วันที่ 28 สิงหาคม น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เนื่องจากขณะนี้ยังอยู่ในช่วงฤดูฝน ซึ่งเป็นฤดูกาลที่มีโรคหลายชนิดที่ต้องเฝ้าระวัง โดยเฉพาะโรคไข้เลือดออก ที่ล่าสุดกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขได้รายงานพบผู้ป่วยทั่วประเทศเพิ่มขึ้น โดยตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 10 ส.ค. 2565 พบผู้ป่วยไข้เลือดออกจำนวน 16,276 ราย เสียชีวิตแล้ว 14 ราย โดยผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอายุ 35 ปีขึ้นไป สอดคล้องกับแนวโน้มที่ผู้ป่วยเป็นกลุ่มผู้ใหญ่มากขึ้น
เตือนภัย "ไข้เลือดออก" แนวโน้มระบาดในผู้ใหญ่มากขึ้น
ข่าวที่น่าสนใจ
ดังนี้ จึงขอให้ประชาชนสังเกตอาการของบุตรหลาน คนในครอบครัว หากมีลักษณะอาการไข้สูงเฉียบพลัน และสูงลอยร่วมกับ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว อาจมีจุดแดงเล็กๆ ขึ้นตามลำตัว แขน ขา คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง และเบื่ออาหาร โดยหากอาการไข้สูงเกิน 2 วัน เช็ดตัวหรือทานยาแล้วไข้ไม่ลดลงให้รีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ทันที เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษา ลดโอกาสการเสียชีวิต
นอกจากนี้ ควรกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายรอบบ้าน โรงเรียน และชุมชน เช่นใช้ทรายกำจัดลูกน้ำบริเวณน้ำขัง หรือทำลายภาชนะที่มีน้ำขัง ปิดฝาถังขยะให้มิดชิด ทิ้งขยะประเภทภาชนะใส่อาหารลงในถังขยะที่มีฝาปิด เพื่อไม่เป็นการเพิ่มแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ทางด้านสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ ก็ได้มีคำเตือนขอให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง รวมถึงครูผู้ดูแลเด็กเล็กในโรงเรียนอนุบาล สถานรับเลี้ยงเด็ก เพิ่มความระมัดระวังการเกิดโรคมือ เท้า ปาก เนื่องจากโรคนี้แม้จะเกิดขึ้นตลอดปีแต่จะเพิ่มขึ้นมากในช่วงฤดูฝน
โดยต้องเฝ้าระวังเด็กเล็กโดยเฉพาะกลุ่มต่ำกว่า 5 ขวบ ทั้งในเรื่องของของความสะอาด การคัดกรอง และสังเกตอาการ ซึ่งผู้ป่วยจะมีไข้ อ่อนเพลีย เจ็บปาก กลืนน้ำลายลำบากเนื่องจากมีตุ่มแดงที่ลิ้น เหงือก และกระพุ้งแก้ม มีตุ่มพองใสแดงที่ฝ่ามือ นิ้วมือ ฝ่าเท้า โดยส่วนใหญ่อาการในเด็กมักไม่รุนแรงและหายได้เอง แต่ก็ต้องมีการดูแลใกล้ชิด โดยเฉพาะหากเป็นกรณีไข้สูง ไม่ยอมทานอาหารหรือดื่มน้ำ อาเจียนบ่อย หอบ แขนขาอ่อนแรง ชัก ต้องรีบพบแพทย์ เพราะอาจเกิดภาวะสมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หรือน้ำท่วมปอด ซึ่งรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
อย่างไรก็ตาม แนวทางปฏิบัติเพื่อป้องกันโควิด19 สามารถป้องกันโรคมือ เท้า ปาก ในเด็กได้ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น การสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกนอกบ้าน การล้างมือด้วยสบู่บ่อยๆ โดยเฉพาะหลังการสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย หรือภายหลังการขับถ่าย หรือเปลี่ยนผ้าอ้อม หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกัน เป็นต้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง