สืบเนื่องจากการที่กลุ่มพลเมืองเพื่อเสรีภาพในการสื่อสาร และภาคีเครือข่ายภาคประชาชน นำโดย นายพรหมศร วีระธรรมจารี นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ในฐานะแนวร่วมคณะราษฎร พร้อมด้วย นางสาวปาณิสรา ตุงคะสามน เจ้าหน้าที่ฝ่ายนโยบายและนวัตกรรม สภาองค์กรของผู้บริโภค ซึ่งก่อนหน้าเคยไปยื่นหนังสือกับ เอกอัครราชทูตนอร์เวย์ประจำ ประเทศไทย ในการแสดงความเห็นคัดค้านแผนการรวมธุรกิจดังกล่าว โดยอ้างว่าจะทำให้เหลือผู้ให้บริการกิจการโทรคมนาคมน้อยลง เพียงสองหลักราย และจะมีผลกระทบต่อผู้บริโภค ทั้งในแง่การพัฒนาคุณภาพบริการและการกำหนดราคา
ล่าสุดเดินทางไปยื่นหนังสือเพิ่มเติมต่อ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม หรือ กสทช. เพื่อขอให้พิจารณาการควบรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC ย่างถูกต้องและเป็นธรรม โดยมี นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ กสทช. รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. เป็นผู้รับหนังสือ
ทั้งนี้ช่วงหนึ่งของการสัมภาษณ์ นายพรหมศร ระบุว่า การพัฒนาที่จะตามมาจากการแข่งขัน โดยเฉพาะผู้บริโภค DTAC ซึ่งไม่ได้มีสัญญาณ 5 จี แล้วเกิดปัญหา หาก DTAC ปิดกิจการลง ก็ยังมีอีก 2 บริษัท ที่สร้างความบาลานซ์ในการแข่งขันในการเป็นคู่แข่งในตลาด แต่หากไม่สามารถแข่งขันได้ ถ้าบริษัทจะหยุดให้บริการก็ถือเป็นเรื่องปกติ
และเมื่อถามว่าหากมีการควบรวมกิจการ แล้วการแข่งขันในตลาดก็จะเหลือเพียง 2 รายใหญ่ เหมือนกัน นายพรหมศร ระบุว่า ตนเองยอมรับได้กับการแข่งขันทางการตลาดมากกว่าการกินรวบ เพราะจะทำให้ไม่ทราบรายละเอียดในฐานะผู้บริโภค ดังนั้น ในกรณีของการกินรวบที่เกิดขึ้น จำเป็นที่จะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ว่า กสทช.จะมีแนวทางการจัดการในเรื่องนี้อย่างไร เพื่อสร้างความสบายใจให้แก่ผู้บริโภค รวมถึงจะมีการพัฒนาระบบต่างๆให้สามารถทัดเทียมกับต่างประเทศได้หรือไม่
โดยเฉพาะมาตรการควบคุมของกสทช. เพราะส่วนตัวไม่ทราบได้ว่า ในการแข่งขันที่น้อยลง การแข่งขันด้านราคาที่น้อยลง เหลือ 2 บริษัท จะมีปัญหาอะไรบ้าง ทางกลุ่มจะได้ไม่ต้องวิตกกังวล ในเรื่องราคาค่าบริการ รวมถึงการแข่งขันทางโปรโมชั่น เช่นเดียวกับหลักการตลาดทั่วไป ที่ต้องลดราคาเพื่อให้ผู้บริโภคสนับสนุนสินค้า
ขณะเดียวกันหาก กสทช. มีมติให้ทั้ง 2 บริษัท สามารถควบรวมกิจการกันได้ นายพรหมศร ระบุว่า ทางกลุ่มของตนจะมีการเดินหน้าคัดค้านต่อแน่นอน เพราะหากมีการกินรวบ หรือควบรวมกิจการ เพราะสิ่งสำคัญตนเองต้องการปกป้องผู้บริโภค และทำให้ผู้บริโภครับรู้ว่าราคาค่าบริการจะปรับตัวสูงสุดที่เท่าไหร่ และมีอัตราต่ำสุดที่เท่าไหร่
รวมถึงเครือข่ายการใช้งานจะดีขึ้นหรือไม่ โดยทั้ง ทรู และดีเเทค จะต้องออกมาชี้แจงให้ผู้บริโภคได้รับทราบ ถึงแนวทางการสร้างความเป็นธรรมให้แก่ผู้บริโภค ไม่เช่นนั้นจะมั่นใจได้เช่นไรว่า หลังการควบรวมคุณภาพของเครือข่ายจะดีขึ้นหรือไม่ รวมถึงในส่วนของราคา ที่กสทช. ในฐานะองค์กรอิสระ จะต้องยืนยันว่าผู้บริโภคจะได้รับผลลัพธ์ที่เป็นธรรมและถูกต้องทุกฝ่าย
ส่วนกรณีที่ออกมาเคลื่อนไหวในครั้งนี้ มีการขอคำแนะนำจาก นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการ สภาองค์กรของผู้บริโภค หรือไม่ นายพรหมศร ยอมรับว่า ได้มีการพูดคุยหารือร่วมกับสภาฯ องค์กรผู้บริโภค เนื่องจากตนเองไม่ได้มีข้อมูลที่ชัดเจน ข้อมูลที่ได้รับรวมถึงผลการศึกษาก็มาจากสภาฯ องค์กรผู้บริโภค และถ้าสังเกตจะเห็นได้ว่าก่อนหน้านี้ที่ตนเองไปยื่นหนังสือที่สถานทูตฯ ก็มีทั้ง สภาฯ องค์กรผู้บริโภค รวมถึง ส.ส. จากพรรคเพื่อไทยไปด้วย และหลังจากนี้จะมีความร่วมมือกับสภาองค์กรผู้บริโภคกันอย่างชัดเจนมากขึ้น