พลโท นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า “เรื่องนี้ควรจบเสียที” การทำงานของรัฐบาลอังกฤษ ตามแผนการปฏิบัติต่างๆ ในงานพระราชพิธีพระบรมศพของควีนเอลิซาเบธที่ 2 ซึ่งรัฐบาลอังกฤษในฐานะผู้ดำเนินงานหลักนั้น ได้รับความกดดันอย่างหนักจากหลายฝ่าย เนื่องมาจากมีการกำหนดมาตราการ รปภ. อย่างเข็มงวดมากกว่าทุกงาน ที่เคยจัดขึ้นมาในกรุงลอนดอน และยังมีการนำปัญหาทางการเมืองระหว่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เช่น
1. การห้ามบางประเทศไม่ให้เข้าร่วมพระราชพิธีเนื่องจากสาเหตุทางการเมืองระหว่างประเทศ
2. ข้อจำกัดการเดินทางเข้าร่วมพระราชพิธีของประมุขประเทศต่างๆ
เช่น การห้ามเดินทางด้วยเครื่องบินส่วนตัว (ยกเว้นประเทศที่ได้รับอนุญาต) เพราะจะทำให้การจราจรทางอากาศคับคั่งมากถ้าประมุขทุกประเทศใช้ เครื่องบินส่วนตัวเหมือนกันหมด พร้อมกับห้ามใช้รถยนต์ส่วนตัวเดินทางเข้าร่วมพระราชพิธี โดยให้นำรถส่วนตัวไปจอดไว้ที่โรงพยาบาลหลวงเชลซี จากนั้นใช้รถบัสรวมเดินทางมาที่บริเวณพระราชพิธีร่วมกัน เพื่อการ รปภ.จะทำได้ง่ายขึ้น
ข้อจำกัดเหล่านี้ ถือได้ว่าเป็นข้อห้ามที่จำเป็น เพราะ
(1) อังกฤษเป็นประเทศที่เป็นเป้าหมายของการก่อการร้ายเป็นอันดับ 2 รองลงมาจากสหรัฐฯ แม้กรุงลอนดอนจะได้ชื่อว่าเป็นเมืองหลวงที่ปลอดภัยที่สุดเพราะมีกล้องวงจรปิดชนิดระบุอัตลักษณ์ได้จำนวนมาก เปรียบเทียบว่า “ถ้าเดินอยู่ในลอนดอน ไปตรงไหนก็จะมีกล้องวงจรปิดจับอยู่ที่ตัวเราในมุมต่างๆ อย่างน้อย 5 กล้องขึ้นไป” แต่ระบบ รปภ.ดังกล่าวก็มีขีดจำกัดในเรื่องการรองรับปริมาณคนเช่นกัน จึงอาจไม่สามารถจะดูแล VVIP และคณะผู้ติดตามซึ่งมีจำนวนมากได้อย่างครบถ้วน
(2) พื้นที่จัดงานมีขนาดจำกัดไม่เพียงพอกับจำนวนผู้ที่เข้าร่วมงาน ประกอบกับทางรัฐบาลอังกฤษก็ไม่สามารถจะควบคุมประชาชนที่อยู่บริเวณโดยรอบสถานที่จัดงานได้ทุกคน ซึ่งคาดว่าจะมีพสกนิกรเข้าร่วมงานประมาณ 350,000 คนขึ้นไป
(3) กำลังตำรวจและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมพื้นที่ไม่เพียงพอ