แพทย์เตือน ป่วยเป็น "อีสุกอีใส" ห้ามกินแอสไพริน เสี่ยงอาการแทรกซ้อนรุนแรงถึงชีวิต
ข่าวที่น่าสนใจ
นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า โรคอีสุกอีใส เกิดจากเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า ไวรัสวาริเซลลา (varicella virus) เป็นเชื้อไวรัสชนิดเดียวกับที่ทำให้เกิดงูสวัด
อาการของโรคอีสุก อีใส
- มีไข้ ปวดเมื่อยตามเนื้อตัวคล้ายไข้หวัด
- ผื่นตุ่มน้ำใสที่ผิวหนัง
- ไข้จะสูงหรือน้อย และตุ่มจะมีจำนวนมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับอายุ
- โดยเด็กจะมีเพียงไข้ต่ำ ๆ และมีตุ่มจำนวนน้อย
- ขณะที่เด็กโตและผู้ใหญ่ มักมีไข้สูงและตุ่มจำนวนมาก
ผื่นในโรคอีสุก อีใสมีลักษณะเฉพาะ คือ ผื่นจะเริ่มจากตุ่มแดง กลายเป็นตุ่มใส และแตกออก เป็นสะเก็ด เมื่อผื่นขึ้นแล้ว 2-3 วัน จะเห็นตุ่มหลายชนิดในเวลาเดียวกัน ส่วนใหญ่ผื่นจะขึ้นที่ลำตัวและใบหน้ามากกว่าแขนขา
“เด็กที่ป่วยจะมีอาการไม่รุนแรง และพบภาวะแทรกซ้อนทางปอดและทางสมองได้น้อยกว่าผู้ป่วยเด็กโตอายุมากกว่าหรือเท่ากับ 13 ปี และผู้ใหญ่”
อย่างไรก็ตาม โรคอีสุกอีกใสสามารถแพร่กระจายไปยังผู้อื่นได้ง่ายมาก เพราะ เชื้ออยู่ในอากาศได้เป็นเวลานานและผู้ป่วยสามารถแพร่กระจายเชื้อไปยังคนอื่นได้หลายวัน ตั้งแต่ 1-2 วัน ก่อนมีไข้และผื่น จนถึงเมื่อตุ่มสุดท้ายตกสะเก็ด หรือประมาณ 7 วัน หลังจากผู้ป่วยเริ่มมีอาการ
ด้าน นพ.อดิศัย ภัตตาตั้ง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า โรคอีสุก อีใสเป็นโรคที่หายเองได้ อาจจะมีไข้เพียงไม่กี่วัน ส่วนตุ่มจะตกสะเก็ดและค่อย ๆ หายใน 1-3 สัปดาห์ ผู้ป่วยจึงควรพักผ่อนให้เพียงพอ และดื่มน้ำมาก ๆ ถ้ามีไข้สูงใช้ยา เพื่อลดไข้ได้
ทั้งนี้ ไม่ควรใช้แอสไพริน เพราะ อาจทำให้เกิดอาการทางสมองและตับ ทำให้ถึงตายได้ ควรอาบน้ำและใช้สบู่ฟอกผิวหนังให้สะอาด ควรตัดเล็บให้สั้นและหลีกเลี่ยงการแกะเกา เพราะ อาจทำให้ติดเชื้อได้ ในรายที่คันมาก ๆ อาจให้ยาแก้คันช่วยลดอาการคัน
สำหรับการป้องกันโรคอีสุกอีใสเป็นเรื่องยาก เพราะ ผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อไวรัสให้ผู้อื่นได้ตั้งแต่ช่วงออกอาการไข้ไปจนถึงช่วงแผลแห้งตกสะเก็ด ดังนั้น ทางป้องกัน คือ ถ้าบุตรหลานป่วยต้องงดไปโรงเรียน ป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อให้คนอื่น และการฉีดวัคซีน ซึ่งเป็นวัคซีนทางเลือกสำหรับเด็ก 1 ปีขึ้นไป
ข้อมูล : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง