ขยับใกล้เข้าไปเรื่อย ๆ กับกำหนดห้วงเวลา ที่ บอร์ดกสทช. จะพิจารณาคำร้องเรื่องแผนควบรวมธุรกิจ ระหว่างบริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการโทรคมนาคม อย่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC อีกครั้ง หลังจากทั้ง 2 บริษัทได้คำขอ พร้อมแผนธุรกิจและข้อมูลทุกอย่าง ต่อเลขาธิการ กสทช. ตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2565 หรือประมาณ 7 เดือนที่ผ่านมา
ล่าสุด รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ให้ความเห็นกับดีลธุรกิจของ 2 ค่ายโทรศัพท์มือถือครั้งนี้ กับ TOP NEWS ว่า ส่วนตัวมองการควบรวมกิจการ ย่อมทำให้กำลังในการทำธุรกิจของบริษัทใดบริษัทหนึ่ง มีโอกาสที่ส่วนแบ่งการตลาดสูงขึ้น ต้นทุนทางการเงินต่ำลง เพราะขนาดของยอดขายและ ปริมาณลูกค้าที่ใหญ่ขึ้น จึงทำให้มีแต้มต่อทางธุรกิจสูงขึ้น
ประเด็นสำคัญ คือ การควบรวมกิจการนั้น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นโดยทั่วไปในธุรกิจ และสิ่งที่ผู้วางนโยบายของนานาชาติจะดำเนินการ เป็นเพียงการออกกฎหมายที่ป้องกันการผูกขาด แต่ไม่มีการออกกฎหมายที่จะควบรวมกิจการ ดังนั้น เราคงต้องแยกก่อนว่า “การควบรวมกิจการไม่ใช่เป็นความผิด หรือไม่ใช่ผลกระทบรุนแรง ร้ายแรง” ต้องวิเคราะห์เป็นรายกรณี ไม่ว่าจะเป็นที่ปรึกษาทางการเงินระดับโลกต่างๆ การให้ข้อแนะนำด้านควบรวมกิจการเป็นเรื่องปกติ
ส่วนการที่บางส่วนมองว่า TRUE – DTAC ควบรวมกิจการกัน จะทำให้เหลือผู้เล่นสำคัญเพียง 2 ราย คือ AIS กับ (TRUE และ DTAC ) ต้องเริ่มจากการยอมรับก่อน แน่นอนว่า AIS เป็นเบอร์หนึ่งทางด้านโทรศัพท์มือถือ และ TRUE -DTAC เมื่อรวมกัน ก็น่าจะทำให้ธุรกิจของ 2 กลุ่มบริษัทมีสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน หรือ อาจจะเหนือกว่า AIS ได้ ซึ่งส่วนนี้จะทำให้จากผู้เล่น 3 รายหลัก กลับกลายเป็นผู้เล่น 2 รายหลัก คือ AIS และ TRUE กับ DTAC