ลุ้นระทึกขึ้นมาทุกขณะกับการพิจารณาคำร้องตีความการนับอายุการทำหน้าที่นายกฯไม่เกิน 8 ปีของ “บิ๊กตู่”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม ล่าสุดศาลรัฐธรรมนูญนัดประชุมวาระพิเศษ 8 ก.ย. 2565 เพื่อพิจารณาว่าข้อมูลของ 3 ฝ่าย คือ ผู้ร้อง ผู้ถูกร้อง และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ส่งมาว่ามีความสมบูรณ์หนักแน่นเพียงพอที่จะสิ้นความสงสัยหรือยัง หากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน เห็นว่ายังไม่สิ้นความสงสัยก็อาจหาข้อมูลหรือเรียกข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาเพิ่มเติมได้ แต่ถ้าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน เห็นว่าสิ้นความสงสัยแล้ว และมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ก็อาจยุติการไต่สวนได้เลย จากนั้นศาลก็จะประชุมปรึกษาหารือเพื่อพิจารณาวินิจฉัย ตรงนี้แหละที่เป็นขั้นตอนสำคัญเพราะตุลาการที่เป็นองค์คณะทั้ง 9 คน จะต้องแถลงความเห็นส่วนตนด้วยวาจาต่อที่ประชุม เมื่อครบทั้ง 9 คนแล้ว ที่ประชุมองค์คณะก็จะมีการปรึกษาหารือก่อนลงมติ เมื่อมีมติอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วก็จะมอบให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใดคนหนึ่งเขียนคำวินิจฉัยกลาง จากนั้นจึงแจ้งให้ผู้ร้องและผู้ถูกร้องมาฟังและอ่านคำวินิจฉัยให้ทราบ
บวกลบคูณหารนับจากวันที่ศาลนัดถกพิเศษ 8 ก.ย.นี้ หากไม่มีการไต่สวนหรือหาพยานหลักฐานเพิ่ม คาดว่าการประชุมคราวหน้าประมาณวันที่ 14 -15 ก.ย.น่าจะนัดลงมติ คำร้องจากส.ส.ฝ่ายค้าน 171 คนได้ ว่าที่สุดแล้วพล.อ.ประยุทธ์จะได้ไปต่อหรือพอแค่นี้ วานนี้มีคำชี้แจงของมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่ส่งถึง วรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ เรื่อง ความเห็นเกี่ยวกับ ม. 264 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่งานนี้กูรูมีชัยอธิบายเรื่องนี้ชัดพร้อมยืนยันการตีความวาระ 8 ปี พล.อ.ประยุทธ์ต้องนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญปัจจุบันเริ่มมีผลบังคับใช้
“ โดยผลของมาตรา 264 ดังกล่าว คณะรัฐมนตรีรวมทั้งนายกฯที่ดำรงตำแหน่งอยู่เฉพาะในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 จึงเป็นคณะรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 ใช้บังคับ คือ วันที่ 6 เม.ย. 2560 และโดยผลดังกล่าวบทบัญญัติทั้งปวงของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 รวมทั้งบทเฉพาะกาลที่ผ่อนปรนให้จึงมีผลต่อคณะรัฐมนตรีและนายกฯดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย. 2560 อันเป็นวันที่รัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับเป็นต้นไป และระยะเวลาตามมาตรา 158 วรรค4 จึงเริ่มนับตั้งแต่บัดนั้น คือ วันที่ 6 เม.ย. เป็นต้นไป” มีชัยชี้แจงในเอกสาร
ไม่รู้เอกสารนี้หลุดมาจากไหนแต่จับต้นชนปลายต้นทางที่ปล่อยออกมา ด้านแรกคงเป็นฝ่ายที่สนับสนุนเชียร์พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ว่าจะมาจากฝ่าย อ.มีชัย จากคนใกล้ตัวพล.อ.ประยุทธ์ ที่ต้องการเอาเรื่องนี้มาสร้างกระแสสังคมชี้นำการตัดสินใจให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 อรหันต์คล้อยตาม อย่างน้อยคำชี้แจงที่ออกจากมีชัยก็เป็นบวกกับนายกฯ เพราะทำให้บิ๊กตู่ได้ไปต่อแม้จะแค่ 2 ปีเพราะจะครบวาระ 8 ปีในวันที่ 5 เม.ย. 2568 แต่ก็เป็นหนทางที่ทำให้พล.อ.ประยุทธ์ยังอยู่ในอำนาจบริหารประเทศต่อไป ด้านที่สองก็อาจจะเป็นฝ่ายตรงข้ามฝั่งเห็นร้ายกับบิ๊กตู่ที่ต้องการปล่อยเรื่องนี้มาดักคอศาลรัฐธรรมนูญกดดันองค์คณะไว้ล่วงหน้า ทิ้งกระแสว่าศาลมีธงแบบนี้ไว้ก่อนอยู่แล้ว ไปๆมาๆไม่ว่ามาจากฝ่ายไหนก็ไม่ดีต่อการวินิจฉัยของศาลทั้งนั้นเพราะกลายเป็นการสร้างแรงกดดันให้ศาลไปโดยปริยาย
ดูแนวทางการตัดสินของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคงมีทางเลือกไม่มาก แนวทางแรกพล.อ.ประยุทธ์สิ้นสุดความเป็นนายกฯ เพราะเป็นนายกฯมาตั้งแต่ 23 ส.ค. 2557 เกิน 8 ปีแล้ว ถ้าออกทางนี้บิ๊กตู่เก็บกระเป๋ากลับบ้านได้เลย หมดโอกาสกลับมาเล่นการเมืองได้แล้ว จะเกิดการเปลี่ยนแปลงการเมืองครั้งสำคัญ ประเทศไทยจะพลิกโฉมหน้าใหม่ ส่วนใครจะเป็นนายกฯคนต่อไปก็มีทางเลือกสองทาง ช่องทางที่ 1 คือชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภานัดประชุมสภานัดพิเศษเพื่อเลือกนายกฯคนใหม่ตามรัฐธรรมนูญ ม. 159 แคนดิเดตในบัญชีพรรคการเมืองที่ยังมีลุ้นตอนนี้ก็มี “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีระกูล จากพรรคภูมิใจไทย กับ ชัยเกษม นิติสิริ จากพรรคเพื่อไทย หรือหากไม่สามารถเลือกนายกฯได้จากก๊อกแรก ก็มีก๊อกสองคือการใช้ออปชั่น รัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ที่สามารถเสนอชื่อ “นายกฯคนนอก” ได้ ออปชั่นนี้แหละที่ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ จะมีลุ้นเป็นนายกฯได้หากมีเสียงส.ส.กับส.ว.สนับสนุนถึง เพราะต้องมีเสียงรับรอง 2 ขยัก ขยักแรกเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้ง 2 สภา ราว 350 คนขึ้นไป ยกเว้นการพิจารณาแคนดิเดตจากบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง ขยักที่สองใช้เสียง 2 ใน 3 ของสมาชิกทั้ง 2 สภา ราว 465 คนในการเสนอชื่อนายกฯคนนอก แต่ถ้าคุยกันไม่ลงตัวตกลงไม่ได้ก็มีช่องทางที่ 2 คือ ใช้อำนาจของรักษาราชการแทนนายกฯ คือ พล.อ.ประวิตรตัดสินใจประกาศยุบสภาเลือกตั้งใหม่ ภายใน 45 ไม่เกิน 60 วัน
แนวทางที่สอง หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ยึดการนับ 8 ปี จากวันเริ่มต้นใช้รัฐธรรมนูญปัจจุบันคือเริ่ม 6 เม.ย.2560 ครบ 8 ปี 5 เม.ย. 2568 บิ๊กตู่ก็มีวาระเหลืออีก 2 ปี ตรงนี้ก็ต้องลุ้นอ่านใจพล.อ.ประยุทธ์จะลงการเมืองต่อหรือเลือก “วางมือ” พอแค่นี้ เพราะอย่าลืมว่าเที่ยวนี้แม้กระแสของพล.อ.ประยุทธ์ยังดีอยู่แต่ไม่แรงเหมือนเก่า แต่ที่หนักหน้าสุดๆคือจะเอาพรรคใดเป็นฐานเป็นบันไดเสนอชื่อให้เป็นนายกฯ เหลียวไปทางพรรคพลังประชารัฐก็อยู่ในช่วงขาลงเสื่อมทรุดคะแนนนิยมหดหาย แถมยังมีแววว่าอาจส่งพล.อ.ประวิตรประกบเป็นคู่เทียบไปด้วยอีก หันไปมองทางพรรครวมไทยสร้างชาติของ “เสี่ยตุ๋ย” พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ก็ยังลูกผีลูกคนไม่รู้จะรอดเกณฑ์ขั้นต่ำ 25 ส.ส. เสนอชื่อนายกฯหรือไม่ มองแล้วเหนื่อยถ้าจะไปต่อ บิ๊กตู่ก็คงเข้าใจข้อจำกัดเรื่องนี้
แนวทางที่สามหากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้ 8 ปี เริ่มนับจาก 9 มิ.ย. 2562 นับตั้งแต่เป็นนายกฯสมัย 2 ครบตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ 2560 ทุกประการ บิ๊กตู่ก็จะหมดวาระ 8 ปี ในวันที่ 8 มิ.ย. 2570 เหลือเวลาบานเบอะอีก 4 ปีกว่าจะครบวาระ ตรงนี้อาจทำให้เจ้าตัวฮึกเหิมอยากเล่นการเมืองต่อ อาจจะลงมาเป็นหัวพรรคพลังประชารัฐ หรือไปนั่งเป็นหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติในอนาคตก็เป็นไปได้ แต่เชื่อว่าถ้าออกแนวทางนี้บิ๊กตู่น่าจะสู้ต่อและคงลุยเลือกตั้งรอบหน้าอย่างแน่นอน ส่วนศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยออกมาแบบไหนก็คงต้องไปตามลุ้นกัน
/////////////////////