นายเพทาย วัฒนศิริ ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากกลุ่มผู้ถือหุ้นรายย่อยของ บมจ.ทรูฯ เปิดเผยว่า ตนได้รับมอบหมายให้ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่ง ขออนุญาตดำเนินคดีแบบกลุ่ม หรือ Class Action ยื่นฟ้องคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ จำนวน 5 คน ประกอบด้วย นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ , พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ ,นางพิรงรอง รามสูต , นายต่อพงศ์ เสลานนท์ นายศุภัช ศุภชลาศัย และนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล เลขาธิการสำนักงาน กสทช. รวมถึงสำนักงาน กสทช. เป็นจำเลยร่วมกันรวม 7 ราย ในข้อหาละเมิดจงใจปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามกฎหมาย และขอให้ชดใช้ค่าเสียหาย อันเนื่องมาจากการพิจารณารายงานการรวมธุรกิจของทรูกับดีแทค ที่มีมติรับแจ้งการรวมธุรกิจให้เป็นไปตามที่ประกาศ กสทช.กำหนดนั้น เป็นไปอย่างล่าช้าและไม่มีเหตุผลอันสมควร ซึ่งมีลักษณะจงใจปฏิบัติหน้าที่ให้ผู้ถือหุ้นบมจ.ทรูได้รับความเสียหาย หรือละเลยไม่คำนึงถึงประชาชนซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายย่อยที่จะได้รับประโยชน์จากการเสนอซื้อหุ้นของบริษัท ซิทริน โกลบอล จำกัด และ Citrine Venture SG Pte Ltd ตามขั้นตอนการควบรวมธุรกิจ ทำให้โจทก์และผู้ถือหุ้นรายย่อยของบมจ.ทรูฯได้รับความเสียหาย
โดยการยื่นฟ้องครั้งนี้ เป็นการดำเนินคดีแบบกลุ่ม เพื่อขอความคุ้มครองปกป้องผู้เสียหายจำนวนมากที่มีความเสียหายที่เหมือนกัน ซึ่งจะทำให้ผลของคำพิพากษามีผลผูกพันไปถึงผู้เสียหายทุกคนโดยอัตโนมัติ โดยผู้เสียหายไม่ต้องมาแยกกันฟ้องคดีเป็นหลายคดี ทั้งนี้ จากข้อมูลวันที่ 14 มี.ค.2565 มีจำนวนผู้ถือหุ้นรายย่อยของบมจ.ทรูฯ กว่า 80,000 ราย ถือครองหุ้นบมจ.ทรูฯ รวมกันอยู่เป็นจำนวนกว่า 30,000 ล้านหุ้น ซึ่งความล่าช้าของ กสทช. ในการมีมติรับทราบการรวมธุรกิจ จึงมีมูลค่าความเสียหายที่ประเมินได้รวมทั้งสิ้นกว่า 160,000 ล้านบาท ดังนั้นผู้ถือหุ้นอีกหลายหมื่นรายที่มีความเสียหายในลักษณะเช่นเดียวกับโจทก์และการฟ้องคดีแบบกลุ่มจะทำให้ผู้ถือหุ้นอีกหลายหมื่นรายได้การคุ้มครองเช่นเดียวกับโจทก์
ส่วนความล่าช้าของ กสทช. ที่เป็นมูลเหตุในการฟ้องคดีนั้น นายเพทาย กล่าวว่า ตามหลักเกณฑ์ในประกาศเรื่องการรวมธุรกิจ กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตหรือผู้มีอำนาจควบคุมของผู้ใบรับอนุญาตที่ประสงค์จะทำการรวมธุรกิจกับผู้รับใบอนุญาตรายอื่น ต้องรายงานต่อเลขาธิการ กสทช. ไม่น้อยกว่า 90 วัน ก่อนดำเนินการจดทะเบียนนิติบุคคลในกรณีที่การเข้าร่วมธุรกิจทำให้เกิดนิติบุคคลขึ้นใหม่ ซึ่งกรณีนี้บริษัททรูและบริษัทดีแทคได้ยื่นรายงานการรวมธุรกิจต่อ เลขาธิการ กสทช. ตั้งแต่วันที่ 25 ม.ค.2565 โดย เลขาธิการกสทช. ได้เสนอ รายงานการรวมธุรกิจฯ ต่อ กสทช. เมื่อวันที่ 10 พ.ค.2565 พร้อมความเห็นประกอบการรายงานการรวมธุรกิจจากที่ปรึกษาอิสระ แต่ปรากฏว่าจนถึงปัจจุบัน กสทช. ก็ยังไม่มีมติรับทราบการรวมธุรกิจ ของทรูกับดีแทค และหากกสทช.เห็นว่าควรกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะ ประกาศฯดังกล่าว ก็ได้ให้อำนาจ กสทช. ไว้ แต่ปรากฏว่านับตั้งแต่เลขาธิการ กสทช.ได้ยื่นรายงาน พร้อมความเห็นประกอบไปแล้วก็ล่วงเลยมาเป็นระยะเวลานานมากแล้วแต่ก็ยังไม่ได้มีความชัดเจนใด ๆ ซึ่งผู้ถือหุ้นของทรูที่จะได้รับประโยชน์จากการรวมกิจการดังกล่าว เห็นว่า ล่าช้าและไม่มีเหตุอันสมควร โดยที่ผ่านมามีผู้ได้รับใบอนุญาตทำการรวมธุรกิจ และกสทช.ก็ได้มีมติรับทราบนับตั้งแต่ ปี 2562 ถึง 2564 รวม 9 ราย
“เป็นอีกครั้งที่ประชาชนผู้เสียหายรวมกันฟ้องร้องดำเนินคดีกับภาครัฐ เพื่อส่งสัญญาณว่ากฎหมายไม่ได้กำหนดว่าการฟ้องคดีแบบกลุ่มจะทำได้กรณีระหว่างผู้เสียหายกับบริษัทเท่านั้น แต่หากหน่วยงานรัฐก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน ผู้เดือดร้อนเสียหายก็ย่อมสามารถใช้สิทธิฟ้องหน่วยงานรัฐเป็นคดี class action ได้เหมือนกัน ในการนี้หากผู้ถือหุ้นรายอื่นซึ่งถือหุ้นในบริษัททรู หากเห็นว่าตนเป็นผู้ได้รับความเสียหายจากการดำเนินการของ กสทช.ในกรณีนี้ สามารถเข้ามาร่วมเรียกร้องหรือดำเนินคดีในครั้งนี้ได้ โดยไม่จำเป็นต้องเข้ามาร่วมเป็นโจทก์ สามารถติดต่อได้ที่ เบอร์โทร 0960617563 เพื่อที่จะได้ดำเนินการรวบรวมรายชื่อกลุ่มผู้เสียหายเพื่อแจ้งต่อศาลต่อไป” นายเพทาย กล่าว