หลังจากช่วงค่ำเมื่อวันที่ 27 กันยายน นายทักษิณ ชินวัตร หรือ โทนี่ วู้ดซัม อดีตนายกรัฐมนตรี และนักโทษหนีคดี กล่าวในไลฟ์สดเฟซบุ๊ก CARE • แคร์ คิด เคลื่อน ไทย ถึงพายุโนรู ซึ่งคาดว่าไทยจะได้รับผลกระทบอย่างหนักซ้ำเติมสถานการณ์ในปัจจุบันที่มีปริมาณน้ำมากอยู่แล้ว จึงอยากให้รัฐบาลปรึกษา นายปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรองนายกรัฐมนตรี เนื่องจากมีประสบการณ์ในการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติ ว่าจะมีช่วยเหลือประชาชน และรับมือเรื่องนี้ด้วยเวลาที่เหลืออยู่อย่างไร
ซึ่งการที่นายทักษิณ นะนำให้รัฐบาลไปขอคำปรึกษาจากนายปลอดประสพนั้น ต้องบอกว่าได้สร้างความตกใจให้กับสังคมอย่างมาก เพราะทราบกันดีว่าในช่วงที่ประเทศไทยประสบมหาอุทกภัยครั้งใหญ่ปี 54 นั้น นายปลอดประสพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และในฐานะผู้ช่วยผอ.ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยแห่งชาติ หรือ ศปภ.ขณะนั้น ได้บริหารสถานการณ์ผิดพลาดอย่างร้ายแรง ขณะที่การสื่อสารในยามวิกฤตล้มเหลวสิ้นเชิง อย่างไรก็ตามผู้ที่ผิดพลาดไม่ใช่แค่นายปลอดประสพ แต่ไล่มาตั้งแต่หัวหน้ารัฐบาล ณ เวลานั้นคือนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งความผิดพลาดมีอะไรบ้าง เราไปย้อนดูข้อเท็จจริงกันอีกครั้ง
-ปัญหาน้ำท่วมปี 54 เริ่มขึ้นเดือนสิงหาคม แต่เวลานั้นรัฐบาลยิ่งลักษณ์กลับไม่มีปฏิกิริยาแข็งขันใดๆ และวุ่นอยู่กับการแต่งตั้ง โยกย้าย รวมถึงหาทางช่วยเหลือนายทักษิณ ชินวัตร กลับบ้าน
-8 ตุลาคม 2554 รัฐบาลยิ่งลักษณ์ถึงจะออกคำสั่งตั้ง ศปภ. ที่สนามบินดอนเมือง หลังสถานการณ์น้ำเริ่มรุนแรงขึ้น และมีแนวโน้มสร้างความเสียหายเกินกว่าที่รัฐบาลคาดการณ์
-13 ตุลาคม 2554 นายปลอดประสพ แจ้งเตือนให้ประชาชนในพื้นที่ปทุมธานีและใกล้เคียงอพยพมาอยู่ที่สนามดอนเมือง เพราะประตูน้ำคลองบ้านพร้าวปทุมธานีแตก แต่ต่อมา ศปภ.โพสต์เฟสบุ๊กชี้แจงว่าไม่ต้องอพยพ แค่ให้เก็บของขึ้นที่สูง
-13 ตุลาคม 2554 นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนกว่า 65,132 ล้านบาท ถูกมวลน้ำทะลักเข้าท่วม นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯขณะนั้น ได้ลงพื้นที่ถึงกับร่ำไห้สวมกอดปลอบขวัญนักธุรกิจชาวญี่ปุ่นที่อยู่ในนิคมฯ และผู้บริหารนิคมฯ ไฮเทค
-14 ตุลาคม นางสาวยิ่งลักษณ์สัมภาษณ์ยืนยัน “เราสามารถใช้คำว่ากรุงเทพฯ ปลอดภัย โดยเฉพาะแนวที่อยู่ภายในของแนวคันกั้นน้ำน่าจะปลอดภัย แต่ส่วนรอบนอกอาจจะเจอน้ำบ้าง และไม่ใช่เป็นน้ำที่ระดับปริมาณสูง”