"วิกฤตแรงงาน" สหรัฐฯ เผชิญสถานการณ์ขาดแคลนแรงงาน ฉุดรั้งการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันจำนวนคนไร้บ้านในนิวยอร์กยังคงพุ่งเกือบ 8 หมื่นคน
ข่าวที่น่าสนใจ
“วิกฤตแรงงาน” สำนักข่าวซินหัว รายงานข่าว โดยอ้างถึงหนังสือพิมพ์เดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ ที่รายงานว่า เหล่านายจ้างสหรัฐฯ ต่างดิ้นรนกับการหาจ้างแรงงาน บางภาคส่วนไม่มีแรงงานเพียงพอสำหรับดำเนินงานอย่างเต็มกำลัง ฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจจนเกิดภาวะถดอย ขณะที่ประเทศได้ก้าวออกจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 แล้ว
ทั้งนี้ รายงานระบุว่า จำนวนแรงงานมีน้อยกว่าที่ควรจะเป็นหลายล้านอัตรา เนื่องจาก ขนาดการเติบโตของเศรษฐกิจยังคงดำเนินต่อไปในระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดโรคระบาด แต่ช่องว่างของการขาดแคลนแรงงานที่เกิดขึ้นนั้น มีอยู่บางส่วนที่มีปัจจัยจากจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ซึ่งสหรัฐเป็น 1 ในประเทศที่ประสบกับจำนวนผู้เสียชีวิตมากที่สุดของโลกกว่า 1 ล้านคน โดยในจำนวนนี้ เป็นผู้ที่ยังอยู่ในวัยไม่ถึงช่วงเกษียณเกือบ 3 แสนคน
นอกจากนี้ รายงานยังได้อ้างอิงถึงการคำนวณโดยนักเศรษฐศาสตร์จากเจ.พี. มอร์แกน ที่เผยว่า การย้ายถิ่นฐานแบบถูกกฎหมาย ก็ชะลอตัวลงเป็นอย่างมาก ทำให้จำนวนแรงงานเมื่อนำไปเทียบกับปี 2017 ลดลงมากถึง 3.2 ล้านคนเลยทีเดียว
ขณะเดียวกัน สำนักข่าวซินหัว ก็ได้รายงานเกี่ยวกับสถานการณ์คนไร้บ้านในสหรัฐฯว่า หน่วยงานช่วยเหลือผู้หิวโหยและคนไร้บ้านของสหรัฐฯ เปิดเผยโดยอ้างอิงข้อมูลจากรัฐบาลกลางว่า นครนิวยอร์ก ซึ่งเป็นเมืองที่มีประชากรมากที่สุดในสหรัฐ มีประชากรไร้บ้านเพิ่มแตะถึง 80,000 คน ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ทางด้าน ฟอกซ์ นิวส์ ก็ได้รายงานข่าวโดยอ้างอิงถึงองค์กรสัมพันธมิตรเพื่อคนไร้บ้านว่า จำนวนคนไร้บ้านในนิวยอร์กขณะนี้ ได้พุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ นับตั้งแต่เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในช่วงทศวรรษที่ 1930 เว็บไซต์ของหน่วยงานบริการสังคมและบริการคนไร้บ้านของเมือง ระบุว่า มีประชาชนไร้บ้าน 55,338 คน ในจำนวนนี้ เป็นเด็กถึงกว่า 18,000 คน โดยพวกเขาพักอาศัยอยู่ตามสถานสงเคราะห์ของเมือง
ทั้งนี้ แจ็กกี้ โทโบรอฟ อดีตผู้สมัครสมาชิกสภาเทศบาลนิวยอร์ก ก็ได้กล่าวถึงปัจจัยที่ทำให้ตัวเลขคนไร้บ้านสูงขึ้นว่า มีอยู่หลายปัจจัย ทั้ง
- การปล่อยคนออกจากเรือนจำ
- การระงับธุรกิจบริการนาน 2 ปี
- การที่ระบบการศึกษาถูกทำลาย
- อีกทั้งคำสั่งต่าง ๆ ขององค์กร ก็บีบบังคับให้ผู้คนตกงาน
และขณะนี้ ประชาชนก็ต้องมาจ่ายค่าครองชีพที่สูงขึ้น ในเศรษฐกิจยุคการบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดนด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง