วันที่ 23 ส.ค. 65.-ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุม โดยนายกรัฐมนตรีมีสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใสปกติ พร้อมเดินทักทายและแซวครม.เหมือนเช่นทุกครั้ง ไม่ได้มีท่าทีเครียดแต่อย่างใด
นอกจากนี้ในช่วงวาระสภาผู้แทนราษฎร นายอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ประสานงานวิปรัฐบาล รายงานว่าวาระการประชุมสภามีเรื่องการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 ขณะที่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ในฐานะประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวว่า ขอให้แต่ละพรรคช่วยให้ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 ผ่านด้วย เพราะมีพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคชอบมีปัญหาเรื่ององค์ประชุมไม่ครบ ทั้งนี้ ต้องขอบคุณหัวหน้าพรรคพปชร.ที่คอยโทรศัพท์ติดตามลูกพรรค
โดยนายกฯ กล่าวว่า เรื่องสภาก็ขอความร่วมมือให้พรรคร่วมรัฐบาล รัฐมนตรีและส.ส.เข้าไปโหวตงบประมาณให้จบวันนี้ เพื่อเป็นไปตามไทม์ไลน์ที่วางไว้
จากนั้นนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตร ได้นำแสดงชาร์ท พาวเวอร์พอยต์ อธิบายให้ครม. ฟังถึงแนวทางการพิจารณา ข้อเท็จจริง และการพิจารณาประเด็นการตำรงตำแหน่งวาระ 8 ปี ของนายกรัฐมนตรีอย่างละเอียด โดยแนวทางการพิจารณา มีด้วยกัน 3 แนวทางประกอบด้วย 1.เริ่มนับจากการเป็นนายกฯครั้งแรกวันที่ 24 ส.ค.2557 ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 19 ฉบับ 2557 จึงครบ 8 ปี ในวันที่ 23 ส.ค. 2565 ส่วนแนวทางที่ 2 เริ่มนับจากการเป็นนายกฯครั้งที่ 2 วันที่ 9 มิ.ย. 2562 ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 158 ฉบับ 2560 จึงครบ 8 ปี วันที่ 8 มิ.ย. 2570 และแนวทางที่ 3 เริ่มนับจากวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ วันที่ 6 เม.ย. 2560 เพราะบทเฉพาะกาลมาตรา 264 ให้ครม.เก่า เริ่มเป็น ครม.ใหม่ ตามรัฐธรรมนูญใหม่ในวันนี้ จึงครบ 8 ปี ในวันที่ 5 เม.ย. 2568
นายวิษณุ ยังได้อธิบายต่อถึงข้อเท็จจริงที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญด้วยว่า วันที่ 24 ส.ค. 2557 แต่งตั้งนายกฯตามมาตรา 19 ของรัฐธรรมนูญฉบับ 2557 จากนั้นวันที่ 6 เม.ย. 2560 ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 บทเฉพาะกาลมาตรา 264 ให้ ครม.ตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2557 เริ่มเป็น ครม. ตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ในวันนี้ ต่อมาในวันที่ 23 มี.ค. 2562 เลือกตั้งทั่วไป และวันที่ 9 มิ.ย. 2562 แต่งตั้งนายกฯตามมาตรา 158 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ทั้งนี้ มาตรา 158 วรรค 1 แต่งตั้งนายกฯ วรรค 2 เลือกนายกฯในสภา วรรค 3 ประธานสภาผู้แทนราษฎรรับสนองพระบรมราชโองการ และ วรรค 4 นายกฯอยู่ได้เพียง 8 ปี
นายวิษณุ อธิบายขั้นตอนการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะมี 2 แนวทางคือ ไม่รับเรื่องและรับเรื่อง หากรับเรื่องศาลรัฐธรรมนูญ อาจส่งมายังรัฐบาลให้ชี้แจง และอาจสั่งให้นายกฯหยุดปฎิบัติหน้าที่ หรือไม่สั่งให้นายกฯหยุดปฎิบัติหน้าที่ หากศาลสั่งให้ นายกฯหยุดปฎิบัติหน้าที่ พล.อประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีจะทำหน้าที่รักษาการแทน และปฎิบัติหน้าที่ร่วมกับ ครม. รวมถึงพล.อ.ประยุทธ์ ยังปฎิบัติหน้าที่ในฐานะ รมว.กลาโหมได้ แต่หากศาลไม่สั่งให้นายกฯหยุดปฎิบัติหน้าที่ นายกฯและ ครม. จะสามารถปฎิบัติหน้าที่ต่อไปได้จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย ฉะนั้นขอให้ฝ่ายการเมืองและฝ่ายประจำปฎิบัติหน้าที่ไปตามปกติ เพราะการพิจารณาและวินิจฉัยของศาลจะไม่กระทบความสมบูรณ์ใดๆของการบริหารราชการ
ทั้งนี้ ภายหลังนายวิษณุ รายงานจบไม่มีรัฐมนตรีคนใดมีข้อซักถามในเรื่องดังกล่าว โดยนายกรัฐมนตรี กล่าวเพียงว่า “เรื่องของศาล ผมไม่เคยไปก้าวล่วงแล้วแต่คำวินิจฉัยของศาล ให้พวกเราทำหน้าที่อย่างเต็มที่”