ตามติดมานานหลายเดือน กรณีการก่อกำเนิดสภาองค์กรผู้บริโภค หลังจากเมื่อเดือน พ.ค. 2564 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ให้ความเห็นชอบจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น งบเงินอุดหนุน เป็นจำนวน 350 ล้านบาท ให้แก่สภาองค์กรของผู้บริโภค เพื่อเป็นทุนประเดิมเบื้องต้น ทั้งนี้เพื่อให้เป็นปตามพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562
ประเด็นสำคัญ เงินจำนวน 350 ล้านบาท ก็คืองบประมาณแผ่นดิน และทางสภาองค์กรผู้บริโภค โดย นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้นำรายชื่อองค์กรที่อ้างว่ามีการจดแจ้งสถานะความเป็นองค์กรผู้บริโภคต่อนายทะเบียนกลางและนายทะเบียนจังหวัดจากทั่วประเทศ จำนวน 152 องค์กร เข้ายื่นเรื่องต่อสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ขอเป็น ผู้เริ่มก่อการในการจัดตั้ง “สภาองค์กรผู้บริโภค ประเทศไทย ตาม พ.ร.บ. การจัดตั้งสภาองค์กรผู้บริโภค พ.ศ. 2562 ต่อผู้แทนสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานกิจการองค์กรของผู้บริโภค สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เพื่อพิจารณาตรวจสอบความถูกต้อง
จากนั้นได้มีผู้ออกมาทักท้วง เรื่องความถูกต้องขององค์กรร่วมจัดตั้งสภาองค์กรผู้บริโภค โดยเมื่อวันที่ 12 ต.ค.2563 นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ยื่นคำร้องต่อสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี หรือ สปน. ให้ดำเนินการตรวจสอบ 151 องค์กรผู้บริโภค ที่มาแจ้งขอจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคเมื่อวันที่ 8 ต.ค. 2563 ว่ามีความถูกต้องตามกฎเกณฑ์ กฎหมายกำหนดหรือไม่
โดยครั้งนั้น นายศรีสุวรรณ ตั้งข้อสังเกตุถึงช่วงเวลาดำเนินการจัดตั้ง หรือ ก่อตั้งองค์กรผู้บริโภค ว่าค่อนข้างไม่ปกติ ขณะที่การจะใช้สิทธิเข้าชื่อกัน แจ้งต่อทะเบียนกลางเพื่อเป็นผู้เริ่มก่อการในการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคได้นั้น องค์กรผู้บริโภคนั้นๆ จะต้องดำเนินการคุ้มครองผู้บริโภค “เป็นที่ประจักษ์” มาแล้ว ไม่น้อยกว่า 2 ปีตามที่กฎหมายกำหนด
แต่ปรากฎว่ามีตัวแทนเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค รวมตัวไปยื่นต่อนายทะเบียนกลาง เพื่อขอเป็นผู้เริ่มก่อการในการจัดตั้งสภาองค์กรผู้บริโภค กับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในเวลาอันรวดเร็ว จึงเป็นที่สงสัยว่าองค์กรผู้บริโภคต่างๆ เหล่านั้น ได้ดำเนินการหรือมีผลงานในการคุ้มครองผู้บริโภคมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี หรือไม่ อย่างไร เพราะถ้าองค์กรต่างๆ เหล่านั้นมีผลงานเป็นที่ประจักษ์จริงกันทุกองค์กร คงไม่มีปัญหาผู้บริโภคถูกเอารัดเอาเปรียบอย่างแพร่หลายในขณะนี้ไ ด้ และอาจจะไม่จำเป็นที่จะต้องมีสภาองค์กรผู้บริโภคก็ยังได้ เว้นแต่มีความพยายามที่จะจัดตั้งองค์กรผู้บริโภคขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์บางอย่าง
รวมถึงเมื่อมีการประกาศจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคได้แล้ว กฎหมายกำหนดให้รัฐบาลต้องจัดสรรเงินจากภาษีประชาชน มาอุดหนุนไว้ที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อเป็นทุนประเดิมให้แก่สภาองค์กรของผู้บริโภคที่จัดตั้งขึ้นเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 350 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายเบื้องต้นในการดำเนินการและให้เกิดการรวมตัวกันขององค์กรของผู้บริโภค อย่างทั่วถึง หลังจากนั้นจึงจะเข้าสู่การจัดทำแผนงบประมาณภาครัฐสนับสนุนในแต่ละปีต่อไป
ซึ่งนายศรีสุวรรณ ตั้งคำถามว่านี่อาจเป็นเหตุผลในความพยายามจัดตั้งสภาองค์กรผู้บริโภคขึ้นมา โดยการระดมสรรพกำลังโดยใช้เงินภาษีบาป(ภาษีเหล้า-บุหรี่) ไปใช้ในการจัดตั้งเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศขึ้นมา เพื่อตอบสนองความต้องการดังกล่าวหรือไม่ เพราะสุดท้ายผู้เป็นแกนนำอาจจะได้อานิสงค์ถูกเลือกเป็นประธานสภาฯ เป็นกรรมการสภาฯ ซึ่งสามารถใช้เงินภาษีของประชาชนได้อย่างเต็มที่
ทั้งนี้ต้องย้ำว่า ตามพ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค 2562 ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า สภาองค์กรของผู้บริโภค ต้องมีการรวมตัว องค์กรเครือข่าย อย่างน้อย 150 องค์กรขึ้นไป โดยมีหลัก การสำคัญคือต้องเป็นอิสระ ไม่ได้รับเงินจากหน่วยงานรัฐหรือองค์กรใด , รวมตัวกัน โดยมีวัตถุประสงค์ในการขับเคลื่อนงานคุ้มครองผู้บริโภค ผลงาน หลักฐาน เป็นที่ประจักษ์มาแล้วอย่างน้อย 2 ปี และมีการขออนุญาตจดแจ้งกับนายทะเบียนจะส่วนกลาง หรือนายทะเบียนประจำจังหวัดก็ได้ และเมื่อได้รายชื่อครบแล้ว จึงจะสามารถรวมตัวกันยื่นจดแจ้งต่อ สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อตั้งเป็น สภาองค์กรของผู้บริโภค ซึ่งจุดนี้ทำให้เกิดข้อสงสัยเรื่องเงื่อนเวลาที่ไม่สัมพันธ์ กับการจัดหารายชื่่อองค์กรของผู้บริโภคมารวมตัวกัน และนำมาสู่การร้องเรียนให้ดำเนินการตรวจสอบเพื่อความถูกต้อง
ขณะที่ “เครือข่ายสื่อมวลชนปกป้องผลประโยชน์ชาติ” นำโดย นายชัชวาลย์ คำไท้ ประธานเครือข่าย ได้นำข้อมูลหลักฐานบางส่วน เกี่ยวกับความไม่ชอบมาพากล เกี่ยวกับการจัดตั้ง เครือข่ายองค์กรคุ้มครองผู้บริโภค ในระดับท้องถิ่น มาส่งมอบให้กับนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ดำเนินการขยายผลตรวจสอบ เนื่องจากพบมีการแจ้งข้อมูลเท็จ เพื่อนำไปใช้ดำเนินการจดแจ้งจัดตั้งองค์กรคุ้มครองผู้บริโภค ต่อนายทะเบียนจังหวัด ก่อนที่แกนนำเครือข่ายจะองค์กรเหล่านี้มารวมตัวเป็น 151 องค์กร แล้วยื่นจัดตั้ง สภาองค์กรของผู้บริโภค โดยเฉพาะข้อมูลเรื่องเครือข่ายองค์กรบางแห่งไม่ได้ดำเนินการจดแจ้งให้ถูกต้องกฎหมาย