น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองพยานในคดีอาญา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565 โดยให้มีผล เมื่อพ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา (28สิงหาคม2565)เป็นต้นไปนั้น เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้จะส่งผลให้พยาน สามี ภริยา ผู้บุพการี ผู้สืบสันดานของพยาน หรือบุคคลอื่นที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพยาน ซึ่งอยู่ในมาตรการคุ้มครองพยานตามกฎหมายมีความปลอดภัยในชีวิต ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ชื่อเสียง ทรัพย์สิน หรือได้รับสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใด รวมทั้งเพื่อให้การคุ้มครองพยานดำเนินการ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“ทิพานัน”เผยผลสำเร็จรัฐบาลปรับปรุงกฎหมายคุ้มครองพยานในคดีอาญา สร้างความเชื่อมั่นกระบวนการยุติธรรมมีประสิทธิภาพ แก้ปัญหา “จับแพะ”
ข่าวที่น่าสนใจ
น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า ถือเป็นผลสำเร็จจากนโยบายรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ได้ให้ความสำคัญกับภารกิจการคุ้มครองพยานในคดีอาญา สร้างความเชื่อมั่นต่อกระบวนการคุ้มครองพยานเพื่อให้ศาลได้ใช้ดุลพินิจในการพิจารณาคดีได้อย่างถูกต้องและเป็นธรรม ทั้งนี้กระทรวงยุติธรรมโดย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองพยาน ที่ได้มีการปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้มีมาตรการคุ้มครองพยาน ให้ได้รับความปลอดภัยอย่างมีประสิทธิภาพ การจ่ายค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายแก่พยานที่มาทำหน้าที่เป็นพยานในคดีอาญา สอดคล้องกับสภาพสังคมและเศรษฐกิจในปัจจุบัน เพื่อไม่เป็นภาระแก่พยาน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อรูปคดี และกระบวนการยุติธรรม ทำให้เกิดความเชื่อมั่นและกล้าที่จะเป็นพยานในคดีต่างๆ มากขึ้น
“การสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการคุ้มครองพยาน เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาด หรือบกพร่องในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งหวังว่าจะช่วยขจัดปัญหาจับแพะในคดีอาญา ที่ทำให้ผู้บริสุทธิ์ต้องสูญเสียอิสรภาพ กระทั่งสูญเสียชีวิตในประเทศไทยให้หมดไป” น.ส.ทิพานัน กล่าว
น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า สาระสำคัญของ พระราชบัญญัติคุ้มครองพยานในคดีอาญา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565 คือ กำหนดให้มีการคุ้มครองบุคคลที่จะมาเป็นพยานในคดีอาญาให้มีความหมายกว้างขึ้นและให้สอดคล้องกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กำหนดให้มีการประเมินพฤติการณ์ความไม่ปลอดภัย ก่อนการอนุมัติขยายระยะเวลาการคุ้มครองและการสิ้นสุดการคุ้มครองพยาน เพิ่มเติมคดีความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย คดีความผิดเกี่ยวกับเพศ หรือคดีพรากเด็กและผู้เยาว์ ตามประมวลกฎหมายอาญาให้สามารถใช้มาตรการพิเศษในการคุ้มครองพยานได้ การจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้แก่พยาน สามี ภริยา ผู้บุพการี หรือบุคคลอื่นที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดให้สอดคล้องกับระยะเวลาที่คุ้มครองจริง กำหนดหลักเกณฑ์และการจ่ายค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายแก่พยานที่เดินทางมาเป็นพยาน เป็นต้น
อนึ่ง กระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้พยายามปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองพยานในคดีอาญาพ.ศ.2546 มาตั้งแต่ปี 2564 เนื่องจากที่ผ่านมา การบังคับใช้พ.ร.บ.คุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ. 2546 พบว่ามีบทบัญญัติบางมาตราไม่สอดคล้องกับการปฏิบัติงาน สภาพเศรษฐกิจ ภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นกับพยาน รวมทั้งยังไม่มีบทบัญญัติที่ให้อำนาจการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสการกระทำความผิด บทบัญญัติเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของพนักงานเข้าหน้าที่ในการปฏิบัติงานตามพระราชบัญญัติคุ้มครองพยานในคดีอาญา น.ส. ทิพานัน กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง