องค์การอวกาศยุโรป (ESA) เปิดภาพถ่าย "กาแล็กซี่ IC5332" จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ (JWST) ในช่วงคลื่นอินฟราเรดกลาง ช่วยนักดาราศาสตร์ศึกษาโครงสร้างของกาแล็กซีได้ดียิ่งขึ้น
ข่าวที่น่าสนใจ
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ อัปเดตข่าวดี! หลัง European Space Agency (ESA) เผยภาพถ่ายสุดคมชัดของ “กาแล็กซี่ IC5332” ในช่วงคลื่นอินฟราเรด โดยระบุว่า เมื่อวันที่ 27 กันยายน ที่ผ่านมา องค์การอวกาศยุโรป หรือ ESA เผยแพร่ภาพถ่ายล่าสุดจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ (JWST) เป็นภาพกาแล็กซีรูปทรงกังหัน IC5332 ในช่วงคลื่นอินฟราเรดกลาง แสดงให้เห็นกลุ่มฝุ่นที่กระจายตัวอยู่ภายในระนาบกาแล็กซีอย่างคมชัด ช่วยให้นักดาราศาสตร์ศึกษาโครงสร้างของกาแล็กซีได้ดียิ่งขึ้น
กาแล็กซี IC5332 เป็นกาแล็กซีประเภทกังหัน (Spiral Galaxy) อยู่ห่างออกไปจากโลกประมาณ 29 ล้านปีแสง มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 66,000 ปีแสง หรือประมาณ 1 ใน 3 ของกาแล็กซีทางช้างเผือก และกาแล็กซีแห่งนี้หันด้านหน้าเข้าหาโลกของเราพอดี ทำให้เรามองเห็นโครงสร้างของกาแล็กซีแห่งนี้ได้อย่างชัดเจน
โดยภาพล่าสุดจาก JWST นี้ ถ่ายด้วยอุปกรณ์ Mid-Infrared Instrument หรือ MIRI ที่ทำงานในช่วงความยาวคลื่น 5 – 28 ไมครอน หรือเรียกว่า รังสีอินฟราเรดกลาง (Mid-Infrared) ซึ่งเป็นช่วงคลื่นที่ตามนุษย์ไม่สามารถมองเห็นได้ และยังเป็นช่วงคลื่นที่ไม่มีกล้องโทรทรรศน์ใดบนโลกที่สามารถสังเกตการณ์ได้ เนื่องจาก ชั้นบรรยากาศของโลกเองก็แผ่รังสีอินฟราเรดออกมาเช่นกัน ทำให้แม้จะเป็นตอนกลางคืนที่มืดสนิท แต่รังสีอินฟราเรดก็ยังคงส่องสว่าง กลบวัตถุท้องฟ้าอื่นไปจนหมด หรือแม้กระทั่งกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลที่อยู่ในอวกาศ ก็ไม่สามารถสังเกตการณ์ในช่วงคลื่นนี้ได้ เนื่องจาก กล้องฮับเบิลมีระบบควบคุมให้มีอุณหภูมิคงที่ที่ 21 องศาเซลเซียส ซึ่งที่อุณหภูมินี้ จะทำให้ตัวกระจกแผ่รังสีอินฟราเรดกลางออกมา ฮับเบิลจึงศึกษาได้เพียงช่วงคลื่นอินฟราเรดใกล้ (Near-Infrared) เท่านั้น
MIRI ที่ตรวจจับรังสีอินฟราเรดในช่วงคลื่นนี้ จึงจำเป็นต้องควบคุมอุณหภูมิให้เหมาะสม เพื่อให้เกิดความคลาดเคลื่อนในการเก็บข้อมูลน้อยที่สุด ซึ่งทางทีมวิศวกรก็ได้พัฒนาอุปกรณ์หล่อเย็น cryocool ที่สามารถทำให้ MIRI มีอุณหภูมิต่ำถึง -266 องศาเซลเซียส หรือร้อนกว่าอุณหภูมิที่ต่ำสุดที่จะเป็นไปได้ทางอุดมคติเพียง 7 องศาเท่านั้น จึงทำให้ MIRI สามารถสังเกตการณ์ในช่วงคลื่นอินฟราเรดกลางได้เป็นอย่างดี
ยิ่งไปกว่านั้น การที่ JWST โคจรรอบดวงอาทิตย์อยู่ที่จุด L2 ที่ห่างออกไปจากโลกถึง 1.5 ล้านกิโลเมตร นั่นก็เพื่อให้อุปกรณ์ MIRI ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพนั่นเอง ที่ตำแหน่งนี้ JWST จะอยู่ในเงามืดของโลกพอดี จึงไม่ได้รับความร้อนจากดวงอาทิตย์โดยตรง ช่วยให้สามารถลดอุณหภูมิของอุปกรณ์ได้ต่ำอย่างสุดขั้ว นอกจากนี้ ที่จุด L2 ยังทำให้ JWST อยู่เลยออกไปจากวงโคจรของดวงจันทร์ ทำให้สามารถหันหน้ากล้องหนีออกจากแสงจากโลก ดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์ได้ตลอดเวลา ซึ่งทั้ง 3 วัตถุเป็นแหล่งกำเนิดรังสีอินฟราเรดที่เข้มข้นมาก ๆ ที่นอกจากจะรบกวนการสังเกตการณ์วัตถุในห้วงอวกาศลึกแล้ว ยังอาจส่งผลให้อุปกรณ์ที่ไวต่อรังสีอินฟราเรดของ JWST เสียหายได้อีกด้วย
สำหรับภาพกาแล็กซี่ IC5332 กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลเคยบันทึกภาพเอาไว้แล้ว เป็นช่วงคลื่นผสมระหว่างช่วงคลื่นแสงที่ตามองเห็น และช่วงคลื่นรังสีอัลตราไวโอเล็ต แสดงให้เห็นกาแล็กซีกังหันที่มีแขนทอดยาวออกจากใจกลางกาแล็กซี ระหว่างแขนแต่ละข้างจะมีพื้นที่สีดำแทรกอยู่ ดูราวกับว่าแขนแต่ละข้างแยกตัวออกจากกัน แต่หากสังเกตการณ์ในช่วงคลื่นอินฟราเรดกลาง จะพบว่าพื้นที่สีดำดังกล่าวกลับส่องสว่างในช่วงคลื่นนี้ ซึ่งเป็นบริเวณฝุ่นทึบแสงที่กระจายตัวอยู่ทั่วทั้งกาแล็กซี รวมถึงดาวฤกษ์ที่เห็นในทั้ง 2 ภาพก็ยังแตกต่างกันอีกด้วย เนื่องจาก ดาวฤกษ์แต่ละดวงแผ่รังสีอินฟราเรดออกมาไม่เท่ากัน โดยมีข้อสังเกตที่น่าสนใจ คือ ดาวที่เป็นจุดสีแดงเล็ก ๆ ในภาพจากฮับเบิล จะกลายเป็นจุดดาวที่สว่างในภาพจาก JWST เนื่องจาก ดาวเหล่านี้มีสัดส่วนการแผ่รังสีอินฟราเรดมากกว่าช่วงคลื่นที่ตามองเห็นนั่นเอง
ข้อมูล : NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง