ไขข้อสงสัย "น้ำท่วม" คอนโด จนรถเสียหายจมน้ำ เคสนี้ใครต้องรับผิดชอบ? หลังเกิดเหตุเมื่อวันที่ 11 กันยายนที่ผ่านมา
ข่าวที่น่าสนใจ
“น้ำท่วม” สร้างความเดือดร้อน เดินทางลำบากอย่างเดียวไม่พอ ล่าสุด พ่นพิษ ทะลักเข้าคอนโดแห่งหนึ่ง เกือบมิดรถ ทำเอาชาวเน็ตที่อาศัยอยู่ในคอนโด เริ่มขนลุก หากเจอเคสแบบนี้ ใครจะต้องรับผิดชอบ TOP News หาคำตอบมาให้แล้ว
โดยมีคำตอบแบบเข้าใจง่าย ๆ ว่า อาจพิจารณาได้จากหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
1. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 420
- ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น
2. พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 33 วรรค 2
- นิติบุคคลอาคารชุดมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการ และดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลาง และให้มีอำนาจกระทำการใด ๆ เพื่อประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว ทั้งนี้ ตามมติของเจ้าของร่วม ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัตินี้
ดังนั้น ทรัพย์ส่วนกลางอย่างที่จอดรถคอนโดจึงเป็นหน้าที่ของนิติบุคคลที่ต้องดูแล หากเกิดปัญหาน้ำ ท่วมขึ้น ต้องพิจารณาว่า นิติบุคคลได้ดูแลทรัพย์ส่วนกลางนั้นให้พร้อมและเพียงพอต่อการใช้งานหรือไม่
หากความเสียหายนั้นเกิดจากนิติบุคคลประมาทหรือเลินเล่อ นิติบุคคลก็อาจต้องรับผิดต่อความเสียหายนั้น ทั้งนี้ ได้มีคำพิพากษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้เทียบเคียง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4493/2543 มีรายละเอียด ดังนี้
พระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 ต้องการให้เจ้าของกรรมสิทธิ์ในห้องชุดอันเป็นทรัพย์สินส่วนบุคคลสามารถใช้สิทธิในห้องชุดได้ตามสิทธิของตน แต่ทรัพย์ส่วนกลางถือว่าเป็นกรรมสิทธิ์รวมระหว่างเจ้าของห้องชุดซึ่งมีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกัน ทั้งกฎหมายและข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุดล้วนกำหนดให้เป็นหน้าที่ของนิติบุคคลอาคารชุด จำเลยที่ 1 ต้องดูแลรักษาทรัพย์สินส่วนกลางของอาคารชุด
เมื่อสาเหตุที่น้ำ ท่วมห้องชุดของโจทก์ เพราะ น้ำฝนเอ่อล้นจากท่อรับน้ำภายในอาคารชุด เนื่องจาก ท่อรวมรับน้ำอุดตัน ซึ่งจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ดูแลให้ท่อระบายน้ำดังกล่าวระบายน้ำได้ตลอดเวลา
แม้โจทก์มิได้นำสืบว่าเหตุใดท่อน้ำจึงอุดตัน และจำเลยที่ 1 ได้กระทำอย่างไรกับสิ่งอุดตันนั้น หรือบริเวณที่อุดตันนั้นไม่อาจตรวจพบได้โดยง่าย ก็ถือได้ว่าเป็นการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 แล้ว เพราะ จำเลยที่ 1 ได้เก็บเงินค่าดูแลรักษาทรัพย์สินส่วนกลาง แล้วว่าจ้างบริษัทเอกชนที่มีอาชีพในการบริหารอาคารชุดมาทำหน้าที่แทน
เมื่อบริษัทดังกล่าวละเว้นหน้าที่โดยประมาทเลินเล่อปล่อยให้ท่อระบายน้ำอุดตันจนน้ำท่วมห้องชุดของโจทก์ เช่นนี้ย่อมเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์
ข้อมูล : DDproperty.com
ข่าวที่เกี่ยวข้อง