รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต และคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า ในช่วง 3 เดือนนี้ คือ เดือนกันยายน , ตุลาคม และพฤศจิกายน ประเทศไทยจะมีปริมาณฝนตกหนักมากขึ้น และระยะเวลายาวขึ้น ซึ่งไม่รู้ว่าพายุจะเข้าช่วงไหน จากที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าพายุปีนี้อาจเข้าไทย 2-3 ลูก อาจจะมีโอกาสเป็นฝนในรอบ100 ปี เพราะดูจากสถานการณ์ฝนที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ เป็นฝนรอบ 80 ปี ซึ่งกรุงเทพฯสมัย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง เป็นผู้ว่าฯ กทม. เคยมีฝนตกรอบ100 ปี และปัจจุบันโอกาสจะเกิดฝนตกหนักเช่นนั้นก็มีมาก ดูจากสถานการณ์ฝนปีนี้ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ ดังนั้นสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่เหมือนปี 2554 มีโอกาสเป็นไปได้สูง เพราะปริมาณน้ำฝนเท่ากัน
อ.เสรี เผยช่วงเดือน 3 เดือนนี้ กันยายน ตุลาคม พฤศจิกายน ประเทศไทยจะมีฝนตกหนักมีโอกาสเป็นฝน 100 ปี เสี่ยงน้ำท่วมใหญ่เหมือนปี 54 จี้รัฐบาล-ชัชชาติ ชี้แจงข้อมูลให้ประชาชนทราบพร้อมเปิดแผนรับมืออย่ากลัวว่าจะตื่นตระหนก
ข่าวที่น่าสนใจ
อย่างไรก็ตาม ลักษณะการท่วมแตกต่างจากปี 2554 ที่มาเร็วจากน้ำหลาก และการระบายน้ำออกจากเขื่อนใหญ่ ซึ่งปีนี้จะมาจากน้ำฝน แนวพายุเข้าที่อาจจะเลื่อนมาภาคกลาง ทำให้น้ำเต็มทุ่งจนล้นเข้ามาท่วมพื้นที่เศรษฐกิจ เขื่อนป่าสักฯน้ำเต็มเขื่อน ระบายน้ำลงมาฝั่งตะวันออก หากน้ำเอ่อล้นมาถึงคลองรังสิต และส่วนทางฝั่งตะวันตก
“น้ำล้นคลองพระยาบรรลือเมื่อไรให้คนกรุงเทพฯ เตรียมป้องกันตัวเองก่อน เพราะพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล พื้นที่หน่วงน้ำมีน้อย ภาครัฐอาจต้องทำความเข้าใจล่วงหน้ากันว่ามีพื้นที่ถูกท่วมสูงประมาณ 1 เมตร ทั้งนี้ในส่วนรัฐบาลเองขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลที่จะชี้แจงต่อประชาชนอย่างชัดเจนว่ารับมืออย่างไร มีเพียง 13 มาตรการตามเดิมที่ป้องกันอะไรไม่ได้ เช่น ปี2564 น้ำท่วม จ.พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี ปทุมธานี ประชาชนก็เกิดความขัดแย้ง ประท้วงปิดถนน ไม่ต้องการให้ระบายน้ำเข้าพื้นที่และให้เร่งระบายออก เพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ลงไปทำความเข้าใจก่อนเกิดเหตุ” รศ.ดร.เสรี กล่าว
รศ.ดร.เสรี กล่าวว่า ปีนี้มีเหตุการณ์ 3 ปัจจัยหลัก คือ เดือนกันยายน ตุลาคม และพฤศจิกายน ฝนตกหนักมากจริงๆและยาวนาน อีกทั้งพายุที่จะเข้าไม่ทราบว่าจะเข้าช่วงไหน อาจจะรู้ล่วงหน้าได้ประมาณ 10 วัน และปริมาณฝนตกเท่าไร รวมทั้งพื้นที่ทุ่งลุ่มเจ้าพระยา รับน้ำใช้เป็นพื้นที่หน่วงน้ำ ชาวนาจะเก็บเกี่ยวข้าวได้หมดภายใน 15 วันนี้หรือไม่ ถ้าต้องผันน้ำเข้าทุ่งความเสียหายจะเกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหน เป็นสิ่งสำคัญที่รัฐบาลต้องทำฉากทัศน์จำลองเหตุการณ์ไว้ล่วงหน้าหลายๆแบบ แล้วนำข้อมูลออกมาบอกให้ประชาชนเข้าใจจะได้ไม่เกิดกรณีประท้วง ไปปิดประตูระบายน้ำ
“สำหรับนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. จะต้องชี้แจงข้อมูล เปิดเผยแผนการรับมือต่างๆให้คนกรุงเทพฯรับทราบและเกิดความเข้าใจถึงสถานการณ์ฝนที่จะตกหนักมากขึ้นต่อเนื่องจากนี้เพื่อให้เตรียมป้องกันตนเองก่อน รัฐบาลด้วยอย่ารอใช้แต่มาตรการเยียวยาช่วยเหลือเพราะการป้องกันย่อมดีกว่าปล่อยให้ประชาชนทะเลาะกันเอง อย่ากลัวว่าจะตื่นตระหนก ซึ่งคนที่ตื่นตระหนกคือคนที่รอดเพราะทุกคนล้วนเคยมีประสบการณ์จากปี 54มาแล้ว” รศ.ดร.เสรี กล่าว
รศ.ดร.เสรี กล่าวว่า องค์กรนานาชาติด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของโลก ได้ทำแผนที่พื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล พบว่า จะจมหายไปจากแผนที่โลกในปี ค.ศ.2100 แบบ 100% เพราะระดับน้ำทะเลสูงขึ้นจากภาวะโลกร้อน ขณะนี้ได้ขึ้นรหัสโค้ชเรด เตือนประเทศไทยแล้ว ถ้ารัฐบาลยังไม่ตัดสินใจทำอะไรป้องกันก็ต้องเตรียมย้ายเมืองหลวงได้เลย เพราะหากตัดสินใจวันนี้จะใช้เวลาอีก 30 ปีกว่าจะแก้ไขได้ เช่นทำเขื่อนปิดอ่าว ทำผนังกั้น ทำประตูกั้นน้ำทะเล ไม่ว่าจะเป็นประเทศเนเธอร์แลนด์ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ซึ่งแต่ละประเทศได้ทำการป้องกันตั้งแต่ 30 ปีก่อน และจนปัจจุบันจึงจะสำเร็จทั้งในการแก้ข้อขัดแย้งกับประชาชนกลุ่มต่างๆที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งของไทย ก็สามารถทำเขื่อนกั้นน้ำทะเลจากพัทยาไปถึงชะอำ จ.เพชรบุรี และให้เอกชน ประชาชน มาร่วมกันพัฒนาพื้นที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว หรือเขตอุสาหกรรมสะอาด เหมือนกับเกาหลีใต้ พัฒนาพื้นที่ในอ่าวเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้โซล่าเซลล์ เพราะน้ำในอ่าวที่อยู่ในเขื่อนจะกลายเป็นน้ำจืด ก็จะกระทบกับกลุ่มประมงพื้นบ้าน ประมงชายฝั่ง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง