เซอร์ไพรส์ต่อเนื่อง กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ เผยภาพถ่ายวงแหวน "ดาวเนปจูน" ชัดที่สุดในรอบ 30 ปี
ข่าวที่น่าสนใจ
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เผยข่าวดี! เอาใจสายคอดาราศาสตร์โดยเฉพาะ หลัง NASA เผยภาพวงแหวน “ดาวเนปจูน” ชัดที่สุดในรอบ 30 ปี จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ โดยระบุว่า
นี่คือ ภาพถ่ายดาว เนปจูนจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ แสดงให้เห็นวงแหวนล้อมรอบดาวอย่างชัดเจน พร้อมกับดวงจันทร์บริวารอีก 7 ดวง นับว่าเป็นภาพถ่ายวงแหวนของดาว เนปจูนที่ชัดที่สุดในรอบ 30 ปีเลยทีเดียว
เรารู้ว่าดาวเคราะห์แก๊สในระบบสุริยะของเรามีวงแหวนล้อมรอบ แต่นอกจากดาวเสาร์แล้วก็อาจไม่ค่อยได้เห็นวงแหวนของดาวดวงใดเป็นที่ประจักษ์มากนัก รวมถึงดาว เนปจูนที่เป็นดาวเคราะห์ลำดับสุดท้ายในระบบสุริยะด้วย
ดาวดวงนี้อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ประมาณ 30 เท่าของระยะห่างจากโลกถึงดวงอาทิตย์ ไกลขนาดที่ว่าที่ระยะห่างนี้ดวงอาทิตย์จะเห็นเป็นเพียงจุดสว่างเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม เราเคยเห็นวงแหวนของดาว เนปจูนครั้งหนึ่งเมื่อครั้งที่ยานวอยเอจเจอร์ 2 บินเฉียดและถ่ายภาพดาว เนปจูนในระยะใกล้กลับมาให้เราชมกันเมื่อปี ค.ศ. 1989 ซึ่งก็เมื่อ 30 ปีผ่านมาแล้ว
บรรยากาศของดาว เนปจูน มีแก๊สมีเทนเป็นองค์ประกอบเจือปน ซึ่งจะดูดกลืนแสงสีแดงและแสงอินฟราเรดได้ดี ทำให้ดาวมีลักษณะปรากฏเป็นสีฟ้า-สีน้ำเงิน
สำหรับภาพประวัติศาสตร์ล่าสุดนี้บันทึกด้วยกล้อง NIRCam ของเจมส์ เวบบ์ เก็บข้อมูลในช่วงคลื่นอินฟราเรดใกล้ 0.6 – 5 ไมครอน ซึ่งเป็นช่วงคลื่นที่ตามนุษย์ไม่สามารถมองเห็นได้ ภาพที่ได้จึงไม่ได้ปรากฏเป็นสีฟ้าหรือสีนำ้เงินเหมือนที่ได้จากกล้องโทรทรรศน์แห่งอื่น
จากภาพแสดงให้เห็นแนวเส้นสว่างบน “ดาวเนปจูน” เป็นแถบเมฆที่บรรยากาศชั้นสูงของดาว และเป็นครั้งแรกที่ค้นพบว่าบริเวณขั้วใต้ของดาวมีแถบเมฆต่อเนื่องปกคลุมเป็นแนวยาว ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ยังตั้งข้อสังเกตอีกว่า บริเวณใกล้ ๆ กับขั้วเหนือของดาวมีความสว่างมากกว่าบริเวณอื่น ทั้งนี้ ยังไม่สามารถระบุได้ว่าเกิดจากกระบวนการใด
นอกจากนี้ ในภาพนี้ยังมีดวงจันทร์บริวารของดาว เนปจูนอยู่อีก 7 ดวงด้วย (จากทั้งหมด 14 ดวง) โดยมีดวงจันทร์ไทรทันอยู่บริเวณมุมซ้ายบนของภาพ นี่คือ ดาวบริวารที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของดาว เนปจูน พื้นผิวสะท้อนแสงและรังสีอินฟราเรดที่ได้รับจากดวงอาทิตย์ได้ดีมาก จึงปรากฏให้เห็นได้อย่างชัดเจนในภาพนี้ ขณะที่ดวงจันทร์ขนาดเล็กอีก 6 ดวงจะเป็นจุดสว่างเล็ก ๆ ที่อยู่ใกล้กับวงแหวนดาว เนปจูน
ข้อมูล : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
รูปภาพ : NASA
ข่าวที่เกี่ยวข้อง