“บ.วงษ์สยามฯ” เปิดใจเคลียร์โดนกล่าวหาตุกติกแบ่งชำระทำสัญญาท่อส่งน้ำ EEC

"บ.วงษ์สยามฯ" เปิดใจเคลียร์โดนกล่าวหาตุกติกแบ่งชำระทำสัญญาท่อส่งน้ำ EEC

ติดตามต่อเนื่องกับประเด็นปัญหาการประมูล จัดให้เช่า/บริหารระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก หรือ EEC หลังจากศาลปกครองนัดไต่สวนครั้งแรก ( วันที่ 15 ก.ย. 2565 ) และมีแนวทางชัดเจนในการพิจารณาคดีโดยเร็ว โดยการกำหนดให้คู่ความทั้ง 2 ฝ่าย เร่ง จัดส่งข้อมูล เอกสาร หลักฐาน โต้แย้ง อื่น ๆ ให้เสร็จสิ้นภายใน 7 วัน เพื่อนำไปสู่การอ่านคำพิพากษาให้เสร็จสิ้นภายในเดือน พ.ย. 2565 เพราะไม่ต้องการให้เกิดผลกระทบกับขั้นตอนการผลิตส่งน้ำ ตามที่ศาลปกครองเคยมีหนังสือแจ้งไว้ก่อนหน้า และ ที่ผ่านมากระบวนการพิจารณายืดเยื้อมานาน เนื่องจากทางฝั่งกรมธนารักษ์ ในฐานะผู้ถูกร้องส่งเอกสาร ประกอบการพิจารณาไม่ครบถ้วน และ ขออนุญาตศาลปกครองเลื่อนนำส่งหลายครั้ง

อย่างไรก็ตามกับกรณีข้อมูลการไต่สวนที่ผ่านมา พบว่า องค์คณะตุลาการได้ซักถามกรมธนารักษ์ ใน 3 จุดสำคัญ คือ

1.ประเด็นเรื่องการแบ่งชำระค่าแรกเข้าเป็น 2 งวด จากเดิมมีการกำหนดไว้ใน TOR ต้องชำระในงวดเดียว (หรือไม่ได้มีข้อกำหนดใด ๆ ให้สามารถแบ่งชำระเป็นงวด ๆ ) โดยมีจำนวนการชำระค่าแรกเข้าเพื่อทำสัญญา ไม่น้อยกว่า 482,713,600 บาท

และทางกรมธนารักษ์ ชี้แจงว่า ในวันเซ็นสัญญากับบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ซึ่้งต้องเป็นผู้เสนอค่าแรกเข้าเพื่อทำสัญญา ปรากฎว่าในประชุมครั้งที่ 7 กรมธนารักษ์ มีการพิจารณาให้บริษัทวงษ์สยาม ก่อสร้าง สามารถแบ่งชำระเป็น 2 งวด คือ ครั้งที่ 1 จำนวน 580 ล้านบาท (หรือคิดเป็น ร้อยละ 40) ในวันลงนามสัญญา และ ครั้งที่ 2 จำนวน 870 ล้านบาท (หรือ คิดเป็น ร้อยละ 60) กำหนดให้ชำระเมื่อรับโอนท่อส่งน้ำเรียบร้อย ยกเว้นกรณีการรับโอนท่อส่งน้ำในวันเดียวกับการลงนามสัญญา ต้องจ่าย ค่าแรกเข้าเพื่อทำสัญญา ทั้ง 2 งวดพร้อมกัน

ส่วนเหตุผลในการตัดสินใจให้มีการแบ่งชำระเป็น 2 งวด เนื่องจาก กรมธนารักษ์ เพิ่งรับทราบข้อมูลว่า อาจเกิดปัญหาการส่งมอบท่อล่าช้าจาก อีสท์ วอเตอร์ จึงพิจารณาเรื่องการแบ่งชำระ และได้ส่งให้รายละเอียดให้อัยการ ตรวจสอบร่างสัญญาใหม่แล้ว และยืนยันว่าไม่ได้ทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบแต่อย่างใดในการประมูล เนื่องจากเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นภายหลังจากการประมูลเสร็จสิ้นแล้ว

2.ประเด็นเรื่องการแบ่งชำระ ตุลาการศาลปกครอง ซักถามว่า ที่ผ่านมา มีโครงการใดบ้าง ที่กรมธนารักษ์ อนุมัติให้จัดแบ่งชำระค่าแรกเข้าเพื่อทำสัญญา

กรณีดังกล่าว กรมธนารักษ์ ชี้แจงว่าโครงการท่อส่งน้ำ EEC นี้ เป็นโครงการเดียวที่มีการเจรจาอนุญาตให้แบ่งชำระ เนื่องจากกฎกระทรวงได้ออกข้อกำหนดใหม่มาในปี 2564 ส่วนโครงการอื่น ๆ ที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน ได้แก่ สนามกอล์ฟบางพระ ซึ่งกำหนดไว้ใน TOR ตั้งแต่แรกว่าสามารถผ่อนจ่ายได้ แต่ไม่ได้ดำเนินการต่อจนแล้วเสร็จ เนื่องจากมีปัญหาแบงก์การันตีปลอม

3.ประเด็นข้อกล่าวอ้าง เรื่องมติครม.ให้อำนาจกรมธนารักษ์ สามารถดำเนินการประมูลโครงการท่อส่งน้ำ EEC ได้ ทั้ง ๆ ที่เดิมอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของ อีสท์ วอเตอร์ ซึ่งมีการประปาส่วนภูมิภาค(กปภ.) และ และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ เป็นผู้ถือหุ้นหลัก

กรมธนารักษ์ ชี้แจงว่า จากมติครม. ปี 2535 เพื่อก่อตั้ง บริษัท อีสท์ วอเตอร์ นั้น ต่อมาได้มีมติ ครม. ปี 2539 เห็นชอบให้ อีสท์ วอเตอร์ พ้นจากความเป็นรัฐวิสาหกิจแล้ว จึงต้องปฏิบัติตามพ.ร.บ.ร่วมลงทุน และ พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ

ส่วน มติ ครม. ปี 2543 ในการอนุมัติให้อีสท์ วอเตอร์ ทำสัญญาเช่าท่อน้ำ หนองปลาไหล-หนองค้อ โดยไม่ต้องประมูล ตาม พ.ร.บ.ร่วมลงทุน ปี 2535 นั้น ถือเป็นแนวนโยบายซึ่งต้องไม่ขัดกับกฎหมายในปัจจุบันด้วย อย่างไรก็ตาม จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีมติครม.ใด ๆ เพิ่มเติม หลังจากการให้ยกเลิกมติ ครม.เดิมที่กล่าวมา

 

ข่าวที่น่าสนใจ

ล่าสุด นายอนุฤทธิ์ เกิดสินธ์ชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ในฐานะผู้ร้องสอดคดี เปิดเผยกับทีมข่าว TOPNEWS ถึงกรณีมีกระแสข่าวออกไปว่า บริษัท วงศ์สยามก่อสร้าง ได้ขอผ่อนชำระ-แบ่งชำระ ค่าแรกเข้าเพื่อทำสัญญา จำนวนเงิน 1,450 ล้านบาท ขอชี้แจงข้อเท็จจริงตามที่เอกสารไว้ชัดเจนตั้งแต่แรก ว่า ค่าแรกเข้าเพื่อทำสัญญา มีการระบุชัดเจน ในกรณีค่าแรกเข้า ถ้าบริษัทได้ลงนามสัญญาและได้รับบริหารโครงการ ก่อให้เกิดรายได้ ณ วันที่เข้าบริหารโครงการฯ บริษัทจึงจะจ่ายค่าแรกเข้าเต็มจำนวน แต่ที่ผ่านมามีเหตุการณ์บางอย่าง อย่างกรณี เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2564 ซึ่งผู้ฟ้องคดีขอศาลคุ้มครองชั่วคราว และศาลได้มีการยกคำร้อง แต่ในส่วนคดีหลักยังมีการเก็บไว้พิจารณา

โดยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จากเดิมบริษัทจะมีการลงนามในเดือน มี.ค. บริษัทไม่มีท่าทีในการส่งมอบพื้นที่ให้บริษัท ทำให้ในเดือน ต.ค. บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จึงตัดสินใจทำหนังสือเป็นข้อตกลงออกมา 2 แบบ และ กรมธนารักษ์ เห็นชอบตามข้อเสนอที่วงษ์สยามก่อสร้างยื่นไป คือ บริษัทยินดีจ่ายเต็มจำนวน ถ้าการดำเนินทั้งหมด เกิดขึ้นตามขั้นตอน แต่ที่ผ่านมาเราได้เห็นปัญหา ในวันลงนามและวันส่งมอบ จึงเป็นที่มาของการทำข้อตกลงออกเป็น 2 กรณี

“ยืนยันว่า การที่บริษัทจ่ายเงินค่าแรกเข้าในวันทำสัญญานั้น เป็นการจ่ายเงินล่วงหน้า ไม่ใช่การแบ่งจ่ายหรือ ผ่อนชำระ ให้แก่กรมธนารักษ์ ทั้งที่บริษัทยังไม่ได้รับสิทธิ์ในการบริหาร ซึ่งจะได้รับเมื่อมีการส่งมอบพื้นที่ ดังนั้น การที่บริษัท จ่ายเงินล่วงหน้า 850 ล้านบาทในวันทำสัญญา ทั้งที่ ยังไม่ได้เข้าบริหารถือว่าเป็นการเสียเปรียบ เพราะบริษัทจะต้องมีการจ่ายดอกเบี้ยของเงินดังกล่าว เช่นเดียวกัน การซื้อคอนโดมิเนียม หรือ ซื้อบ้าน ที่มีการจ่ายเงินล่วงหน้า หรือมัดจำ”

 

 

สาเหตุของการจ่ายเงินล่วงหน้านั้น มาจากการที่กรมธนารักษ์ได้มีการทำหนังสือถึงบริษัทผู้ประกอบการรายเดิม ให้ส่งมอบพื้นที่ ซึ่งผู้ประกอบการรายเดิมได้ตอบปฏิเสธกลับมาว่า ยังไม่มีความพร้อมในการส่งมอบพื้นที่ จึงได้มีการหารือกับกรมธนารักษ์เรื่องการปรับสัญญาภายใต้กฎหมายของกฎกระทรวงจัดหาประโยชน์ที่ราชพัสดุ ข้อ 32 ที่ระบุว่า เมื่อได้รับผลการคัดเลือกที่เอกชน ผ่านการเจรจา ซึ่งได้รับการคัดเลือกแล้วให้คณะกรรมการคัดเลือกรายงานการดำเนินการและผลการคัดเลือกเอกชน ร่างสัญญาเช่าหรือสัญญาต่างตอบแทนอื่นที่ผ่านการเจรจากับเอกชนซึ่งได้รับคัดเลือกและเงื่อนไขสำคัญของสัญญาให้คณะกรรมการที่ราชพัสดุพิจารณาให้ความเห็นชอบ

ในกรณีที่ร่างสัญญาที่ผ่านการเจรจากับเอกชนตามวรรคหนึ่งมีสาระสำคัญของสัญญาแตกต่างไปจากร่างสัญญาที่สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณาแล้วให้ส่งร่างสัญญาดังกล่าวให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณาก่อนที่จะเสนอคณะกรรมการที่ราชพัสดุพิจารณา ซึ่งทุกกระบวนการได้ดำเนินการไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ไม่ได้ดำเนินการนอกเหนือข้อกฎหมายแต่อย่างใด

โดยในเอกสารแนบได้ระบุว่า ข้อ 1 ในกรณีที่วันลงนามในสัญญาและวันที่คู่สัญญาฝ่ายรัฐได้ส่งมอบระบบท่อส่งน้ำทั้งสองโครงการเป็นวันเดียวกันบริษัทต้องชำระค่าแรกเข้าเพื่อทำสัญญาให้แก่คู่สัญญาฝ่ายรัฐเป็นเงิน 1450 ล้านบาทในวันลงนาม ซึ่งยินดีรับข้อเสนอนี้

ข้อ2 กรณีวันที่คู่สัญญาฝ่ายรัฐได้ส่งมอบระบบท่อส่งน้ำทั้งสองโครงการเป็นวันภายหลังจากวันลงนามในสัญญาบริษัทต้องชำระค่าแรกเข้าเพื่อทำสัญญาให้แก่ผู้สัญญาฝ่ายรัฐ 1450 ล้านบาทเป็นสองงวดดังนี้ งวดที่หนึ่งบริษัทต้องชำระค่าแรกเข้าเพื่อทำสัญญาให้คู่สัญญาฝ่ายรัฐร้อยละ 40 ของค่าแรกเข้าเพื่อทำสัญญาเป็นเงินจำนวน 580 ล้านบาทในวันลงนามในสัญญาส่วนงวดที่2 บริษัทต้องชำระค่าแรกเข้าเพื่อทำสัญญาให้คู่กรณีฝ่ายรัฐร้อยละ 60 ของค่าแรกเข้าเพื่อทำสัญญาเป็นเงินจำนวน 870 ล้านบาทในวันที่คู่สัญญาฝ่ายรัฐได้ส่งมอบระบบท่อส่งน้ำทั้งสองโครงการแล้ว

 

 

นายอนุฤทธิ์ ยืนยัน การจ่ายเงินล่วงหน้า 580 ล้านบาท ไม่ได้ผิดเงือนไขสัญญา เพราะในสัญญาระบุให้บริษัทจ่ายเงินขั้นต่ำ 482 ล้านบาท จึงไม่ผิดสัญญาใดๆ

ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดข้อสงสัย เหตุใด วงษ์สยาม จึงไม่ดำเนินการจ่ายค่าแรกเข้าทั้งจำนวน 1450 ล้านบาท นายอนุฤทธิ์ กล่าวว่า หากบริษัทจะจ่ายค่าแรกเข้าเต็มจำนวนนั้น บริษัทจะต้องได้รับสิทธิ์ในการบริหารจัดการโครงการฯ ทั้งหมดทันที รัฐส่งมอบการบริหาร เพื่อจะหารายได้ ขณะที่ในวันลงนามสัญญายังไม่มีบริหาร และบริษัทยังหารายได้ไม่ได้ หากบริษัทจ่ายเงินค่าแรกเข้าเต็มจำนวน แต่อีก 2 ปี จึงสามารถเข้าบริหารได้ บริษัทก็ต้องจ่ายดอกเบี้ยเป็นจำนวนเงินมหาศาล จึงเป็นที่มาของการจ่ายเงินมัดจำล่วงหน้า

โดยพื้นที่โครงการบริการจัดการน้ำของของกรมธนารักษ์ จะประกอบไปด้วย 2 ส่วน คือ ส่วนที่ไม่มีสัญญา และส่วนที่มีสัญญา ซึ่งในส่วนที่ไม่มีสัญญาสามารถส่งมอบพื้นที่ได้ทันที ภายใต้กฎหมายคือ การบอกกล่าวล่วงหน้าผู้ประกอบการรายเดิมเพื่อส่งมอบพื้นที่ ยืนยัน ในการให้ส่งมอบพื้นที่นั้น เป็นการส่งมอบพื้นที่ในส่วนที่ไม่มีสัญญาสัมปทาน ส่วนพื้นที่ที่มีสัญญาสัมปทานนั้น ได้มีการระบุวันที่ชัดเจนคือ 1 ม.ค. 2567 ซึ่งบริษัทจะทำการเข้าดำเนินการทันที

ผู้สื่อข่าวได้ถามถึงกรณีที่สังคมมอง บริษัทวงษ์สยาม ที่ชนะการประมูลครั้งนี้ว่า เป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจ เนื่องจาก อีสท์ วอเตอร์ ได้ มีการลงทุนวางระบบท่อส่งน้ำไว้แล้ว และวงษ์สยามเข้ามาบริหารต่อโดยไม่ต้องลงทุน นายอนุฤทธิ์ ระบุว่า ในโครงการดังกล่าว ทางด้านของอีสท์ วอเตอร์ ไม่ได้มีการวางระบบท่อส่งน้ำ โดยท่อทั้งหมดเป็นของกรมธนารักษ์ที่ได้วางไว้แล้ว และท่อแขนงส่วนใหญ่ ผู้ใช้น้ำจะเป็นผู้ลงทุนวางระบบท่อเอง มีเพียงท่อแขนงเพียง 2-3 เส้นเท่านั้น ที่อีสท์ วอเตอร์เป็นผู้วางระบบ ซึ่งบริษัทได้มีการเตรียมความพร้อมในการวางท่อทดแทนส่วนนี้ไว้แล้ว จึงไม่เกิดปัญหาอย่างแน่นอน

 

 

 

ส่วนความคืบหน้าการไต่สวน และแนวทางการดำเนินการในอนาคต หากศาลยังมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ไม่ให้มีการลงนามเซ็นสัญญา นายอนุฤทธิ์ ให้ความเห็นว่า ต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาลปกครอง แต่ส่วนตัวมองว่าเอกสารที่บริษัทวงษ์สยามฯ ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ค่อนข้างมีความชัดเจนและมั่นใจศาลปกครองจะเข้าใจในประเด็นชี้แจงที่บริษัทนำเสนอ

อีกทั้งหากการพิจารณาของศาลปกครองยืดเยื้อออกไป นายอนุฤทธิ์ ยอมรับว่า บริษัทจะได้รับความเสียหายแน่นอน โดยการคำนวณเม็ดเงินความเสียหายที่เกิดขึ้นในแต่ละวันไว้แล้ว และหากคดีออกมาผลจะเป็นอย่างไร ไม่ว่าจะเเพ้หรือชนะ บริษัท จะมีการเรียกค่าเสียหายแน่นอน เพราะขณะนี้บริษัทได้มีการดำเนินการเรื่องของการลงทุนแล้ว ส่วนจะเรียกค่าเสียหายกับฝ่ายไหนนั้น จะต้องพิจารณาว่า ใครเป็นผู้ประวิงเวลาในการลงนามสัญญา และต้องดูในเรื่องของข้อกฎหมายอีกครั้ง

ส่วนการยื่นคำร้องอุทธรณ์ ระงับการเซ็นสัญญา บริษัทได้ยื่นอุทธรณ์ ต่อศาลปกครองไว้ ตั้งแต่วันที่ 15-17 ส.ค.ที่ผ่านมาแล้ว และในกรณีถ้าศาลปกครองยังยื่นคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ทางบริษัทวงษ์สยามก่อสร้าง จะได้มีการหารือประเด็นนี้กับกรมธนารักษ์อีกครั้ง

กระนั้นโดยข้อเท็จจริง บทสรุปของปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากปมขัดแย้ง การประมูล จัดให้เช่า/บริหารระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก หรือ EEC ตั้งแต่ต้น จนถึงวันนี้ ดีที่สุดทุกฝ่ายควรรอผลคำพิพากษาศาลปกครองในการวินิจฉัยคำร้องต่าง ๆ ส่วนผู้เกี่ยวข้องทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะกรมธนารักษ์ ควรทำหน้าที่ในการจัดส่งเอกสาร หลักฐาน เพื่อประกอบการพิจารณาของศาลปกครองให้ครบถ้วนโดยเร็ว

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

“เอกภพ” ได้ประกันตัว ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ปมให้ข้อมูลเท็จดิไอคอน จ่อฟ้องกลับ
สามเชฟดังร่วมรังสรรค์เมนูเพื่อการกุศลทางการแพทย์
"ทนายบอสพอล" เผยเป็นไปตามคาด "เอก สายไหม" ถูกจับ จ่อดำเนินคดีหมิ่นประมาท เรียกค่าเสียหาย 100 ล้าน
ศาลออกหมายจับ 'เจ๊หนิง' พร้อมสามีและหลาน ร่วมกันแจ้งความเท็จ 'ภรรยาบิ๊กโจ๊ก'
อิสราเอลถล่มเลบานอนดับครึ่งร้อย
หมายจับ ICC กระทบอิสราเอลอย่างไร
เปิดวิสัยทัศน์ประธานเครือข่ายธุรกิจ Bizclub นครราชสีมาคนใหม่ “กิม ฐิติพรรณ จันทร์ประทักษ์”
เกาหลีใต้ชี้รัสเซียส่งระบบป้องกันภัยทางอากาศให้เกาหลีเหนือ
สหรัฐเมินไฮเปอร์โซนิครัสเซียลั่นไม่หยุดหนุนยูเครน
เมียเอเย่นต์ค้ายาบ้า ร้องถูกตร.รีด 5 แสน แลกปล่อยตัว พ่วงเรียกเก็บเงินรายเดือน

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น