"ฝีดาษลิง" เกมพลิก หลังกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เผยผลการทดลอง ชี้ คนที่เคยปลูกฝีป้องกันฝีดาษคน ภูมิคุ้มกันไม่มากพอที่จะป้องกันโรค
ข่าวที่น่าสนใจ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมธิการสาธารณสุขวุฒิสภา อัปเดตสถานการณ์การแพร่ระบาดของ “ฝีดาษลิง” เผยผลการทดลองของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ชี้ การปลูกฝี ภูมิยังไม่สูงพอจะป้องกันฝี ดาษลิงได้ โดยระบุว่า จากการแพร่ระบาดทั่วโลก จนถึงวันที่ 2 กันยายนที่ผ่านมา พบผู้ติดเชื้อเกือบ 100 ประเทศ มีผู้ป่วย 50,327 ราย เสียชีวิตไป 15 รายนั้น ทำให้วงการสาธารณสุขทั่วโลก ต้องเร่งรวบรวมความรู้และข้อมูลต่าง ๆ ที่เคยมีมาในอดีต ว่าจะมีวิธีการใดที่สามารถป้องกันฝีดาษลิงได้บ้าง พบว่าจนปัจจุบัน ก็ยังไม่มีวัคซีนที่ผลิตมาเพื่อป้องกันการติดเชื้อโดยเฉพาะ
แต่มีข้อมูลการศึกษาว่า วัคซีนที่ป้องกันฝีดาษคนหรือไข้ทรพิษ ในสมัยก่อนที่เรียกว่าการปลูกฝีนั้น สามารถข้ามมาป้องกัน “ฝีดาษลิง” ได้ประมาณ 85% แต่เนื่องจากทั่วโลกมีการหยุดปลูกฝีตั้งแต่ปี 2523 เป็นต้นมา หรือกว่า 42 ปีแล้ว ส่วนในประเทศไทยเลิกปลูกฝีตั้งแต่ปี 2517 หรือ 48 ปีที่แล้ว จึงทำให้ต้องมีการทบทวนข้อมูลการศึกษาในอดีต พบว่า ระดับภูมิคุ้มกันในเลือดของชาวต่างชาติ จะอยู่ในระดับที่สูงได้ 13-88 ปี
ปัจจุบัน จะยังมีภูมิคุ้มกันที่สูงจนสามารถป้องกันโรคได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งสรุปจากรายงานของอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ในวันที่ 5 กันยายนที่ผ่านมา มีรายละเอียดดังนี้
- กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์สามารถเพาะเชื้อไวรัสก่อโรคฝีดาษ ลิงจากผู้ติดเชื้อที่พบในประเทศไทยทั้ง 7 รายสำเร็จ โดยพบเป็นสายพันธุ์ A.2 หกราย และ B.1 หนึ่งราย
- กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้นำเชื้อไวรัสที่เพาะได้นั้น มาทดสอบกับเลือดของคนไทยที่เคยปลูกฝีป้องกันฝีดาษคน เพื่อดูความสามารถในการฆ่าเชื้อไวรัส ด้วยวิธี PRNT
- จากตัวอย่างอาสาสมัครคนไทย 28 ราย แบ่งออกเป็น 3 ช่วงอายุ คือ 45-54 ปี, 55-64 ปี และ 65-74 ปี พบข้อมูลที่น่าสนใจว่า 26 ราย มีภูมิคุ้มกันแต่สูงไม่มากพอที่จะป้องกันเชื้อได้ มีเพียง 2 รายเท่า (ช่วงอายุ 55-64 ปี) ที่มีระดับภูมิคุ้มกันในเลือดสูงพอที่จะป้องกันเชื้อได้
- ได้ลองนำเลือดจากผู้ที่ติดเชื้อ 2 ราย ไปตรวจหาระดับภูมิคุ้มกัน พบว่า สูงมากพอที่จะทำลายเชื้อไวรัสได้ โดยมีระดับสูง 80-192 หน่วย (ค่าที่ป้องกันได้ คือ มากกว่า 32 หน่วยขึ้นไป)
- นำอาสาสมัครเด็กไทย 3 รายที่ไม่เคยปลูกฝีป้องกันฝีดาษคนเลย ตรวจแล้วพบว่าไม่มีภูมิคุ้มกันที่จะป้องกันเชื้อได้
จึงทำให้ได้ข้อสรุป ดังนี้
- ในต่างประเทศ พบว่าภูมิคุ้มกันในเลือดจากการปลูกฝีป้องกันฝีดาษคนอยู่ได้นาน 13-88 ปี
- ข้อมูลในต่างประเทศ พบว่าการปลูกฝีป้องกันฝีดาษคน ข้ามมาป้องกันฝีดาษ ลิงได้ 85%
- การศึกษาของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ไทยในครั้งนี้ จากจำนวนอาสาสมัคร 28 ราย พบว่ามีภูมิคุ้มกันที่อยู่ในระดับป้องกันโรคเพียง 2 ราย
อย่างไรก็ตาม การติดต่อของโรคนี้ยากกว่าการติดต่อของโควิด-19 ต้องมีการสัมผัสใกล้ชิดกันมาก โดยเฉพาะสัมผัสเชื้อไวรัสจากตุ่มที่ผิวหนัง และที่ผ่านมามักจะเกี่ยวข้องกับเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ด้วย จึงยังไม่ต้องกังวลมากนัก ขอเพียงระมัดระวัง ไม่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่สงสัยว่ามีผื่นหรือตุ่มที่เข้าได้กับฝี ดาษลิง
ข้อมูล : ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง