เกาะติดต่อเนื่องกับปมปัญหารถไฟฟ้าสีส้ม หลังจากศาลปกครองกลาง พิพากษาว่า การเปลี่ยนแปลง ทีโออาร์ การประมูลครั้งทึ่ 1 เป็นการกระทำมิชอบด้วยกฎหมาย แต่ คณะกรรมการ มาตรา 36 และ ผู้บริหาร รฟม. ยังเดินหน้าประมูลครั้งทื่ 2 พร้อมส่งเอกสารข่าว แจ้งว่า คณะกรรมการคัดเลือกฯ ในคราวประชุมเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2565 ได้พิจารณาผลการประเมินซองข้อเสนอซองที่ 3 ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน
ผลปรากฏว่า บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เป็นผู้ยื่นข้อเสนอที่ผ่านการประเมินสูงสุด ทั้งนี้ ในลำดับถัดไป รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ จะดำเนินการเชิญ ผู้ผ่านการประเมินสูงสุดดังกล่าวมาเจรจาต่อรอง ตามขั้นตอนที่ระบุในเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP) และพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ต่อไป
ขณะที่ นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการฯ รฟม. ซึ่งเดิมนัดหมายสื่อมวลชนแถลงข่าวการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ในวันเดียวกัน (16 ก.ย.) เวลา 14.00 น. ผ่านระบบ Zoom แต่ก่อนถึงกำหนดเวลาแถลงข่าว รฟม. ได้แจ้งสื่อมวลชนยกเลิกการแถลงข่าวอย่างกะทันหัน และไม่มีการแจ้งสาเหตุการยกเลิกแถลงข่าวดังกล่าวแต่อย่างใด
ทั้งนี้ คณะกรรมการคัดเลือก ตามมาตรา 36 ในการพิจารณาเห็นชอบ ผลประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ครั้งที่ 2 ประกอบด้วย
1. นายกิตติกร ตันเปาว์ รองผู้ว่าการ รฟม. ประธานกรรมการ
2. นายกิติพันธ์ ปานจันทร์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง กรรมการผู้แทนกระทรวงคมนาคม
3 .นางนัทีวรรณ สีมาเงิน รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ผู้แทนสคร.
4.นายกิติศักดิ์ ปั้นประดิษฐ์ ผู้อำนวยการกองจัดทำงบประมาณด้านเศรษฐกิจ ผู้แทนสำนักงบประมาณ
5.นายณัฐ นาคธรณินทร์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒาโครงการรถไฟฟ้า กรรมการและเลขานุการ รฟม.
6.ดร.ไกร ตั้งสง่า กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
7. ศ.ดร.นพดล เพียรเวช กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
8. นายประสิทธิ์ ศิริภากรณ์ รองอัยการสูงสุด ผู้แทนสำนักอัยการสูงสุด