“ธนวรรธน์” ชี้แบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ย เพียงพอดูแลเงินเฟ้อ-บาทอ่อนยังไม่ทำร้ายเศรษฐกิจ

“รศ.ดร.ธนวรรธน์” เชื่อการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของกนง. 0.25% ต่อปี เพียงพอดูแลเงินเฟ้อ ส่งสัญญาณชัดว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัว และทิศทางดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น ระบุเงินบาทที่อ่อนค่า ยังไม่ทำร้ายเศรษฐกิจ เชื่อแบงก์ชาติมีวิธีดูแลค่าเงิน แทนการขึ้นดอกเบี้ยแรง

รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยกับทีมข่าว TOPNEWS ถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. เมื่อวานนี้(28 ก.ย.) ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ 7:0 ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.25% ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่า สำหรับประเทศไทย กนง.มีความเห็นชัดเจนว่า ดอกเบี้ยจะต้องเป็นดอกเบี้ยขาขึ้น เนื่องจากการปรับขึ้นครั้งนี้ เป็นการปรับขึ้นครั้งที่ 2 ต่อเนื่องจากการประชุมครั้งที่ผ่านมาที่ปรับขึ้นเพียง 0.25% ซึ่งคณะกรรมการไม่ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ แต่การปรับขึ้นครั้งนี้ กลับมีมติเป็นเอกฉันท์ 7:0 แสดงว่า คณะกรรมการทุกท่านเห็นพ้องว่า ดอกเบี้ยไทยต้องเป็นดอกเบี้ยขาขึ้น

เพียงแต่ประเด็นที่สำคัญคือ อัตราดอกเบี้ยควรที่จะปรับขึ้นเท่าไหร่ ซึ่งจากมติ 7:0 สะท้อนว่า กนง. เลือกที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเเบบค่อยเป็นค่อยไป คือ 0.25% แม้หลายฝ่ายจะมองถึงภาวะค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงจนหลุด 38 บาทต่อดอลลาร์ น่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.50% แต่การปรับขึ้นเพียง 0.25% พร้อมการกำกับจากการแถลงคือ ธปท. เห็นว่า เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวแล้ว และเชื่อว่า ในปีนี้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ถึง 3.3% ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงในบรรดาของนักวิเคราะห์

ทั้งนี้ การที่ธปท. ออกมาบอกว่า เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวแล้ว โดยเป็นเเบบค่อยเป็นค่อยไป และยังจะต้องดูแลเรื่องเงินเฟ้ออยู่ ทำให้ธปท. จึงต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดกั้นเงินเฟ้อ แต่ก็ยังเน้นการสนับสนุนให้เศรษฐกิจฟื้นตัวและเชื่อว่าดอกเบี้ย 0.25% เพียงพอที่จะดูแลระดับเงินเฟ้อ

ขณะเดียวกัน ธปท ยังย้ำอีกว่า ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงไม่น่าจะส่งผลกระทบในเชิงลบต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทย ดังนั้น การที่หลายฝ่ายแอบหวังให้ ธปท ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ 0.50% เพื่อลดช่องว่างของดอกเบี้ยไทยและดอกเบี้ยของสหรัฐฯและประเทศตะวันตก เพื่อทำให้ค่าเงินบาท หยุดการอ่อนค่าและกลับมาแข็งค่าขึ้น ธปท ไม่ได้เลือกตรงจุดนั้น แต่เชื่อว่า ธปท จะมีวิธีการดูแลค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงในรูปแบบอื่นแทนการขึ้นดอกเบี้ย

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า โดยสรุป ความเห็นธปท.อัตราดอกเบี้ยอยู่ในภาวะขาขึ้น และเศรษฐกิจไทยฟื้นตัว ธปท. ส่งสัญญาณอย่างชัดเจนว่า อัตราดอกเบี้ยที่ปรับขึ้น เป็นการขึ้นอ่อนๆ เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ให้เข็มเเข็ง และรับรู้ว่า ธนาคารพาณิชย์น่าเริ่มปรับดอกเบี้ยเป็นดอกเบี้ยขาขึ้นตามสัญญาณธปท.

 

ข่าวที่น่าสนใจ

โดยธปท. เน้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเป็นลำดับที่ 1 และ 2 การดูแลเงินเฟ้ออยู่ในกรอบที่ควบคุมได้ และอยู่ในกรอบที่ธปท.ส่งสัญญาณว่าจะต้องดูแลเงินเฟ้อที่จะต้องใช้อัตราดอกเบี้ยไม่สูง และธปท.ส่งสัญญาณว่าค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงนั้นยังไม่ทำร้ายเศรษฐกิจและส่งนัยยะออกมาว่า ธปท.มีวิธีดูแลค่าเงินบาทโดยวิธีอื่น หรือ ธปท. ยังไม่จำเป็นที่จะต้องใช้อัตราดอกเบี้ยเพื่อดูแลค่าเงินบาท

ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายมีความกังวลว่า ประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศยังไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่ธปท. กลับปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการแข่งขันทางการค้าของภาคธุรกิจหรือไม่

นายธนวรรธน์ ระบุว่า การที่ประเทศไทยปรับขึ้นดอกเบี้ยนั้น เป็นสิ่งที่นานาประเทศทำเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ซึ่งขณะนี้อัตราเงินเฟ้อรายเดือนของไทยอยู่ที่ประมาณกว่า 7% โดยทั้งปีคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 6.0-6.5% ขณะที่กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ใช่คุมอัตราเงินเฟ้อไม่ให้พุ่งสูงขึ้นอยู่ที่ 3.5-4.0 % ซึ่งขณะนี้พบว่าอัตราเงินเฟ้อของไทยเกินกรอบที่ได้วางไว้ ซึ่งธปท.จะต้องขึ้นดอกเบี้ย ส่วนประเทศอื่นๆที่ยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย อาจจะเป็นผลมาจาก ประเทศเหล่านั้นเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ หรืออัตราดอกเบี้ยยังไม่จำเป็นต้องปรับขึ้นเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

ขณะที่อดีตผู้ว่าการธปท. ทั้ง 3 สมัยที่ผ่านมาเคย ระบุว่า อัตราดอกเบี้ยของไทยควรปรับตามสถานการณ์ของประเทศไทย อัตราดอกเบี้ยของประเทศต่างๆจะปรับตัวไปตามสถานการณ์ของประเทศนั้นๆ จะเห็นได้ว่า สหรัฐอเมริกา ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% และบางประเทศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ 1% หรือ 0.5% ทั้งที่ประเทศเหล่านั้น เป็นประเทศที่มีธนาคารกลางอยู่ในระบบเศรษฐกิจที่พัฒนาเเล้ว จึงเชื่อว่า ธนาคารกลางของไทยได้ตัดสินใจภายใต้ความเหมาะสมของประเทศไทย และไม่จำเป็นต้องเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ซึ่งธปท.ได้ส่งสัญญาณชัดเจนว่า การขึ้นดอกเบี้ยยังส่งเสริมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และแก้ปัญหาเงินเฟ้อและเรื่องอื่นๆ

 

ส่วนค่าเงินบาทที่อ่อนค่านั้น นายธนวรรธน์ ระบุว่า ธปท.เลือกที่จะแก้ปัญหาโดยไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่จะมีมาตรการอื่นๆ เข้ามาดูแลแทน ทั้งนี้ หากประเทศไทยมีปรับขึ้นดอกเบี้ยประเทศไทยจะมีความต่างของอัตราดอกเบี้ยระหว่างไทย สหรัฐ และยุโรปมากขึ้น ซึ่ง ธปท.เลือกที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดความต่างของอัตราดอกเบี้ยในจุดหนึ่ง

ซึ่งจะต้องมองว่า หากไทยปรับขึ้นดอกเบี้ย 1% ค่าเงินดอลลาร์ก็ยังคงเเข็งค่าเช่นเดิม แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือความเจ็บปวดของธุรกิจไทยที่จะต้องแบกรับภาระดอกเบี้ยที่สูงขึ้น เพราะสหรัฐขึ้นดอกเบี้ยไปเกือบ 3% แต่ไทยขึ้น 0.50% จึงไม่มีทางที่ไทยจะปิดความห่างของอัตราดอกเบี้ยได้ ทำให้ค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มอ่อนค่าอีก เพราะสหรัฐมีแนวโน้มจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.75-1.25 % ในช่วง 7 เดือนหลังจากนี้ ขณะที่ไทยไม่ขึ้นดอกเบี้ยเร็วขนาดนั้น

ดังนั้น จะต้องทำให้ตลาดรับทราบว่า ประเทศไทยไม่ได้ใช้อัตราดอกเบี้ยในการแก้ปัญหาของอัตราแลกเปลี่ยน แต่หากเศรษฐกิจฟื้นตัว มีจำนวนนักท่องเที่ยว รวมถึงเม็ดเงินจากภาคการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ในไตรมาสที่ 4 และการส่งออกขยายตัวได้ดี ค่าเงินบาทจะกลับมาเข้มแข็งอีกครั้งตามกลไกของตลาด

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

"ก.แรงงาน" เตรียมเปิดขึ้นทะเบียน "แรงงานต่างด้าว" รอบใหม่
เจาะ "MOU44" พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา "เกาะกูด" เป็นของใคร
"สมชัย" เผยเคยทำงานร่วม "กิตติรัตน์" ยอมรับเป็นคนเก่ง แต่เพราะเคยตามใจฝ่ายการเมืองทำประเทศชาติเสียหาย
ระทึก "รถทัวร์กรุงเทพฯ-เชียงแสน" ชน "รถพ่วง" พลิกคว่ำตกข้างทาง ผู้โดยสารบาดเจ็บอื้อ
"ศิริกัญญา" ปูดข่าว รบ.วางแผนยึดการบินไทย ส่ง 2 ผู้บริหารฟื้นฟู
โมเดลใหม่...ประมงสมุทรสงครามเปิดตัวกิจกรรม “สิบหยิบหนึ่ง” ปราบปลาหมอคางดำ จับมือเกษตรกรร่วมแก้ปัญหาในบ่อเลี้ยงเกษตรกรและแหล่งน้ำธรรมชาติ
"กองปราบฯ" รับโอนคดี "ซินแสชื่อดัง" หลอกผู้เสียหายสูญเงิน 66 ล้าน
กรมทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 6 (ตรัง) ศึกษาดูงานด้านการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาล
"นครราชสีมา" เสี่ยงภัยแล้ง 10 อำเภอ ชลประทานประกาศงดทำนาปรังทั้งจังหวัด
"อัจฉริยะ" แจงผลสอบ "อาหารเสริม Eighteen 18" พบมีเลข อย.ถูกต้อง

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น