช่วงที่ 1 อ่อนนุช-แบริ่ง , ตากสิน-บางหว้า แบ่งชำระให้เอกชนเป็นบางส่วน จากมูลหนี้รวมกว่า 40,000 ล้านบาท แต่เนื่องจาก ส่วนต่อขยายช่วงที่ 2 หมอชิต-คูคต และแบริ่ง-สมุทรปรากร ให้บริการโดยไม่เก็บค่าโดยสาร จึงทำให้ยอดหนี้รวมมีมูลค่าสูง และมีผลกระทบต่อผู้ให้บริการขนส่งสาธารณะด้านล่าง โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์รับจ้าง คนใช้บริการลดลง
“อย่างไรก็ตามขออย่าเอาหนี้สินมาเป็นตัวเร่งรัดการตัดสินใจระยะยาว แม้ว่าจะมีดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นทุกวัน เพราะหากมีความจำเป็น กทม. ยังมีข้อบัญญัติในการกู้เงิน ที่จะนำมาชำระหนี้สินได้ โดยเป็นข้อบัญญัติที่ต้องผ่านสภา กทม. ก่อน ซึ่งการกู้เงินจากรัฐจะได้ดอกเบี้ยที่ถูกลงกว่าให้เอกชนเป็นผู้กู้ แต่จะต้องพิจารณารายละเอียดให้รอบคอบ
แต่ตามหลักการใครใช้ก็ต้องจ่าย ปัจจุบันคนกทม.ที่จ่ายค่ารถไฟฟ้า ต้องรับภาระหนี้ให้กับคนที่นั่งฟรีด้วย ดังนั้นอย่าเอาเรื่องหนี้มาเร่งรัดการต่อสัญญาระยะยาว เพราะการเปิดนั่งฟรี เอกชนก็ได้รับผลประโยชน์ เนื่องจากเป็นการนำผู้โดยสารมาป้อนให้กับเส้นทางไข่แดงตรงกลางด้วยเช่นกัน
และจริงๆ กทม.อยากคืนหนี้ให้ เพราะหนี้บางส่วนอยู่ที่ปากน้ำ อยู่ปทุมธานี วิ่งให้บริการในเขตปริมณฑลไม่มีปัญหาแต่ต้องดูความยุติธรรม เพราะรถไฟฟ้าสายอื่น เช่น สายสีเหลือง สายสีชมพู รัฐกู้จ่ายคืนค่าโครงสร้างพื้นฐานให้ผู้ประกอบการทำให้ต้นทุนไม่แพงมาก รวมถึงเชื่อว่า จะได้ข้อสรุปภายใน 1 เดือนตามที่เคยบอกไว้ เพราะ สิ่งที่ กทม. อยากทำมากที่สุด คือการเร่งคืนหนี้สินให้รัฐบาลให้เร็วที่สุด และอยากขอให้ กทม. มาดูแลเรื่องการเดินรถเอง เพราะถือเป็นสมบัติของเมือง ”