จากกรณีทีแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์กลับมาอาละวาดหนักอ้างเป็นกรมสรรพากร หรือหน่วยงานต่างๆ หลอกให้เหยื่อดาวน์โหลดแอปฯและกดลิงค์ ก่อนจะถูกดูดเงินในบัญชีออกจนหมด
ล่าสุดวันที่ 21 ก.ย. 65 ทีมข่าว Top News ได้สัมภาษณ์ พลตำรวจโทกรไชย คล้ายคลึง ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ถึงวิธีการดูดเงินออกจากบัญชีของพวกแก๊งมิจฉาชีพเหล่านี้ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร
โดย พล.ต.ท.กรไชย เปิดเผยว่า จากกรณีดังกล่าวที่เกิดขึ้นกับประชาชนนั้น ในตามหลักความเป็นจริงแล้วไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลย หากไม่กดเข้าไปในลิงค์และกรอกข้อมูลหรือส่งข้อมูล ตามที่แก๊งมิจฉาชีพหลอกให้ทำตามขั้นตอน ซึ่งกรณีแบบนี้เคยมีเกิดขึ้นมาแล้วในคดีบัตรเครดิต มูลค่าความเสียหายหลักพันล้าน ส่วนใหญ่ผู้เสียหายจะถูกหลอกโดยการคลิกลิงค์ที่เข้าไปสู่เว็บไซต์เว็บนึง และถูกควบคุมโดยแก๊งมิจฉาชีพที่ใช้โปรแกรมควบคุมจากระยะไกล ระหว่างที่ผู้เสียหายกดลิงค์เข้าไปแล้วมิจฉาชีพก็จะทำการพูดจาหว่านล้อมและล่อลวงให้กรอกข้อมูลต่างๆลงไป อาทิเช่น ข้อมูลที่อยู่อาศัย, เลขหลัก 13 ตัวของบัตรประชาชน, เลขหลังบัตรเอทีเอ็ม และรหัส OTP ที่เป็นข้อความเด้งกลับมา หรือพวกมิจฉาชีพบอกรหัส ซึ่งเป็นการเปลี่ยนจากรหัสของผู้เสียหายมาเป็นของแก๊งมิจฉาชีพ เมื่อมีข้อมูลที่เพียงพอสำหรับ Hacking มือถือได้ รหัส E-Banking ที่มีข้อมูลอยู่ในนั้นก็เป็นเรื่องง่ายสำหรับแก๊งมิจฉาชีพ ซึ่งจากการสอบปากคำผู้เสียหายทั้งหมด ทำให้รู้ว่า ผู้เสียหายนั้นหลงเชื่อและได้มีการกรอกข้อมูลตามขั้นตอนที่พวกแก๊งมิจฉาชีพบอกให้ทำจริง
หลังจากแก๊งมิจฉาชีพได้เงิน ก็จะทำการโอนเงินเข้าสู่บัญชีม้าและกดเงินออกตามตู้เอทีเอ็มตามตะเข็บชายแดน หรือ นำเงินไปซื้อหุ้นในตลาด Crypto หรือตลาดหลักทรัพย์ ให้เปลี่ยนจากเงินสดมาเป็นหุ้นยากต่อการติดตาม แต่ก็ไม่เกินความสามารถตำรวจ ซึ่งได้ประสานทำงานร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ที่อาจมีบางบริษัทจดขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง ทำให้ง่ายต่อการติดตามว่า ปลายทางของเงินไปอยู่ที่ใด
โดยวิธีการเหล่านี้เป็นขั้นตอนของพวกมิจฉาชีพ ที่มีหลักอยู่ 3 ข้อ คือ ขู่ให้กลัว, ทำให้โลภ และหลอกให้รัก Romance scam ไปสู่การลงทุนที่สูงขึ้น Hybrid scram สิ่งที่จะต้องระมัดระวังในโลกไซเบอร์ก็คือ “สติ” หากสงสัยจะต้องทำการเช็คกับทางหน่วยงานเสียก่อน ซึ่งไม่มีหน่วยงานราชการไหนให้ทำเรื่องธุรกรรมผ่านทางการกดลิงค์