สืบเนื่องจากการที่ สำนักงานประชาสัมพันธ์ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ออกเอกสารยืนยัน ผลการประชุมคณะกรรมการคัดเลือกฯ ในคราวเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2565 ว่า การพิจารณาผลประเมินซองข้อเสนอซองที่ 3 ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน ได้ผลสรุป บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) เป็นผู้ยื่นข้อเสนอที่ผ่านการประเมินสูงสุด โดยลำดับถัดไป รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ จะดำเนินการเชิญ ผู้ผ่านการประเมินสูงสุดดังกล่าวมาเจรจาต่อรอง ตามขั้นตอนที่ระบุในเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP) และพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ต่อไป
ล่าสุด ฝ่ายสื่อองค์กร บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BTSC) ได้ออกเอกสารชี้แจงเพิ่มเติม จากการที่มีการเปิดซองประมูลราคารถไฟฟ้าสายสีส้ม ครั้งที่ 1 มีรายละเอียดสำคัญว่า ตามที่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BTSC) ได้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทนของบริษัทและพันธมิตร ที่ได้ยื่นต่อคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เมื่อช่วงปี 2563 โดยขอรับเงินสนับสนุนค่างานโยธา คิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน (NPV) เป็นจำนวนรวม 79,820.40 ล้านบาท และจ่ายเงินตอบแทนให้ รฟม. คิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน (NPV) เป็นจำนวนรวม 70,144.98 ล้านบาท ดังนั้นบริษัทฯ และพันธมิตรจึงขอเงินสนับสนุนจากภาครัฐ จำนวนรวมเพียง 9,676 ล้านบาท
ต่อมา รฟม. ได้ออกข่าวประชาสัมพันธ์ ฉบับที่ 59/2565 เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2565 โดยระบุว่า แม้ BTSC จะนำข้อมูลด้านการลงทุนและผลตอบแทนในการยื่นข้อเสนอโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม เมื่อปี 2563 มาแสดง แต่ข้อมูลดังกล่าวไม่สามารถนำตัวเลขมาเปรียบเทียบกับผลการยื่นข้อเสนอในการคัดเลือกเอกชนปัจจุบันได้ เพราะไม่ทราบว่าข้อเสนอด้านคุณสมบัติ และข้อเสนอด้านเทคนิค จะผ่านเกณฑ์การพิจารณาหรือไม่ รวมทั้งมีความเป็นไปได้ ถูกต้อง และน่าเชื่อถือเพียงใด จึงไม่อาจชี้ชัดได้ว่าข้อเสนอของ BTSC จะเป็นข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ต่อรัฐจริงตามที่ได้ปรากฏเป็นข่าวทางสื่อมวลชน
และยังตั้งข้อสังเกตว่าตัวเลขดังกล่าวของ BTSC มีความแตกต่างจากผลการศึกษาที่ รฟม. นำเสนอขออนุมัติโครงการต่อคณะรัฐมนตรีไว้เป็นจำนวนมาก เพราะผลการศึกษาก็ได้ใช้สมมติฐานทางการเงินตาม MRT Assessment Standardization ที่พิสูจน์แล้วว่าเป็นสมมติฐานที่น่าเชื่อถือ และใช้ในทุกโครงการของ รฟม. อีกทั้งยังยืนยันว่าการประมูลโครงการนี้มีลักษณะเปิดกว้างให้เอกชนเข้าร่วม
บริษัทฯ ขอเรียนชี้แจงว่า เหตุที่ต้องเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว เพราะเห็นว่าการประมูลนี้ไม่สุจริต ชี้ให้เห็นพฤติการณ์ต่างๆ ที่มีเจตนาไม่บริสุทธิ์ ไม่โปร่งใส และกีดกัน โดยบริษัทฯ ต้องการเห็นโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มมีการประมูลที่โปร่งใส บริสุทธิ์ ยุติธรรม และเป็นประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง
คณะกรรมการคัดเลือกฯ และ รฟม. เคยจัดการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มมาแล้วในปี 2563 ต่อมาเมื่อเอกชนได้ซื้อซองข้อเสนอแล้ว คณะกรรมการคัดเลือกฯ กลับแก้ไขหลักเกณฑ์การคัดเลือกเอกชน จนทำให้บริษัทฯ ต้องฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลางเป็นคดีแรก และเมื่อศาลปกครองกลางมีคำสั่งทุเลาการบังคับไม่ให้คณะกรรมการคัดเลือกฯ ใช้เอกสารการคัดเลือกเอกชนที่แก้ไขดังกล่าว