จากบทตอนหนึ่งที่ ผู้พันเบิร์ด พันเอก วันชนะ สวัสดี จิตอาสา 904 บรรยายให้กับ สมาคมกำลังสำรองรักษาดินแดนไทย และ นักเรียนช่างฝีมือทหาร ได้ฟัง ถึงเรื่องราวของ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ใจความระบุว่า…
ทราบข่าวการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และได้นึกถึงการครองราชที่ยาวนานผ่านเรื่องราวที่ต้องใช้ความอุตสาหะ วิริยะ ทำให้ผมหวนคิดถึงสมเด็จย่า สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ย่าของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ตลอดพระชนชีพของพระองค์จะต้องเผชิญกับช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อของบ้านเมืองกับสถานการณ์การเมืองโลก และการเมืองภายในประเทศไทย
คำว่า “สมเด็จย่า” นี้ได้แสดงออกถึงความผูกพันระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับปวงชนชาวไทยได้เป็นอย่างดี ผ่านความสวยงามทางภาษาและสถานะความเป็นครอบครัวของคนไทย เพราะสมเด็จย่านี้เป็นย่าของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ คนไทยนับถือพระองค์เป็นย่าด้วย เช่นกัน ดังนั้น ปวงชนชาวไทยกับสถาบันก็เปรียบเสมือนครอบครัว
แม่ฟ้าหลวง เป็น คำสามัญที่ปวงชนชาวไทยเรียกพระองค์ เกิดจากภาพคุ้นชินที่ เกิดจากการพระราชทานความช่วยเหลือของพระองค์ต่อพสกนิกรที่อยู่ในถิ่นทุรกันดารทางภาคเหนือ และตามแนวชายแดน คำว่าแม่นั้น เป็นคำที่ยิ่งใหญ่มีความหมายสำหรับคนไทยอยู่แล้ว แม่คือผู้มีพระคุณ เลี้ยงดูเรา เป็นหญิง ผู้หญิงผู้ให้กำเนิด เราจึงนำคำว่าแม่ไปใช้กับสิ่งที่มีคุณค่าและยกย่อง เช่น แม่น้ำ แม่ทัพ แม่พิมพ์ เป็นต้น คำว่าฟ้า คือ การช่วยเหลือของพระองค์ในพื้นที่สูง ทางตอนเหนือของไทย ต้องผ่านทาง ฮ. พระที่นั่ง นั่นก็หมายถึง การช่วยเหลือมาจากฟ้า ส่วนคำว่าหลวงนั้นชัดเจนว่าหมายถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ราชการ ราชะ กับ การ คือ งานของพระราชา งานของในหลวง