วันที่ 28 กันยายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่หน่วยประสานงานชายแดนประจำพื้นที่ 2 สำนักงานประสานงานชายแดนไทย-กัมพูชา ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพภาคที่ 1 จุดผ่านแดนถาวรช่องจอม ต.ด่าน อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ พ.อ.จิรัฏฐ์ ช่วงฉ่ำ เสนาธิการกองพลทหารราบที่ 6 กองกำลังสุรนารี เป็นตัวแทนผู้บัญชาการกองกำลังสุรนารี เป็นประธานต้อนรับนิสิตนึกศึกษากัมพูชา จำนวน 28 คน โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บัญญัติ สาลี อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาและวัฒนธรรมอาเซียน (เขมร)คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และคณะร่วมให้การต้อนรับ หลังกรมการร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศได้อนุมัติกิจกรรมสนับสนุนให้นิสิตเรียนรู้ภาษา และวัฒนธรรมในบริบทภาษาและวัฒนธรรมไทย ภายใต้โครงการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาไทย ณ มหาวิทยาลัยภูมินท์พนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา ให้เดินทางไปเรียนที่หลักสูตรภาษาไทยระยะสั้นแบบเร่งรัด ณ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ระหว่างวันที่ 27 ก.ย.ถึง 27 ต.ค.65 ในการนี้นิสิตกัมพูชาจะเดินทางข้ามแดนผ่านจุดผ่านแดนถาวรช่อมจอมดังกล่าว
กรมการร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ และสถาบันการสอนภาษาต่างประเทศ มหาวิทยาลัยภูมินท์ พนมเปญ ได้ทำความตกลงกันเพื่อเปิดสอนภาษาไทยสำหรับนิสิตมหาวิทยาลัยภูมินท์พนมเปญ ระดับวิชาภาษาไทยพื้นฐาน ในปี พ.ศ.2548 ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา มีการเปิดการเรียนการสอนในหลักสูตรภาษาไทยพื้นฐาน ระดับ 1-4 เป็นต้นมา
คณะทำงานในภาควิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยภูมินท์พนมเปญ ได้แก่ ผู้บริหาร คณาจารย์ และผู้เชี่ยวชาญโดยการสนับสนุนของกรมการความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) เห็นควรสนับสนุนให้นิสิตวิชาเอก การศึกษาภาษาไทย ในปี พ.ศ.2564 นิสิตในหลักสูตรระดับปริญญาตรี สาขาวิชา การศึกษาภาษาไทย จำนวน 25 คน มีโอกาสได้เรียนรู้และสัมผัสภาษาและวัฒนธรรมไทยในประเทศเจ้าของภาษาในระยะเวลาอย่างน้อย 1 เดือน เพื่อเป็นการเสริมสร้างทักษะและโอกาสใช้ภาษา เพื่อการสื่อสารกับเจ้าของภาษาในประเทศให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ภาควิชาภาไทย มหาวิทยาลัยภูมินท์พนมเป็น จึงจัดโครงการสนับสนุนให้นิสิตเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมไทยในบริบทสังคมและวัฒนธรรมไทย เพื่อให้นิสิตได้มีโอกาส แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์เกี่ยวกับภาษา ขนบธรรมเนียม ประเพณีและวัฒนธรรมไทย-กัมพูชา อันจะเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยปลูกฝังให้เยาวชนรุนใหม่ให้มีทัศนคติที่ดีต่อภาษาและวัฒนธรรมไทยและเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีงามระหว่างไทยกับกัมพูชาให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บัญญัติ สาลี อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาและวัฒนธรรมอาเซียน (เขมร)คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่จัดขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 ซึ่งมีการเปิดการเรียนการสอนภาษาไทย ณ มหาวิทยาลัยภูมินท์พนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา โดยการสนับสนุนของกรมการร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศที่ได้เล็งเห็นว่าการสอนภาษาไทยเป็นการปูพื้นฐาน การเข้าใจของความเป็นไทยมากที่สุด เป็นการเรียนรู้คนไทยก็ต้องเรียนภาษาไทย โครงการดังกล่าวจึงเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง นศ.ที่เดินทางมาวันนี้เป็นรุ่นที่ 4 จากการถูกเว้นวรรคเรื่องโควิด -19 มา 2 ปี จะเดินทางไปที่มหาวิทยาลัยมหาสารคามและที่กรมการร่วมมือระหว่างประเทศ อยู่ในไทยประมาณ 1 เดือน และเป็นหลักสูตรที่ทุกคนที่เรียนเอกภาษาไทยที่กัมพูชา จะต้องเดินทางมาเรียนรู้ภาษา และวัฒนธรรมไทย และบริบทต่างๆสัมผัสกับคนไทยได้อยู่ในประเทศไทยและร่วมกิจกรรมกับคนไทย ซึ่ง นศ.ชุดนี้มี 28 คน มาเรียนประมาณ 8 วิชา อาทิ วิชาวรรณกรรม สารคดี ภาษา การแปลแบบล่าม การแปลเอกสารทั่วๆไป และวิชาวัฒนธรรมไทยด้วย และร่วมกิจกรรมกับ นศ.มหาวิทยาลัยมหาสารคามด้วย ทั้งกับนักศึกษาสาขาวิชาภาษาและวัฒนธรรมอาเซียน (เขมร) ของมหาวิทยาลัยมหาสาคามด้วย
ส่วนที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เปิดสอนวิชาภาษาเขมร หรือ สาขาวิชาภาษาและวัฒนธรรมอาเซียน (เขมร) มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 การเรียนภาษาคือการเข้าใจคน เบื้องต้นของความเข้าใจความคิดคนของแต่ละชาติ แต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ ถ้าเราใช้ภาษาที่สามจะเข้าใจยากในการเข้าถึงคน เพราะฉะนั้น นศ.ที่เรียนภาษาไทยก็จะเข้าใจคนไทยมากยิ่งขึ้น สำหรับ นักศึกษาสาขาวิชาภาษาและวัฒนธรรมอาเซียน (เขมร) จากมหาวิทยาลัยมหาสาคาม จบไปก็จะเป็นล่าม เป็นนักแปล เป็นทหาร เป็นครูสอนตามโรงเรียนต่างๆที่เปิดการเรียนการสอนและยังเป็นผู้คัดกรองเรื่องคลิปวีดีโอให้กับบริษัทห้างร้าน และทางโปรแกรมแพลทฟอร์มทางโซเชียลต่างๆด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บัญญัติ สาลี กล่าว.
ภาพ/ข่าว นพรัตน์ กิ่งแก้ว ผู้สื่อข่าวภูมิภาค จ.สุรินทร์