วันที่ 12 ก.ย. 2565 เริ่มแล้วขบวนพาเหรดสีสันสนุกสนานกับการแห่ผีสุ่ม งานประเพณีบุญเดือนสิบ ปีที่ 3 ประจำปี 2565 ที่จัดขึ้นที่วัดสมศรี บ้านเสี้ยวน้อย ตำบลบ้านเล่า อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ
ซึ่งในงานมีผีสุ่มทั้งประเภทสวยงาม และประเภทความคิดสรรค์ จาก 15 หมู่บ้านของตำบลบ้านเล่า จัดขบวนแห่ ขบวนการละเล่น การแสดงของผีสุ่ม การทำบุญทำทาน อุทิศส่วนกุศลให้บรรพชน ที่ล่วงลับไปแล้ว แห่ขบวนผีสุ่ม ไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ ในพื้นที่ตำบลบ้านเล่า ก่อนจะวกกลับมายังวัดสมศรี เพื่อร่วมกันนำข้าวสาร อาหารแห้ง ที่ได้รับบริจาคมารวมที่จุดรวมข้าสาก ทำพิธีถวายข้าสาก และอุทิศส่วนกุศลให้ผีบ้าน ผีปู่ย่าตายาย ผีไม่มีญาติ การละเล่นพื้นบ้าน ต่าง ๆ ตลอดทั้งวัน
ซี่งบุญข้าวสาก หรืองานบุญเดือนสิบชาวบ้านเสี้ยวน้อย เป็นงานบุญที่ทุกคน ทุกหลังคาเรือน ต่างจะพากันเตรียมข้าวของไปทำบุญที่วัด เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับบรรพชนที่ล่วงลับไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นปู่ย่า ตายาย พี่น้องที่ถึงแก่กรรมไปแล้ว และไปฟังเทศน์ฟังธรรม แผ่เมตตาธรรมให้กับญาติของตนเองที่วัดเพื่อให้ได้รับผลกุศลให้ไปสู่ภพที่ดี โดยนำเข้าสารอาหาร เครื่องใช้ มาทำบุญให้กับญาติผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว มีเรื่องราวตามตำนานมีบางส่วนที่ญาติพี่น้องของลูกหลานหลงลืมไป มีผีบางตนไม่ได้รับส่วนบุญส่วนกุศล ที่ไม่มีใครทำบุญไปให้ ผีเหล่านั้น จึงหาวิธีการที่ตนจะได้รับส่วนบุญส่วนกุศล จึงใช้วิธีเอาสุ่มดักปลา สุ่มขังไก่ มาคุมหัวของตัวเอง เพื่อไม่ให้คนอื่นเห็น เพราะอายที่ไม่มีลูกหลานทำบุญไปให้ เพื่อให้ได้รับส่วนบุญที่ไม่มีเจ้าของ เพื่อให้ตนหลุดพ้น ให้ได้ไปเกิดในชาติภพที่ดี ก่อนที่เวลาในการปล่อยผีออกมารับส่วนบุญจะหมดไป เพราะจะมียมทูต มาคอยไล่ให้ผีต่าง ๆ กลับไปสู่ยมโลก
ไฮไลท์ของการจัดแห่ผีสุ่มคือการนำอุปกรณ์ในการทำการเกษตรมาเคาะตี ให้เกิดจังหวะ แล้วร่วมกันเต้นรำ ผีสุ่มแต่ละตัวจะโยกย้าย สายเอว สายหัวที่ครอบด้วยผีสุ่ม รูปลักษณ์แปลกตาในเชิงสรรค์ สวยงาม ไปตามเส้นทางในหมู่บ้าน ซึ่งชาวบ้านต่าง ๆ จะออกมาร่วมทำบุญ นำเอาข้าวของ อาหาร น้ำดื่มมาให้ผีสุ่มที่แห่มากับขบวนแห่ พร้อมกับอธิษฐานแผ่เมตตาให้กับผีปู่ย่าของตน เจ้ากรรมนายเวร และผีไม่มีญาติทั้งหลาย โดยข้าวของที่นำมาวางไว้นั้น ทางญาติๆจะแจ้งให้พระแม่ธรณีทราบไว้แล้วว่าเป็นของผีตนใด
เมื่อผีมาถึงก็จะมารับและรีบกลับยมโลกต่อไป ส่วนผีตนใดที่ไม่มีญาติๆนำข้าวของมาฝากไว้ ก็จะไม่สามารถรับของคนอื่นได้ นอกจากผีเจ้าของจะอนุญาต ซึ่งจะมีผีไร้ญาติบางตน ต้องขอบริจาคข้าวของจากเพื่อนผีๆ แต่ด้วยความอับอาย จึงนำสุ่ม มาครอบหัว และตัว เพื่อไม่ให้ผีตนใดเห็นหน้า และร่วมสนุกสนานกับเพื่อนผี พร้อมรีบเดินทางกลับยมโลกก่อนฟ้าสาง
ซึ่งจังหวัดชัยภูมิ ได้บรรจุประเพณีนี้ เป็นปฏิทินท่องเที่ยวของจังหวัดเป็นปีที่ 3 เพื่อเป็นการรักษาวัฒนธรรมพื้นบ้านให้สืบทอด ถึงอนุชนรุ่นหลัง และส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมหนึ่งเดียวในประเทศไทย หรือในโลกสำหรับขบวนแห่ของผีสุ่ม ที่ จ.ชัยภูมิ ซึ่งขบวนพาเหรดแห่ของผีสุ่มแต่ละหมู่บ้าน ผีสุ่มแต่ละตัวจะโยกย้าย สายเอว สายหัวที่ครอบด้วยผีสุ่ม รูปลักษณ์สีสันสะดุดตา สวยงาม สนุกสนานไม่แพ้ใครเลยอีกด้วย.
ภาพ/ข่าว มัฆวาน วรรณกุล ผู้สื่อข่าวภูมิภาค จ.ชัยภูมิ