รัฐบาลน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อเส้นทางรถไฟสายสีแดง-สถานีกลางบางซื่อ

รัฐบาลน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อเส้นทางรถไฟชานเมืองสายสีแดง และสถานีกลางบางซื่อ

1 ต.ค.65 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผย รัฐบาลน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ ที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานชื่อโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน (บางซื่อ-ตลิ่งชัน) ระยะที่ 1 ว่า “นครวิถี” โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม (บางซื่อ-รังสิต) ระยะที่ 1 ว่า “ธานีรัถยา” และสถานีกลางบางซื่อ ว่า “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์”

 

ข่าวที่น่าสนใจ

โดยกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ขอพระราชทานชื่อเส้นทางรถไฟ โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง และสถานีกลางบางซื่อ ผ่านสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี มีหนังสือแจ้งกระทรวงคมนาคม ว่า ได้ขอให้ราชเลขานุการในพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทต่อไปแล้ว ล่าสุดได้มีหนังสือแจ้งจากสำนักพระราชวังถึงกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย ว่า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานชื่อเส้นทางรถไฟฯ และสถานีกลางบางซื่อ ดังนี้

1. พระราชทานชื่อเส้นทางรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน (บางซื่อ-ตลิ่งชัน) ระยะที่ 1 ว่า นครวิถี อ่านว่า นะ-คอน-วิ-ถี (Nakhon Withi) หมายถึง เส้นทางของเมือง

2. พระราชทานชื่อเส้นทางรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม (บางซื่อ-รังสิต) ระยะที่ 1 ว่า ธานีรัถยา ทา-นี-รัด-ถะ-ยา (Thani Ratthaya) หมายถึง เส้นทางของเมือง

3. พระราชทานชื่อสถานีกลางบางซื่อว่า สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ อ่านว่า สะ-ถา-นี-กลาง-กรุง-เทบ-อะ-พิ-วัด (Krung Thep Aphiwat Central Terminal) หมายถึง ความเจริญรุ่งเรืองยิ่งแห่งกรุงเทพมหานคร

นายอนุชาฯ กล่าวว่า สำหรับโครงการระบบรถไฟชานเมืองเมืองสายสีแดงอ่อน (บางซื่อ-ตลิ่งชัน) โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม (บางซื่อ-รังสิต) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้เปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการเดินรถโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง หรือ Soft Opening เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2564 และให้บริการเชิงพาณิชย์ในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 เป็นวันแรก ปัจจุบันมีจำนวนผู้โดยสารใช้บริการมากกว่าวันละ 22,000 คน โดยรถไฟชานเมืองสายสีแดง หรือ RED Line เป็นรถไฟฟ้าที่ทันสมัย ถูกออกแบบความเร็วได้สูงสุด 160 กม./ชม. ดำเนินการโดย รฟท. และมีบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด เป็นผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้า ถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในกรุงเทพมหานครและพื้นที่ต่อเนื่อง มีจุดมุ่งหมายเพื่อยกระดับคุณภาพในการให้บริการของรถไฟชานเมือง ซึ่งทำหน้าที่ในการบริการขนส่งผู้โดยสารที่อยู่อาศัยในพื้นที่ชานเมือง ตลอดจนพื้นที่ต่อเนื่องสามารถเข้าสู่ใจกลางกรุงเทพมหานครได้อย่างรวดเร็วด้วยระบบรางที่มีประสิทธิภาพ เส้นทางให้บริการ รวม 13 สถานี อัตราค่าโดยสาร เริ่มต้น 12-42 บาท เปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 05.30 น.-24.00 น. โดย รฟท. เปิดเผยว่า นับตั้งแต่รถไฟชานเมืองสายสีแดงเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์จนถึงปัจจุบัน มีปริมาณผู้ใช้บริการเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมมากกว่า 3 ล้านคน และมีผลการสำรวจความพึงพอใจจากผู้ใช้บริการในด้านต่าง ๆ อยู่ในระดับพึงพอใจมาก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้โดยสารมีความเชื่อมั่นต่อการให้บริการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงมากยิ่งขึ้น

ขณะที่สถานีกลางบางซื่อปัจจุบัน ร.ฟ.ท. ได้เปิดให้บริการรองรับผู้โดยสารรถไฟชานเมืองสายสีแดง เชื่อมต่อกับระบบรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินที่สถานีบางซื่อ อีกทั้งในอนาคตจะรองรับรถไฟความเร็วสูง ทำให้สถานีแห่งนี้กลายเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของไทย เชื่อมโยงทั้งในไทยและภูมิภาคอาเซียน โดยสถานีกลางบางซื่อ มีพื้นที่ 2,475 ไร่ (รวมพื้นที่โดยรอบ) มีพื้นที่ใช้สอย 304,000 ตารางเมตร มี 24 ชานชาลา รองรับรถไฟทางไกล (8 ชานชาลา) รถไฟความเร็วสูง (10 ชานชาลา) รถไฟฟ้าชานเมือง (4 ชานชาลา) แอร์พอร์ตเรลลิงก์และโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (2 ชานชาลา) รองรับผู้โดยสารประมาณ 624,000 คน-เที่ยว/วัน (ปี 2575) เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สีเขียว สีม่วง สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานนาชาติสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา สำหรับการจัดพิธีเปิดให้บริการสถานีกลางบางซื่ออย่างเป็นทางการนั้น ร.ฟ.ท. ประเมินว่าจะดำเนินการได้ภายในต้นปี 2566 เนื่องจากต้องเตรียมติดตั้งป้ายชื่อพระราชทาน รวมไปถึงเร่งเปิดประมูลร้านค้า ร้านอาหาร และสิ่งอำนวยความสะดวกภายในสถานี เบื้องต้นคาดว่าจะเปิดประมูลได้ภายในเดือนธันวาคมนี้

“สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์หรือสถานีกลางบางซื่อเดิม จะเป็นศูนย์กลางระบบราง Landmark แห่งใหม่ของประเทศ ใหญ่ที่สุดในอาเซียน เป็นจุดเชื่อมต่อทุกระบบราง โดยรัฐบาลได้เร่งรัดการพัฒนาระบบคมนาคมทางราง ให้การคมนาคมขนส่งทางราง เป็นการเดินทางและขนส่งที่ประหยัดค่าใช้จ่าย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และปลอดภัยที่สุด ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้เดินหน้างานพัฒนาทั้งโครงข่ายรถไฟฟ้า เร่งรัดการก่อสร้างรถไฟฟ้า ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชน เร่งรัดการก่อสร้างรถไฟทางคู่และทางสายใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเดินทางและขนส่งสินค้า พัฒนาโครงข่ายรถไฟความเร็วสูง พลิกโฉมระบบรางของไทยด้วยรถไฟความเร็วสูง เพื่อส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การลงทุน และการท่องเที่ยว โดยการพัฒนาระบบการคมนาคมทางรางของรัฐบาลตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เป็นความมุ่งมั่นของรัฐบาล ที่จะเดินหน้าขับเคลื่อนพัฒนาระบบการคมนาคมทางรางให้เป็นระบบหลักของประเทศ เพื่อลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ อำนวยความสะดวกในการเดินทาง สร้างโอกาส และกระจายความเจริญไปสู่ทุกภูมิภาค เพื่อความ มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนของประเทศ”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

เมียไรเดอร์ เปิดใจเสียงสั่น กลัวไม่ได้รับความเป็นธรรม หลังรู้ข่าว หนุ่มอินเดียซิ่งเก๋งได้ประกันตัว ลั่น ‘คนมีเงินมันยิ่งใหญ่’
นายกฯ เปิดงาน Thailand Reception เชิญชวนสัมผัสเสน่ห์อาหารไทย ชูศักยภาพเศรษฐกิจ
จีนแห่ ‘โคมไฟปลา’ แหวกว่ายส่องสว่างในอันฮุย
"พิพัฒน์" ตรวจเยี่ยมเอกชน ต้นแบบอุตสาหกรรม ผลิตด้วยเทคโนฯ AI พร้อมเร่งนโยบาย up skill ฝีมือแรงงานไทย
ผู้นำปานามาลั่นคลองปานามาไม่ใช่ของขวัญจากสหรัฐ
จีนไม่เห็นด้วยหลังไทยยืนยันไม่มีแผนส่งกลับอุยกูร์ในขณะนี้
"ดีเอสไอ" อนุมัติให้สืบสวนคดี "แตงโม" ปมมีการบิดเบือน บุคคลอื่น-จนท.รัฐเกี่ยวข้องหรือไม่
"พิพัฒน์" นำถก "คบต." ลงมตินายจ้างต้องยื่นบัญชีชื่อต้องการแรงงานต่างด้าว ให้เสร็จใน 13 ก.พ.68
ส่องรายได้ "ดิว อริสรา" หลัง "ไผ่ ลิกค์" เฉลยชื่อดาราดัง ปมยืมเงินปล่อยกู้ โซเชียลจับตา รอเจ้าตัวชี้แจง
ศาลให้ประกันตัว "หนุ่มลูกครึ่งอินเดีย" ขับรถชนไรเดอร์เสียชีวิต ตีวงเงิน 6 แสนบาท คุมเข้มใส่กำไล EM ภรรยาผู้ตาย ลั่นไม่ให้อภัย

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น