วันที่ 7 ก.ย. 65 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุดได้มีการเผยแพร่เอกสาร อ้างว่า เป็นเอกสารชี้แจงข้อกล่าวหาของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ส่งถึงศาลรัฐธรรมนูญ กรณีพิจารณาคำร้องวาระ 8 ปีนายกรัฐมนตรี โดยเอกสารดังกล่าวมีทั้งสิ้น 23 หน้า ชี้แจงรายละเอียดเป็นข้อๆทั้งสิ้น 8 ข้อ ดังนี้ 1.ยืนยันว่าการนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี จากปี 2557 นั้น ไม่ถูกต้อง เนื่องจากตนเป็นนายกรัฐมนตรี 2 ครั้ง ครั้งแรก ดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ด้วย ซึ่งต่อมาเมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้ ตนก็ยังคงดำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 จนมีการเลือกตั้ง และได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งผู้ร้องไม่อาจนำระยะเวลาการเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรก ได้เพราะรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 สิ้นผลบังคับใช้ไปแล้ว ตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้ และการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ทำให้ความเป็นนายกรัฐมนตรีของตนตามพระบรมราชโองการ เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2557 เป็นอันสิ้นสุดลงนับตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย. 2560 ด้วยเช่นกัน การสิ้นสุดดังกล่าวส่งผลให้ความเป็นนายกรัฐมนตรีของตนครั้งแรก จึง ”ขาดตอน” จากวันที่รัฐธรรมนูญ2560 บังคับใช้ (6เม.ย.2560) จึงไม่อาจนับรวมระยะเวลา การเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรก กับการเป็นนายกรัฐมนตรีหลังรัฐธรรมนูญบังคับใช้ได้
ส่วนการดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย. หลังรัฐธรรมนูญบังคับใช้นั้น เป็นการดำรงตำแหน่งตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ จนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ หลังการเลือกตั้ง ในปี2562 ดังนั้น การเป็นนายกรัฐมนตรี หลังรัฐธรรมนูญบังคับใช้ จึงเป็นการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีใหม่ตามบทเฉพาะกาล และได้ขาดตอนจากการเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกไปแล้ว
2. การกำหนดระยะเวลา 8 ปี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรค4 เป็นการกำจัดสิทธิทางกฎหมาย ซึ่งรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติโดยชัดแจ้ง ว่าหมายรวมถึงความเป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญอื่น และโดยหลักตีความทางกฎหมายแล้ว หากรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติไว้ชัดเจน จะตีความในทางจำกัดสิทธิบุคคลไม่ได้ ซึ่งตรงกับแนวทาง ของคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะพิเศษ ที่ตั้งขึ้น เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2565 มาเพื่อพิจารณากรณีวาระ8ปีการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ประกอบด้วยคณะกรรมการกฤษฎีกาที่มีตำแหน่งเป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 7 คน ได้แก่ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ,นายนรชิต สิงหเสนี ,นายธิติพันธ์ เชื้อบุญชัย ,นายประพันธ์ นัยโกวิท ,นายปกรณ์ นิลประพันธ์ ,นายอัชพร จารุจินดา และนายอุดม รัฐอมฤต
โดยคณะกรรมการกฤษฎีกาทั้ง 7 คน เห็นว่าบทบัญญัติ กำหนดวาระ 8ปี ดังกล่าว หมายถึงนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2560 เท่านั้น
3. ศาลรัฐธรรมนูญ เคยมีคำวินิจฉัยถึงสถานะความเป็นรัฐมนตรี เมื่อปี 2562 และ 2561 เกี่ยวกับความเป็นรัฐมนตรีของ ว่า คณะรัฐมนตรี ที่อยู่ก่อนรัฐธรรมนูญปี 2560 บังคับใช้ถือเป็นรัฐมนตรี นับจากวันที่รัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้ และต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560