ทำความรู้จักอาการ "ชักแบบหัวเราะ" เสียงหัวเราะอย่างไม่มีเหตุผล ที่ไม่ได้เกิดจากความสุข หลังพบเคสเด็กน้อยป่วยโรคประหลาด ขำจนชัก ทำแม่แทบใจสลาย
ข่าวที่น่าสนใจ
กรมการแพทย์ ให้ความรู้เกี่ยวกับอาการ “ชักแบบหัวเราะ” โรคร้ายหายาก พบเพียง 1 ต่อ 200,000 คนเท่านั้น เมื่อพบเคสเด็กน้อยผู้โชคร้าย หัวเราะอย่างไม่มีสาเหตุ คุณแม่เข้าใจว่าลูกอารมณ์ดี สุดท้ายกลายเป็นเรื่องเศร้า เมื่อน้องป่วยโรคประหลาด เสียงหัวเราะของลูก จึงไม่ใช่ความสุขของพ่อแม่อีกต่อไป โดยระบุว่า
อาการชัก แบบหัวเราะพบได้ตั้งแต่กำเนิดในผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 20 ปี มีอาการหัวเราะแบบไม่มีเหตุผล เป็นพัก ๆ เสียงหัวเราะไม่ได้เกิดจากความขบขัน หรือมีความสุข และอาจจะตามด้วยอาการชักแบบอื่น ๆ ได้ เช่น เหม่อไม่รู้ต้ว เกร็งกระตุกทั้งตัว
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า อาการชักแบบ หัวเราะ หรือ Gelastic seizure เป็นอาการชักชนิดหนึ่ง ซึ่งพบไม่บ่อย เกิดได้ตั้งแต่เด็ก มักจะเกิดจากความผิดปกติแต่กำเนิดของสมองส่วนไฮโปธาลามัส ลักษณะคล้ายเนื้องอก เรียกว่า hypothalamic harmatoma
สาเหตุของอาการชัก แบบหัวเราะ
- ที่เกิดจาก Hypothalamic harmatoma ในการศึกษาต่างประเทศ พบประมาณ 1 ต่อ 200,000 ในประชากรอายุน้อยกว่า 20 ปี
- อาการชัก มักจะเริ่มในขวบปีแรก แต่บางรายอาจจะเริ่มอาการในช่วงเด็กโตได้
ลักษณะอาการป่วย
- หัวเราะแบบไม่มีเหตุผล เป็นพัก ๆ เสียงหัวเราะไม่ได้เกิดจากความขบขัน หรือมีความสุข
- ในเด็กโตบางครั้งอาจจะสามารถบอกว่ามีสัญญาณเตือนก่อนมีอาการหัวเราะได้ เช่น ความรู้สึกแปลก ๆ เป็นต้น
- อาการชัก แบบหัวเราะ มักจะเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ ประมาณ 30-45 วินาที และอาจจะตามด้วยอาการชักแบบอื่น ๆ ได้ เช่น เหม่อไม่รู้ต้ว เกร็งกระตุกทั้งตัว เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม อาการชัก แบบหัวเราะ ยังอาจจะพบเกิดจากพยาธิสภาพส่วนอื่น ๆ นอกเหนือจากไฮโปธาลามัสได้เช่นกัน ได้แก่ สมองส่วนหน้า ส่วนขมับ เป็นต้น
นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา เปิดเผยว่า เนื่องจากอาการดังกล่าวอาจจะสับสนกับอาการพฤติกรรมผิดปกติ ในเด็กที่มีปัญหาพัฒนาการ สมาธิสั้น หรือ ออทิสติกร่วมด้วย ทำให้การวินิจฉัยล่าช้าได้
สิ่งที่สำคัญของการวินิจฉัย คือ การสังเกตอาการของเด็กจากบุคคลใกล้ชิด หรือการถ่ายวีดีโออาการดังกล่าวเมื่อมาปรึกษาแพทย์ จะช่วยในการวินิจฉัยได้ การตรวจวินิจฉัยที่สำคัญ คือ การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง เพื่อวินิจฉัยแยกอาการชักหรือไม่ใช่อาการชัก และ การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) และเน้นบริเวณ hypothalamus เพื่อหาความผิดปกติของเนื้อสมองบริเวณไฮโปธาลามัส หรือตำแหน่งอื่น ๆ ที่อธิบายอาการชักได้ชัดเจน
การรักษาอาการชัก
- เริ่มต้นด้วยการใช้ยากันชักที่รักษาอาการชักชนิดเฉพาะที่
- อย่างไรก็ตาม โรคลมชักที่เกิดจาก hypothalamic harmatoma มักจะคุมชักได้ยากแม้จะใช้ยากันชักหลายชนิด
- ดังนั้น การรักษาที่เหมาะสม คือ การผ่าตัดเอาเนื้อสมองส่วน harmatoma ออก ซึ่งเป็นการผ่าตัดสมองในส่วนลึกและผ่าตัดยาก ถือเป็นการผ่าตัดที่ซับซ้อน แต่สามารถทำให้โรคลมชักหายขาดได้เมื่อผ่าตัดสำเร็จ นอกจากนี้อาจจะมีการใช้รังสีรักษาเฉพาะที่ แต่ไม่ค่อยพิจารณาทำในเด็ก
- ในเด็กที่มี hypothalamic harmatoma อาจพบภาวะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย หรือความผิดปกติของฮอร์โมนอื่น ๆ ร่วมด้วย เนื่องจากความผิดปกติของสมองส่วน hypothalamus จะเกี่ยวข้องกับฮอร์โมน ดังนั้น การรักษาโรคนี้ จึงต้องติดตามภาวะฮอร์โมนที่ผิดปกติร่วมด้วยเสมอ
ข้อมูล : กรมการแพทย์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง