“วัดไชโย วรวิหาร” วัดหลวงเก่าแก่ ที่สันนิษฐานว่า สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา กระทั่งต่อมาในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างพระอุโบสถขึ้น และในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ ช่างหลวงในวาดภาพบอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ไว้บนผนัง
ภาพวาดดังกล่าวบอกเล่าเรื่องราว ย้อนกลับไปเมื่อ 127 ปีก่อน ด้วยฝีมืออันปราณีตของช่างหลวง ซึ่งจากภาพถ่ายเมื่อปี พ.ศ.2534 ยังคงสภาพที่สมบูรณ์
กระทั่งปัจจุบัน ปี พ.ศ. 2565 ผ่านมานานกว่า 31 ปี ภาพวาดเริ่มชำรุดเสียหายไปตามกาลเวลา ล่าสุด ครูอะไหล่ “ชวัส จำปาแสน” หัวหน้าทีม Street Art King Bhumibol ได้รับเกียรติจาก ดร.นฎาประไพ สุจริตกุล ในการเข้าร่วมเป็นคณะทำงานบูรณะสังขรณ์ภาพวาดบนผนังในอุโบสถวัดไชโย ให้กลับมาสวยงามสมบูรณ์แบบ
– วัดเก่าแก่ สร้างในสมัย รัชกาลที่ 4 –
“วัดไชโย วรวิหาร” ตั้งอยู่ที่ อ.ไชโย จ.อ่างทอง เดิมเป็นวัดราษฎร์เก่าแก่ ที่สันนิษฐานว่า สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีนามว่า วัดไชโย ครั้นเมื่อสมเด็จพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เจ้าอาวาสวัดระฆังโฆษิตารามได้เลือกวัดนี้เป็นที่สร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ตั้งอยู่กลางแจ้ง กล่าวว่าการก่อสร้างพระพุทธรูปนี้ใช้เวลานานเกือบ 3 ปี ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 จึงแล้วเสร็จ จากนั้นสมเด็จพุฒาจารย์ได้ถวายวัดไชโยเป็นวัดหลวง ได้รับพระราชทานนามว่า “วัดเกษไชโย”
ใน พ.ศ.2430 มีการปฏิสังขรณ์วัดเกษไชโยทั้งพระอาราม ทำให้พระพุทธรูปได้รับแรงกระเทือนจากการก่อสร้างพระวิหารก็พังทลายลง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระพุทธรูปขึ้นใหม่ทดแทนโดยโปรดเกล้าฯ ให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐ์วรการเป็นแม่กองช่าง โดยรื้อองค์พระเดิมออกหมด วางรากฐานก่อสร้างใหม่ใช้โครงเหล็กรัดอิฐปูนไว้ภายในลดขนาดจากองค์เดิมลงพระพุทธรูปองค์นี้ได้รับพระราชทานนาม “พระมหาพุทธพิมพ์” ขนาดหน้าตักกว้าง 8 วา 6 นิ้ว สูง 11 วา ศอก 7 นิ้ว และโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะวัดไชโยให้เป็นพระอารามหลวง นอกจากนี้ยังมีการก่อ พระวิหาร สร้างพระอุโบสถเป็นมุขลดยื่นออกมาทางด้านหน้า มีศาลาราย กำแพงแก้ว ศาลาการเปรียญ กุฏิสงฆ์ หอสวดมนต์ หอระฆัง ศาลารายกลางวัด ศาลาท่าน้ำ รวมเวลาการปฏิสังขรณ์นานถึง 8 ปี
พระวิหาร มีความสูงใหญ่มากแห่งหนึ่ง รูปทรงแปลกตา ด้านนอกมีรูปทวารบาลลายรดน้ำ เป็นรูปเสี้ยวกวาง เสาหารด้านหน้า-หลังพระวิหารมีขนาดใหญ่โตมาก ภายในพระอุโบสถ พระประธานเป็นพระพุทธรูปปั้นปางสมาธิ ผนังทุกด้านมีภาพจิตรกรรมฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นเรื่องพุทธประวัติ ภาพเหล่าทวยเทพที่วิจิตรงดงาม ยังอยู่ในสภาพที่ดี บานประตูแกะสลักอย่างประณีต