ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะนักวิชาการด้านวิศวกรรมขนส่ง โพสต์เฟซบุ๊กโดยระบุข้อความว่า ด่วน ! ผิดเงื่อนไขประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ? รฟม. ให้ ITD ผ่านการพิจารณา “ข้อเสนอด้านคุณสมบัติ”
เมื่อเร็วๆ นี้ รฟม. ได้ประกาศให้ ITD ผ่านการพิจารณาข้อเสนอซองที่ 1 (ข้อเสนอด้านคุณสมบัติ) แต่ ITD มีคุณสมบัติครบถ้วนจริงหรือไม่ ? รฟม. ทำผิดเงื่อนไขหรือไม่ ? ต้องติดตาม
ผมเฝ้าติดตามการพิจารณาข้อเสนอซองที่ 1 (ข้อเสนอด้านคุณสมบัติ) โดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ด้วยความสนใจในคุณสมบัติของบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD เป็นอย่างยิ่ง เพราะคาดว่า ITD น่าจะมีปัญหาด้านคุณสมบัติ แต่เมื่อ รฟม. ประกาศให้ ITD ผ่านการพิจารณาข้อเสนอด้านคุณสมบัติ ผมจึงรอดูว่า รฟม. จะดำเนินการต่อไปถึงไหน ? เพื่อรอเวลาอันเหมาะสมที่จะโพสต์เรื่องนี้ แต่ถึงวันนี้ (7 กรกฎาคม 2565) ทราบว่าประเด็นคุณสมบัติของ ITD เป็นที่รับรู้ของผู้เกี่ยวข้องในการประมูลแล้ว ทำให้ไม่มีประโยชน์ที่ผมจะรอต่อไป จึงต้องโพสต์เรื่องนี้ทันที
1. รฟม. ประกาศเชิญชวนเอกชนให้ร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม
เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 รฟม. ได้ประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม โดยให้เอกชนร่วมลงทุนก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงตะวันตก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) และเดินรถตลอดสายทั้งช่วงตะวันตกและตะวันออก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี)
ในประกาศเชิญชวนดังกล่าว ได้ระบุไว้ชัดใน “ข้อ 3 คุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอ” ว่า “ผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องไม่เป็นเอกชนหรือบุคคลที่มีลักษณะไม่สมควรให้ร่วมลงทุนในกิจการของรัฐตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เรื่อง ลักษณะของเอกชนที่ไม่สมควรให้ร่วมลงทุนในโครงการร่วมลงทุน พ.ศ. 2562”
เมื่อดูประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เรื่อง ลักษณะของเอกชนที่ไม่สมควรให้ร่วมลงทุนในโครงการร่วมลงทุน พ.ศ. 2562 เพื่อกำหนดลักษณะของเอกชนที่ไม่สมควรให้ร่วมลงทุนในโครงการร่วมลงทุน โดยเอกชนที่มีลักษณะดังกล่าว “ไม่มีสิทธิ์” ได้รับคัดเลือกเป็นคู่สัญญาร่วมลงทุนในโครงการร่วมลงทุนตาม พรบ. การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 พบว่า ข้อ 3 (3) ระบุว่า “เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ” และข้อ 4 ระบุว่า “ในกรณีที่เอกชนตามข้อ 3 เป็นนิติบุคคล กรรมการหรือผู้มีอำนาจในการจัดการของนิติบุคคลจะต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดไว้ในข้อ 3 ด้วย” นั่นหมายความว่า กรรมการหรือผู้มีอำนาจในการจัดการของนิติบุคคลจะต้องไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก