จากกรณี สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ได้รับการเปิดเผยข้อมูลจากนายแพทย์ระดับสูงรายหนึ่ง เกี่ยวกับปัญหาการสั่งจองวัคซีนโควิดแอสตร้าเซนเนก้าของประเทศไทย เป็นหนังสือลับลงวันที่ 25 มิ.ย. 2564 ที่นายสจอร์ด ฮับเบน รองประธานฝ่ายกิจการองค์กรทั่วโลก ของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ที่ส่งให้กับนายอนุทิน ชาญวีรกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และมีการส่งต่อหนังสือดังกล่าวไปให้กับ นพ.โอภาส การกวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงว่าแจ้งขอรับวัคซีนโควิดแอสตร้าเซนเนก้าในช่วงแรกเพียงแค่ 3 ล้านโดสต่อเดือน และเป็นการแจ้งช้าที่สุดในอาเซียน
ล่าสุด นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยมบริการฉีดวัคซีนโควิด สถานีกลางบางซื่อว่า วันนี้เปิดให้ประชาชนต่อเนื่องมาเป็นวันที่ 55 แล้ว (ตั้งแต่วันที่ 24 พ.ค.-16 ก.ค.) ด้วยอัตรากำลังแพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล เภสัชกรและเจ้าหน้าที่สนับสนุนวันละ 420 คน ให้บริการฉีดวัคซีนไปแล้ว 819,011 โดส พร้อมกำชับให้เร่งรัดดำเนินการฉีดวัคซีนให้กลุ่มเสี่ยง คือ ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค และหญิงตั้งครรภ์ เพื่อให้เกิดภูมิต้านทาน ลดการเจ็บป่วยรุนแรง ลดอัตราการเสียชีวิตให้ได้มากที่สุด
สำหรับแผนการฉีดวัคซีนโควิด สั่งการให้สลับชนิดการฉีดวัคซีน ซึ่งเป็นแนวทางที่ได้รับการเสนอจากคณะกรรมการวิชาการ ที่ประกอบด้วยคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ที่ดูแลวิธีการบริหารจัดการวัคซีน ได้ทำการศึกษาวิจัยวิธีการฉีดวัคซีนซิโนแวค สลับกับแอสตร้าเซนเนก้า ทำให้เกิดภูมิต้านทานในระยะเวลาอันสั้น มีประโยชน์ต่อประชาชนในการรับมือกับสายพันธุ์เดลตา
นอกจากกรมควบคุมโรค ในฐานะคู่สัญญากับบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ได้เจรจาต่อรองอย่างต่อเนื่อง ให้ผู้ผลิตจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมให้ไทยมากที่สุด เร็วที่สุด โดยเฉพาะช่วงที่มีการระบาดรุนแรงขณะนี้ โดยได้ตั้งคณะทำงานในการเจรจากับผู้ผลิต
นายอนุทิน ยัง ยอมรับว่าบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าฯ ได้ทำหนังสือมาถึงตนในช่วงเวลาดังกล่าวจริง ซึ่งตนก็ได้ตอบจดหมายกลับไปทันที ยืนยันว่าประเทศไทยกำลังประสบกับปัญหาผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 รายวันที่พุ่งสูงมาก ต้องการวัคซีนจำนวนมากขึ้นเพื่อที่จะรับมือกับสถานการณ์การระบาดและเพื่อจะนำไปใช้รองรับกับเป้าหมายใหม่ในเรื่องการฉีดวัคซีนระดับชาติ ซึ่งนายกรัฐมนตรีของไทยได้มีความมุ่งมั่นเป็นอย่างยิ่งที่จะจัดหาวัคซีนให้ได้อย่างน้อย 10 ล้านโดสต่อเดือนเพื่อจะใช้ฉีดให้กับกลุ่มประชาชนคนไทย และคาดหวังว่าจะได้รับวัคซีนของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้ามากกว่าหนึ่งในสามของที่ตกลงไว้ หรือจะได้วัคซีนจำนวนอย่างน้อย 10 ล้านโดสต่อเดือนเอามาใช้ภายในประเทศไทย