ถึงแม้จะอยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาลปกครอง ก่อนพิพากษาคำฟ้อง ประเด็นปัญหาการประมูล โครงการจัดให้เช่า/บริหารระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก หรือ EEC แต่ล่าสุด นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมธนารักษ์ และ นายอนุฤทธิ์ เกิดสินธ์ชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท วงษ์สยาม ก่อสร้าง จำกัด ได้ตัดสินใจร่วมลงนามสัญญาอย่างเป็นทางการทันที
หลังจาก เมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2565 ศาลปกครองสูงสุด ได้กลับคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น ( 15 ส.ค. 2565 ) กรณีให้ทุเลาการบังคับการดำเนินการ ตามประกาศเชิญชวนเอกชนเพื่อบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ฉบับลงวันที่ 10 ก.ย. 2564 อันมีผลเท่ากับเป็นการระงับการดำเนินการลงนามในสัญญา โครงการบริหารและดำเนินการกิจการระบบท่อส่งน้ำภาคตะวันออก ไว้เป็นการชั่วคราวก่อนการพิพากษาหรือมีคำสั่งชี้ขาดคดี หรือจนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
โดยเนื้อหาคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ระบุใจความสำคัญ “ศาลปกครองสูงสุดพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ในคดีนี้ ศาลปกครองชั้นต้นได้รับคำฟ้องไว้เป็นคดีตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 และศาลปกครองชั้นต้นได้ดำเนินการตามข้อ 72/1 แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2543 และมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับการดำเนินการตามประกาศเชิญชวนเอกชนเพื่อบริหารและดำเนินการระบบท่อส่งน้ำสายหลักภาคตะวันออก ฉบับลงวันที่ 10 กันยายน 2564
กรณีจึงเห็นได้ว่า กรณีนี้ เป็นการพิจารณาการทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครอง ที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดี ไม่ใช่การกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองอย่างใดๆ เพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา แม้ผู้ฟ้องคดีจะมีคำขอตามข้อ 4 ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามหยุดการกระทำละเมิด โดยให้งดเว้นการกระทำใดๆ ตามกระบวนการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนเอกชนเพื่อบริหารและดำเนินการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ลงวันที่ 10 กันยายน 2564
แต่ในการบรรยายฟ้องไม่ได้อ้างความเสียหาย และมีคำขอเรียกค่าเสียหายจากการกระทำดังกล่าว คำขอในส่วนนี้ จึงเป็นคำขอที่ประสงค์ให้ศาลกำหนดวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราว คดีนี้ จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดที่จะขอมาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาได้
เมื่อคดีนี้เป็นคดีพิพาทตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 แต่เมื่อพิจารณาคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา ที่ขอให้ระงับการลงนามสัญญา ในวันที่ 3 สิงหาคม 2565 ฉบับ ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2565 ของผู้ฟ้องคดี
โดยอ้างว่า จะมีการลงนามในสัญญาระหว่างผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 กับผู้ร้องสอด โดยผู้ร้องสอดสามารถชำระเงินค่าแรกเข้าเพื่อทำสัญญาเป็นเงินจำนวน 580,000,000 บาท ได้ ทั้งๆ ที่ผู้ร้องสอดได้เป็นฝ่ายยื่นข้อเสนอค่าแรกเข้าเพื่อทำสัญญาเป็นเงินจำนวน 1,450,000,000 บาท มาตั้งแต่ต้นในชั้นการยื่นข้อเสนอคัดเลือกฯ จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และยังเป็นการกระทำช้ำและจงใจกระทำต่อไปซึ่งการละเมิดหรือการกระทำที่ถูกฟ้องร้อง
จึงเห็นได้ว่า คำขอของผู้ฟ้องคดีเป็นการขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสาม โดยเฉพาะผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 หยุดดำเนินการลงนามในสัญญากับผู้ร้องสอดในวันที่ 3 สิงหาคม 2565 เพื่อรอให้ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาในคดีนี้ก่อน และขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามหยุดดำเนินการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการตามประกาศเชิญชวนเอกชนเพื่อบริหารและดำเนินการท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ฉบับลงวันที่ 10 กันยายน 2564 หรือประกาศเชิญชวนเอกชนฯ ครั้งที่ 2 ไว้ก่อนเป็นการชั่วคราว เพื่อรอให้ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาในคดีนี้ก่อน
โดยอ้างว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ตั้งใจกระทำช้ำหรือกระทำต่อไป ซึ่งการละเมิดหรือการกระทำที่ถูกฟ้องร้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 255 (2) (ก) คำขอของผู้ฟ้องคดีดังกล่าว จึงเป็นคำขอให้ศาลกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองอย่างใดๆ เพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา ซึ่งคำขอดังกล่าวเป็นคำขอบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา มิใช่คำขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครอง ที่เป็นเหตุพิพาทคดีนี้
ศาลปกครองชั้นต้น จึงไม่อาจรับคำขอบรรเทาทุกข์ชั่วคราวมาพิจารณาในคดีที่ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งทางปกครองได้ ตามนัยมติของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ 16/2560 ลงวันที่ 4 ตุลาคม 2560