“ดร.สามารถ” แจงยิบรฟม.ต้นเหตุรถไฟฟ้าสีส้มช้ากว่า 2 ปี ชาติเสียหาย 1.6 แสนล้าน

"ดร.สามารถ" แจงยิบรฟม.ต้นเหตุรถไฟฟ้าสีส้มช้ากว่า 2 ปี ชาติเสียหาย 1.6 แสนล้าน

หลังจากออกมาแสดงความเห็น เกี่ยวกับประเด็นปัญหารถไฟฟ้าสีสีมหลายครั้ง โดยเฉพาะการชี้จุดผิดปกติในกระบวนการประมูลครั้งที่ 2 ทั้งการกำหนดกรอบ หลักเกณฑ์ และ คุณสมบัติ ผู้เข้าประมูล ที่สะท้อนให้เห็นว่า รฟม.มีความพยายามจำกัดสิทธิ์ผู้ประกอบการบางราย และรวมถึงผลประโยชน์ภาครัฐ ต้องสูญเสีย จากความพยายามทำให้ผลการประมูล ครั้งที่ 2 เกิดขึ้น แม้ว่าศาลปกครองจะมีคำพิพากษาว่า การรื้อ แก้ไข ทีโออาร์ การประมูลครั้งที่ 1 เป็นการกระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

ล่าสุด ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะนักวิชาการด้านวิศวกรรมขนส่ง เปิดเผยกับทีมข่าว TOPNEWS ถึงการผลประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี(สุวินทวงศ์) ว่า ถึงแม้จะมีการประกาศผลว่า BEM คือ ผู้ชนะการประมูล แต่กรณีนี้ยังมีอีกหลายจุดปัญหาต้องติดตาม

ตั้งแต่การพิจารณาข้อเสนอซองที่ 1 ซึ่งเป็นซองคุณสมบัติ ได้มีการระบุไว้ในประกาศเชิญชวนว่า ต้องทำตามประกาศ คณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน หรือ PPP กำหนดว่า บริษัทหรือเอกชน ที่มีคณะกรรมการ เคยรับโทษจำคุก โดยคำพิพากษาถึงที่สุดคือจำคุก จะไม่มีสิทธิ์ได้รับคัดเลือกให้เป็นคู่สัญญาระหว่างรัฐ และตามประกาศเชิญชวนให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มนั้น การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) ได้ประกาศเอาไว้ชัดเจน หากเอกชนรายได้มีคุณสมบัติไม่ผ่าน รฟม.จะต้องไม่เปิดข้อเสนอซองที่ 2 ซึ่งเป็นด้านเทคนิค และข้อเสนอซองที่ 3 ซึ่งเป็นเรื่องผลตอบแทน

แต่ที่ผ่านมา รฟม. มีการเปิดซองข้อเสนอ ทั้งสองซอง โดยเปิดซองที่ 1 ซึ่งเป็นซองคุณสมบัติ และให้ ITD ผ่านหลักเกณฑ์ ทั้งๆที่ทุกคนรับรู้รับทราบ ว่า บริษัทเอกชนดังกล่าว มีกรรมการรายหนึ่ง เคยได้รับโทษจำคุกโดยมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว เหตุใดจึงผ่านการคัดเลือกไปจนสู่กระบวนการเปิดซองเสนอราคาซองอื่นๆ

จึงขอตั้งคำถามไปยัง รฟม ว่าเพราะเหตุใด ITD จึงผ่านเกณฑ์ และการดำเนินการที่เกิดขึ้นผิดเงื่อนไขตามประกาศเชิญชวนหรือไม่ และหากผิดเงื่อนไข เหตุใดจึงนำไปสู่การเปิดซองที่ 2 และซองที่ 3

ทั้งนี้ ดร.สามารถ อธิบายด้วยว่า ที่ผ่านมา รฟม. ได้มีการเปิดซองเสนอราคา ซองที่ 2 และ 3 หลังจากประกาศให้ 2 บริษัท หรือ BEM และ ITD ที่เสนอราคา ผ่านเกณฑ์ด้านคุณสมบัติ รวมไปถึงยังผ่านซองที่ 2 ซึ่งเป็นของเสนอทางเทคนิค จนนำไปสู่การเปิดซองที่ 3 ซึ่งเป็นการเสนอผลตอบแทน ยังปรากฏว่า บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) ซึ่งเป็นผู้เสนอขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาลน้อยที่สุด และเป็นผู้ชนะการประมูล กลับมีตัวเลขขอรับการสนับสนุน สูงถึง -78,000 ล้านบาท

และเมื่อมีการมาเปรียบเทียบกับการประมูลครั้งแรก ที่มีบริษัทเอกชนเข้าร่วมการประมูลครั้งแรก พบว่ามีตัวเลขต่ำกว่าหลายเท่า ดร.สามารถ ระบุว่า กลุ่มบีเอชอาร์ (บีทีเอสซี) ได้ยื่นเสนอราคาครั้งแรก แต่ในครั้งที่ 2 ไม่สามารถที่จะยื่นเสนอราคาได้ เนื่องจากไม่สามารถหาผู้รับเหมามาร่วมยื่นเสนอราคาได้ จึงได้ไปนำซองเสนอราคามาเปิด โดยเป็นซองที่ 3 ซึ่งเป็นซองข้อเสนอด้านผลตอบแทน ซึ่งสามารถนำมาเปรียบเทียบได้ เพราะราคาค่าก่อสร้างยังเหมือนเดิม และทุกอย่างยังเหมือนเดิม เพียงแต่ในส่วนของคะแนนที่จะประเมินผู้ชนะการประมูลมีการปรับเปลี่ยนไป โดยการที่รฟม. มีการปรับคะแนนให้สูงขึ้นเท่านั้น จึงสามารถนำข้อเสนอจากการประมูลครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 มาเปรียบเทียบกันได้

ประเด็นสำคัญจากการเปรียบเทียบ พบว่า ในส่วนของ กลุ่มบีเอชอาร์ (บีทีเอสซี) ได้มีการขอเงินสนับสนุนจากรัฐบาลราว ๆ 9,000 ล้านบาท ต่ำกว่า BEM ซึ่งเป็นผู้ชนะการประมูล เกือบ 7 หมื่นล้านบาท ซึ่งส่วนตัวมองว่า เม็ดเงินส่วนต่างที่เกิดขึ้น 7 หมื่นล้านบาท ภาครัฐจะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่นได้มากกว่า เช่น การนำเอาเม็ดเงินดังกล่าวไป ก่อสร้างรถไฟฟ้าสายอื่น ระยะทางประมาณ 30 กิโลเมตรได้ จึงถือเป็นเรื่องน่าเสียดายมากถ้าประเทศต้องเสียโอกาสในเรื่องอย่างนี้ คือ หากรฟม. ไม่ยกเลิกการประมูลครั้งแรก และปล่อยให้มีการดำเนินการต่อไป คงจะช่วยรัฐประหยัดงบฯลงทุนโครงกการระบบขนส่งมวลชนได้จำนวนมาก

ทั้งนี้ กลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) หรือ กลุ่มผู้ลงทุนรถไฟฟ้าสายสีส้ม ซึ่งซองประกวดราคา และเข้าร่วมประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายส้ม ครั้งที่ 1 ประกอบด้วย บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง (BTS) และบมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น (STEC)

 

 

 

 

การประมูลครั้งที่ 2 ออก TOR กีดกันผู้ร่วมประมูล

ส่วนประเด็นที่หลายฝ่ายตั้งข้อสงสัย เกี่ยวกับการกำหนดเงื่อนไข TOR ในการประมูลครั้งที่ 2 มีการวางหลักเกณฑ์ คุณสมบัติ มีลักษณะกีดกันให้ผู้ประกอบการเข้าร่วมประมูลได้น้อยราย

ดร.สามารถ ระบุว่า การออก TOR ดังกล่าว มีข้อน่าสังเกตผิดปกติจริง ๆ เพราะโครงการนี้ ได้กำหนดให้ผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องประกอบด้วย ผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้า และกรณีของคุณสมบัติผู้รับเหมา ซึ่งความสำคัญจะอยู่ในส่วนของผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้า ส่วนผู้รับเหมาจะมีความสำคัญน้อยกว่า เพราะการก่อสร้างส่วนใหญ่จะใช้เทคนิคเดิมๆ เช่นเดียวกับโครงการอื่นๆ ที่ทำรถไฟฟ้าลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยามาแล้ว

แต่ทางรฟม.ได้มีการปรับคุณสมบัติของผู้รับเหมาให้มีความยากขึ้น ทั้งการหาผู้รับเหมา การเข้าร่วมที่ยากขึ้น ขณะที่ทั่วโลกมีผู้รับเหมาที่ผ่านเกณฑ์ทุกประการและคุณสมบัติครบถ้วนตามเงื่อนไขของรฟม. เพียง 2 รายเท่านั้น ในขณะที่ผู้เดินรถไฟฟ้ายังได้มีการปรับลดคุณสมบัติลงมา ซึ่งส่วนตัวมองว่าไม่ควรจะเป็นเช่นนั้น และอย่างน้อยในหลักเกณฑ์ใหม่ผู้เดินรถไฟฟ้าจะต้องมีคุณสมบัติเหมือนเดิมกับการประมูลครั้งที่ 1 ทำให้กลายเป็นข้อสังเกตที่เกิดความสงสัยมากมาย

นอกจากนี้ ยังมีข้อสังเกตจากข้อกำหนดใน TOR ใหม่ ว่า เป็นการกีดกันเอกชนรายใดรายหนึ่งหรือไม่ หรือเป็นการเอื้อประโยชน์ ให้เอกชนรายใดรายหนึ่งหรือไม่ ซึ่งตนไม่ได้มีการกล่าวหาใคร เพียงแต่ตั้งเป็นข้อสังเกตให้ทุกฝ่ายต้องติดตามต่อไป แม้ว่า รฟม.จะประกาศให้ BEM เป็นผู้ชนะการประมูลก็ตาม

ขณะที่ประเด็นว่าด้วย มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เคยระบุ การร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน หรือ PPP จะต้องเปิดโอกาสให้ต่างชาติสามารถเข้ามาร่วมลงทุนได้ แต่กรณีนี้เมื่อมีการนำใช้กลับพบว่า ไม่เป็นไปอย่างที่มติครม.ระบุไว้จะถือว่ามีความผิดหรือไม่

ดร.สามารถ ระบุว่า ตามมติครม. จะต้องเปิดโอกาสให้การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนมีการแข่งขันมากขึ้น โดยต้องพิจารณาว่า การดำเนินการมีข้อขัดแย้งเกิดขึ้นหรือไม่ และการที่ให้มีการดำเนินการโครงการขนาดใหญ่ พร้อมเปิดให้มีการประมูลนั้น ต้องเปิดให้เอกชนหลายรายเข้าร่วมได้ ไม่ใช่เอกชนแค่ 1 หรือ 2 รายเท่านั้น ส่วนการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ครั้งที่ 2 เมื่อพิจารณาถึงเอกชนที่สามารถเข้าร่วมประมูล

หากพิจารณาดีๆ จะพบว่า มีเอกชนรายเดียวเท่านั้นที่ผ่านเกณฑ์ เนื่องจากกลุ่มของบีทีเอสซี ไม่สามารถเข้าร่วมเพื่อยื่นซองเสนอราคาได้ ส่วนกลุ่ม ITD ที่ยื่นซองเสนอราคา เป็นที่รับรู้ว่ามีปัญหาเรื่องเกณฑ์คุณสมบัติตั้งแต่ต้น ซึ่งความจริงไม่สามารถยื่นได้ ดังนั้นเท่ากับจะเหลือผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์เพียง 1 รายเท่านั้น ดังนั้น รฟม.ต้องมีคำชี้แจงที่ชัดเจนกว่านี้ ในเรื่องการวางข้อกำหนดของผู้ว่าจ้าง หรือ TOR ว่า เหมาะสมหรือไม่ที่ทำให้เอกชนรายเดียวเท่านั้น ที่สามารถยื่นซองเสนอราคาได้

 

ข่าวที่น่าสนใจ

ความโปร่งใส โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม

และจากความสูญเสียที่เกิดขึ้น จากความล่าช้าทั้งหมด ในการพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ดร.สามารถ ย้ำอีกครั้่งว่า การดำเนินการทั้งหมดค่อนข้างมีความเเปลกมาก และที่ผ่านมาประเทศเสียเวลานานกว่า 2 ปี เมื่อเทียบกับโครงการอื่นๆ คือ หากมีการดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา จะใช้ระยะเวลาไม่นาน แต่สำหรับโครงการนี้ พบว่า มีการปรับแก้ไปมาหลายครั้ง เ ริ่มตั้งแต่ปรับเเก้เกณฑ์การประมูล การยกเลิกการประมูลครั้งที่ 1 และศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาให้ รฟม. เพิกถอนคำสั่งการยกเลิกการประมูลครั้งที่ 1 หมายความว่า การประมูลครั้งที่ 1 ยังคงมีอยู่ รฟม. จึงควรกลับไปดำเนินการ การประมูลครั้งที่ 1 ให้แล้วเสร็จ ไม่ใช่มาเปิดการประมูลครั้งที่ 2

อย่างไรก็ตามยังเชื่อว่า รฟม. คงพยายามผลักดันให้การประมูลครั้งที่ 2 สำเร็จเป็นรูปธรรม และคงเป็นเรื่องที่ยากที่รฟม. จะกลับไปดำเนินการให้การประมูลครั้งที่1 ให้แล้วสำเร็จ แม้ว่าส่วนตัว ต้องการให้ผู้เสนอราคาขอเงินสนับสนุนภาครัฐต่ำที่สุดเป็นผู้ชนะการประมูล เพราะจะช่วยรัฐบาลประหยัดเงินได้ถึงเกือบ 7 หมื่นล้านบาท

 

การเสียประโยชน์ของปชช. จากความล่าช้าของโครงการ

ช่วงท้าย ดร.สามารถ สรุปประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น จากกระบวนการทำงานของรฟม. ว่า สิ่งที่เห็นจากโครงการรถไฟฟ้าสีส้ม ก็คือ

– หนึ่ง ผลตอบแทนที่รฟม. ได้รับ ไม่ได้รับมากที่สุด อย่างที่รฟม.ควรจะได้ ซึ่งหากการประมูลครั้งที่ 1 ยังดำเนินต่อไปไม่มีการยกเลิกการประมูล และใช้หลักเกณฑ์เดิมนั้น จะเห็นได้ว่า บีทีเอส มีโอกาสที่จะชนะการประมูล ทำให้รฟม. สามารถประหยัดเงินได้เกือบ 7 หมื่นล้านบาท

 

– สอง ปัจจุบันโครงการมีความล่าช้ามากว่า 2 ปี ซึ่งทางด้านสภาพัฒน์ ได้มีการประเมินความสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจไว้ปีละ ประมาณ 4.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งขณะนี้ล่วงเลยมากกว่า 2 ปี ทำให้เม็ดเงินความสูญเสียด้านเศรษฐกิจ อยู่ที่ 9.2 หมื่นล้านบาท และเมื่อมารวมกับเม็ดเงินส่วนต่างด้านราคาอีก 7 หมื่นล้านบาท ทำให้ประเทศเสียประโยชน์ไปถึง 1.6 แสนล้านบาท

ส่วนบทสรุปโครงการนี้จะจบลงอย่างไร ดร.สามารถ ระบุว่า ส่วนตัวมองว่า รฟม. คงพยายามเร่งผลักดันให้โครงการนี่จบโดยเร็วที่สูด ขณะที่ ฝ่ายบีทีเอสซี ก็จำเป็นต้องสู้เต็มที่ เพื่อให้ได้รับความเป็นธรรม ทั้งหมดจึงต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของศาลฯ ว่าจะมีแนวทางอย่างไร

แต่สำหรับส่วนตัว ต้องการให้รฟม.พิจารณาให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย พร้อมเร่งรัดให้การดำเนินโครงการให้เสร็จโดยเร็วที่สุด เพื่อเป็นประโยชน์กับประชาชน เพราะถึงแม้ว่าปัจจุบัน ได้มีการก่อสร้างฝั่งมีนบุรี ถึงศูนย์วัฒนธรรม ใกล้แล้วเสร็จ แต่ก็ยังเปิดใช้บริการไม่ได้ เท่ากับเป็นการเสียโอกาสของประชาชน จึงต้องการให้รฟม.เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จและถูกต้องตามประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุน รวมถึงระเบียบต่างๆ อีกด้วย

 

ขณะที่ก่อนหน้านี้ ดร.สามารถ ได้โพสต์ความเห็น ผ่านเฟซบุ๊ก ในประเด็น 6.8 หมื่นล้าน โดยตั้งคำถามถึง รฟม. ดังนี้

1. การประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มมีเกณฑ์เลือกผู้ชนะอย่างไร ?
การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ประกาศเชิญชวนเอกชนให้ร่วมลงทุนก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงตะวันตก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) และเดินรถตลอดสายทั้งช่วงตะวันตกและตะวันออก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี) เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 แต่ในระหว่างการประมูล รฟม. ได้เปลี่ยนเกณฑ์ประมูล ทำให้บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ฟ้องขอความเป็นธรรมต่อศาลปกครองกลาง ซึ่งศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาว่า เกณฑ์ประมูลเดิมชอบด้วยกฎหมายแล้ว และการแก้ไขเกณฑ์ประมูลนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ รฟม. ไม่เห็นด้วย จึงเดินหน้าสู้ด้วยการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ยังไม่ทันที่ศาลปกครองสูงสุดจะมีคำสั่งลงมา รฟม. ได้ชิงล้มการประมูลไปก่อน การประมูลที่ถูกล้มไปถือว่าเป็นการประมูลครั้งที่ 1

ต่อมา รฟม. ได้เปิดประมูลใหม่เป็นครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 โดยมีเกณฑ์การคัดเลือกผู้ชนะการประมูลเหมือนกับครั้งที่ 1 ดังนี้
(1) ผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องผ่านการพิจารณาข้อเสนอซองที่ 1 (ข้อเสนอด้านคุณสมบัติ) ซึ่ง รฟม. ได้ปรับแก้คุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอที่ประกอบด้วยผู้เดินรถไฟฟ้าและผู้รับเหมา โดยได้ปรับแก้คุณสมบัติของผู้เดินรถไฟฟ้าให้ผ่านเกณฑ์ง่ายขึ้นกว่าการประมูลครั้งที่ 1 แต่ได้ปรับแก้คุณสมบัติของผู้รับเหมาให้ผ่านเกณฑ์ยากขึ้น
(2) ผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องผ่านการพิจารณาข้อเสนอซองที่ 2 (ข้อเสนอด้านเทคนิค) ซึ่ง รฟม. ได้เพิ่มคะแนนผ่านข้อเสนอด้านเทคนิคให้สูงขึ้นกว่าการประมูลครั้งที่ 1
(3) ผู้ยื่นข้อเสนอที่ผ่านการพิจารณาข้อเสนอซองที่ 1 และซองที่ 2 จะต้องมาแข่งกันที่ข้อเสนอซองที่ 3 (ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน) ใครเสนอผลประโยชน์สุทธิ (เงินตอบแทนให้ รฟม. หักด้วยเงินที่ขอรับสนับสนุนค่าก่อสร้างจาก รฟม.) คิดเป็นมูลค่าในปัจจุบันสูงที่สุด จะเป็นผู้ชนะการประมูล
จึงเห็นได้ชัดว่า รฟม. มีเกณฑ์การคัดเลือกผู้ชนะการประมูลโดยจะต้องพิจารณาจากผลประโยชน์สุทธิที่ รฟม. ได้รับ ไม่มีปัจจัยอื่นมาเจือปน ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับที่ รฟม. ได้ใช้ในการประมูลโครงการอื่นที่ผ่านมา

2. ใครชนะการประมูล ?
รฟม. เปิดซองข้อเสนอซองที่ 3 (ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน) ของเอกชน 2 ราย ซึ่งเป็นเอกชนที่ผมได้คาดการณ์ไว้ล่วงหน้าได้อย่างถูกต้องว่าจะมีเพียงเอกชน 2 รายนี้เท่านั้นที่จะยื่นประมูล ส่วน BTSC ซึ่งเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวจะไม่สามารถยื่นประมูลได้ แต่ รฟม. ได้ชี้แจงว่าการประมูลครั้งที่ 2 รฟม. ได้เปิดกว้างให้เอกชนจำนวนมากรายสามารถเข้าร่วมประมูลได้ ในกรณีที่ยื่นข้อเสนอเป็นกลุ่มนิติบุคคล จะมีผู้นำกลุ่มนิติบุคคลไทยอย่างน้อย 4-5 ราย และต่างชาติอีกจำนวนมาก แล้วสุดท้ายเป็นอย่างไร ? มีผู้ยื่นข้อเสนอแค่ 2 รายเท่านั้น ! อีกทั้ง 1 ใน 2 รายที่ยื่นข้อเสนอยังมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติที่ไม่น่าจะผ่านการพิจารณาข้อเสนอด้านคุณสมบัติ แต่ รฟม. ก็ให้ผ่านมาแล้ว

ผลการเปิดซองข้อเสนอซองที่ 3 (ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน) มีดังนี้
(1) บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เสนอผลประโยชน์สุทธิให้ รฟม. ติดลบ 78,287.95 ล้านบาท นั่นหมายความว่า BEM เสนอผลตอบแทนให้ รฟม. น้อยกว่าเงินที่ขอรับสนับสนุนค่าก่อสร้างจาก รฟม. ทำให้ รฟม. จะต้องให้เงินสนับสนุนแก่ BEM จำนวน 78,287.95 ล้านบาท

(2) ITD Group ซึ่งประกอบด้วย ITD และ Incheon Transit Corporation หรือ ITC ผู้เดินรถไฟฟ้าจากเกาหลี เสนอผลประโยชน์สุทธิให้ รฟม. ติดลบ 102,635.66 ล้านบาท นั่นหมายความว่า รฟม. จะต้องให้เงินสนับสนุนแก่ ITD Group จำนวน 102,635.66 ล้านบาท

จากผลประโยชน์สุทธิดังกล่าวส่งผลให้ BEM เป็นผู้ชนะการประมูล เนื่องจากเสนอผลประโยชน์สุทธิให้ รฟม. มากกว่า ITD Group หรือ รฟม. จะต้องให้เงินสนับสนุนแก่ BEM น้อยกว่าให้ ITD Group นั่นเอง

3. BTSC เสนอผลประโยชน์สุทธิให้ รฟม. เท่าไหร่ ?
ในการประมูลครั้งที่ 1 ซึ่งถูกล้มไป BTSC ได้เสนอผลประโยชน์สุทธิให้ รฟม. ติดลบ 9,675.42 ล้านบาท นั่นหมายความว่า รฟม. จะต้องให้เงินสนับสนุนแก่ BTSC จำนวน 9,675.42 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ชนะการประมูลในการประมูลครั้งที่ 2 คือ BEM พบว่า รฟม. จะต้องให้เงินสนับสนุนแก่ BEM มากกว่าให้แก่ BTSC ถึง 68,612.53 ล้านบาท ! (78,287.95-9,675.42)

อาจเป็นที่สงสัยว่า ข้อเสนอของ BTSC ในการประมูลครั้งที่ 1 สามารถนำมาเปรียบเทียบกับข้อเสนอของ BEM ในการประมูลครั้งที่ 2 ได้หรือ ? ผมขอตอบว่าได้ เพราะราคากลางค่าก่อสร้างในการประมูลทั้ง 2 ครั้ง เท่ากัน คือ 96,012 ล้านบาท รวมทั้งระยะเวลาก่อสร้างไม่เกิน 6 ปี และระยะเวลาเดินรถ 30 ปี เหมือนกัน

อาจเป็นที่สงสัยอีกว่า ทำไม BTSC จึงไม่เข้าร่วมประมูลครั้งที่ 2 ผมขอตอบว่า BTSC ไม่สามารถเข้าร่วมประมูลได้ เพราะไม่สามารถหาผู้รับเหมามาเป็นผู้ร่วมยื่นข้อเสนอได้ เนื่องจากมีการปรับแก้คุณสมบัติของผู้รับเหมาให้ผ่านเกณฑ์ยากขึ้น ทั้งนี้ ผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องประกอบด้วยผู้เดินรถไฟฟ้าและผู้รับเหมา

ผมได้ตั้งข้อสังเกตมาหลายครั้งแล้วว่า ในการประมูลครั้งที่ 2 นั้น รฟม. ได้ปรับแก้คุณสมบัติของผู้เดินรถไฟฟ้าให้ผ่านเกณฑ์ง่ายขึ้น แต่ได้ปรับแก้คุณสมบัติของผู้รับเหมาให้ผ่านเกณฑ์ยากขึ้น
ทำไม รฟม. จึงทำเช่นนั้น ?

4. ทำไม BTSC จึงกล้าขอรับเงินสนับสนุนแค่ 9.6 พันล้าน เท่านั้น ?

เมื่อดูไส้ในข้อเสนอของ BTSC พบว่า BTSC เสนอผลตอบแทนให้แก่ รฟม. 70,144.98 ล้านบาท และขอรับเงินสนับสนุนค่าก่อสร้างจาก รฟม. 79,820.40 ล้านบาท หรือเสนอผลประโยชน์สุทธิให้แก่ รฟม. ติดลบ 9,675.42 ล้านบาท (70,144.98-79,820.40) นั่นหมายความว่า รฟม. จะต้องให้เงินสนับสนุนแก่ BTSC จำนวน 9,675.42 ล้านบาท

ตัวเลขที่เสนอโดย BTSC ที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งก็คือ ตัวเลขเงินที่ขอรับการสนับสนุนค่าก่อสร้างจาก รฟม. จำนวน 79,820.40 ล้านบาท ที่น่าสนใจก็เพราะว่าราคากลางค่าก่อสร้างของ รฟม. สูงกว่านี้มาก นั่นคือ 96,012 ล้านบาท สูงกว่าที่ BTSC ขอรับการสนับสนุนถึง 16,191.60 ล้านบาท ! (96,012-79,820.40)

ถามว่า เป็นไปได้หรือที่ BTSC จะคิดราคากลางผิด ? ถ้าเป็นไปไม่ได้ แล้วทำไมราคากลางของ รฟม. จึงโป่งถึงขนาดนี้ ? รฟม. คิดผิดหรือ ?

5. สรุป
จากการติดตามการประมูลมาหลายโครงการ ผมเห็นว่ากรณีการประมูลที่ตรงไปตรงมา หากมีข้อสงสัยเกิดขึ้นผู้เกี่ยวข้องกับการประมูลจะชี้แจงกี่ครั้งก็ชี้แจงได้เหมือนเดิม แต่กรณีการประมูลที่ไม่ชอบมาพากล ผู้เกี่ยวข้องกับการประมูลจะชี้แจงเท่าไหร่ก็ฟังไม่ขึ้น เพราะมันย้อนแย้ง !

ผมยังมีความหวังว่า บ้านนี้เมืองนี้ เรายังตามหาความเป็นธรรมในการประมูลเจอ แม้จะริบหรี่ก็ตาม ! ภาวนาขออย่าให้เป็นยุคการประมูลแบบ “รู้ตัวผู้ชนะก่อนเปิดซอง” เลย เจ้าประคู้ณ !
วังเวงจริงๆ ครับ

หมายเหตุ : ข้อสงสัยดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นข้อกังขาที่ผมและประชาชนทุกคนชอบที่จะต้องขอคำชี้แจงให้สิ้นสงสัยจากหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ทั้งนี้ก็เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ด้วยเจตนาที่จะให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากโครงการนี้อย่างเต็มที่ โดยปราศจากข้อสงสัยใดๆ ทั้งสิ้นเท่านั้นเอง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

เมียไรเดอร์ เปิดใจเสียงสั่น กลัวไม่ได้รับความเป็นธรรม หลังรู้ข่าว หนุ่มอินเดียซิ่งเก๋งได้ประกันตัว ลั่น ‘คนมีเงินมันยิ่งใหญ่’
นายกฯ เปิดงาน Thailand Reception เชิญชวนสัมผัสเสน่ห์อาหารไทย ชูศักยภาพเศรษฐกิจ
จีนแห่ ‘โคมไฟปลา’ แหวกว่ายส่องสว่างในอันฮุย
"พิพัฒน์" ตรวจเยี่ยมเอกชน ต้นแบบอุตสาหกรรม ผลิตด้วยเทคโนฯ AI พร้อมเร่งนโยบาย up skill ฝีมือแรงงานไทย
ผู้นำปานามาลั่นคลองปานามาไม่ใช่ของขวัญจากสหรัฐ
จีนไม่เห็นด้วยหลังไทยยืนยันไม่มีแผนส่งกลับอุยกูร์ในขณะนี้
"ดีเอสไอ" อนุมัติให้สืบสวนคดี "แตงโม" ปมมีการบิดเบือน บุคคลอื่น-จนท.รัฐเกี่ยวข้องหรือไม่
"พิพัฒน์" นำถก "คบต." ลงมตินายจ้างต้องยื่นบัญชีชื่อต้องการแรงงานต่างด้าว ให้เสร็จใน 13 ก.พ.68
ส่องรายได้ "ดิว อริสรา" หลัง "ไผ่ ลิกค์" เฉลยชื่อดาราดัง ปมยืมเงินปล่อยกู้ โซเชียลจับตา รอเจ้าตัวชี้แจง
ศาลให้ประกันตัว "หนุ่มลูกครึ่งอินเดีย" ขับรถชนไรเดอร์เสียชีวิต ตีวงเงิน 6 แสนบาท คุมเข้มใส่กำไล EM ภรรยาผู้ตาย ลั่นไม่ให้อภัย

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น