วันที่ 23 ก.ย.65 รศ.ดร.เสรี วงษ์มณฑา ประธานกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ ในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนและการตลาด เปิดเผยว่า ณ เวลานี้คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ส่งหนังสือตอบกลับ กสทช.ตามที่ได้ขอให้ศึกษาประเด็นการควบรวมกิจการทรู-ดีแทค โดยมีความเห็นว่าการดำเนินการใด ๆ ที่เกี่ยวกับกรณีการรวมธุรกิจ ต้องดำเนินการตามประกาศฉบับปี 2561 ที่ยังมีผลบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยกำหนดให้การรวมธุรกิจกระทำได้ และมีข้อกำหนดว่าจะต้องจัดทำรายงานส่งให้ กสทช.ทั้งนี้สามารถทำได้ทั้งล่วงหน้าและหลังการควบรวม และให้ถือว่ารายงานดังกล่าวเป็นการขออนุญาตไปในตัวเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ควบรวมธุรกิจ ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาสอดคล้องและตรงกับผลการศึกษาของจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยที่ กสทช.มอบหมายให้ทำการศึกษาประเด็นการควบรวมกิจการทรู-ดีแทค
“ส่วนตัวมองว่าการควบรวมระหว่างทรู-ดีแทคยืดเยื้อมานานแล้ว เมื่อมีความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาดังกล่าว ก็จะได้มีทางออกเสียที เมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกาได้กรุณาพิจารณาชี้แนะทางออกตามที่กสทช.ร้องขอ เรามั่นใจว่า กสทช. จะให้เกียรติและรับฟังความคิดเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา และจะไม่เดินตามเกมกดดันของกลุ่มต่าง ๆ อีกต่อไป โดยเฉพาะรักษาการแทน เลขาธิการกสทช. ผู้มีบทบาทสำคัญไม่แพ้กรรมการ กสทช. ที่ผ่านมา ท่านได้รับความกดดันจากหลายฝ่าย เราขอให้กำลังใจท่านในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายต่อไปอย่างเต็มที่ เราเชื่อว่าคนดีย่อมทำสิ่งที่ดี ที่เหมาะที่ควร และคนดีตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้”
นอกจากนี้ รศ.ดร.เสรี ยังเชื่อมั่นว่าการควบรวมมีประโยชน์กับหลายฝ่ายมากกว่าจะเป็นโทษใด ๆ สำหรับผู้บริโภคพวกเขาจะได้บริการที่ดีขึ้น และจะได้ประโยชน์จากการแข่งขันด้านราคาที่มีแนวโน้มว่าจะเข้มข้นขึ้นมากกว่าเดิม สำหรับผู้ประกอบการพวกเขาจะมีศักยภาพในการแข่งขันในระดับโลกาภิวัตน์ที่ดีขึ้น เพราะเป็นการควบรวมระหว่างบริษัทไทยและบริษัทของยุโรป ทำให้เกิดการแบ่งปันข้อมูล แบ่งปันความรู้ และภูมิปัญญา ใช้เทคโนโลยีร่วมกัน สามารถลดต้นทุนในการแสวงหานวัตกรรมเพื่อนำเสนอสิ่งใหม่ ๆ ที่ดีกว่าให้แก่ผู้บริโภค เป็นการเพิ่มศักยภาพให้แก่บริษัทที่มีคนไทยเป็นเจ้าของในเวทีโลก และที่แน่นอนที่สุดคือประเทศชาติจะได้ประโยชน์จากการที่บริษัทสัญชาติไทยมีศักยภาพด้านการแข่งขันในเวทีโลก