กปภ.กระทบหนักหุ้น “อีสท์วอเตอร์” ร่วงรูดเจอพิรุธเพิ่มทุ่ม 4.2 พันล้านสร้างท่อส่งน้ำ

กปภ.กระทบหนักหุ้น "อีสท์วอเตอร์" ร่วงรูดเจอพิรุธเพิ่มทุ่ม 4.2 พันล้านสร้างท่อส่งน้ำ

ถือเป็นอีกหนึ่งมหากาพย์ กับสารพัดปัญหาของ บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์วอเตอร์ เริ่มจากความวุ่นวายในโครงการ บริหารจัดการ ระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ในพื้นที่ ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี , ระยอง มูลค่า 2.5 หมื่นล้านบาท ภายใต้ความรับผิดชอบของกรมธนารักษ์ จนกระทั่งอีสท์วอเตอร์ ได้ยื่นฟ้องร้องคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนเพื่อบริหาร และดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก และกรมธนารักษ์ ต่อศาลปกครองกลาง ไว้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2564

ประเด็นสำคัญ คือ แม้ว่า ศาลปกครองกลาง จะยังไม่มีคำพิพากษาใด ๆ แต่ทางด้าน นายประภาศ คงเอียด ซึ่งปัจจุบันเป็นอดีตอธิบดีกรมธนารักษ์ กลับเดินหน้าลงนามสัญญาดำเนินโครงการ กับ บริษัทวงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ก่อนจะเกษียณอายุราชการเพียงไม่กี่วัน จนกลายเป็นข้อคำถามมากมาย ว่า ถ้าศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาอย่างหนึ่งอย่างใด กรมธนารักษ์ จะดำเนินการ หรือ รับผิดชอบอย่างไร โดยเฉพาะความเสียหายที่จะเกิดขึ้นตามมา จากการฟ้องร้องของทั้ง 2 บริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้อง และกลายเป็นผู้ได้รับผลกระทบไปโดยปริยายจากคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง

ในขณะที่ กรณีของ นายจำเริญ โพธิยอด  รองปลัดกระทรวงกระทรวงคลัง ซึ่งครม.เพิ่งอนุมัติ เห็นชอบให้ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมธนารักษ์ ปัจจุบันยังอยู่ในระหว่างรอขั้นตอนโปรดเกล้าฯ จึงเป็นเพียง รักษาราชการแทน อธิบดีกรมธนารักษ์ เท่านั้นอีกด้วย

อีกด้านจากการตรวจสอบล่าสุดของ TOP NEWS พบว่า ศาลปกครองกลาง กำลังสรุปหลักฐาน คำชี้แจงเพิ่มเติม ทั้งหมด จากคำสั่งก่อนหน้าให้ทุก 3 ฝ่าย คือ อีสท์วอเตอร์ ในฐานะโจทก์ , คณะกรรมการคัดเลือกฯ กรมธนารักษ์ ในฐานะจำเลย และ บริษัทวงษ์สยามก่อสร้าง ในฐานะผู้ร้องสอด ทำรายละเอียดมาส่งภายใน 7 วัน นับจากวันไต่สวนครั้งแรก และทั้งหมดได้ยื่นข้อมูลต่อศาลปกครองกลาง ครบถ้วนแล้ว ตั้งแต่เมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2565 ที่ผ่านมา ทำให้ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไปว่า ในระยะอันใกล้นี้ ศาลปกครองกลาง จะมีคำพิพากษาคำฟ้องของ อีสท์วอเตอร์ แบบไหน อย่างไร

และอีกหนึ่งจุดสำคัญปัญหาภายใน บริษัท อีสท์วอเตอร์ ก็คือ ผลพวงจากการที่ตัวแทนผู้ถือหุ้น ยื่นคำร้องต่อเลขาธิการ ก.ล.ต. ให้ตรวจสอบเรื่องต่าง ๆ ที่เกิดจากการบริหารงานของคณะกรรมการบริษัท หรือ บอร์ด ภายใต้ความรับผิดชอบของ นางอัศวินี ไตลังคะ ประธานคณะกรรมการบริษัท อาทิ

1. ประเด็นการสรรหาแต่งตั้งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ของบริษัทฯ

2. ประเด็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน จากการพิจารณาแต่งตั้งผู้ใกล้ชิด บริหารงานบริษัทในเครือฯ

3. ประเด็นการทุจริต โครงการปรับปรุงสระเก็บน้ำสำนักบก วงเงิน 75 ล้านบาท

4. ประเด็นการเร่งรัดจัดจ้างสร้างระบบท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ-แหลมฉบัง และสถานีเพิ่มแรงดันหนองปลาไหล มูลค่า 4.2 พันล้านบาท

 

 

ข่าวที่น่าสนใจ

โดย ล่าสุด ก.ล.ต. แจ้งผลคืบหน้าการตรวจสอบในลักษณะเดิม ว่า เรื่องทั้งหมดยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา เนื่องจากที่ผ่านมากลุ่มผู้ถือหุ้น ได้มีการยื่นเรื่องร้องเรียนใหม่เพิ่มเติมเข้ามา ทำให้ต้องรวบรวมข้อมูล หลักฐานต่าง ๆ เพื่อนำมาดำเนินการประกอบกัน ทั้ง ๆ ที่โดยข้อเท็จจริงปัญหาทั้งหมด และความล่าช้าในการพิจารณาคำร้องเรียนของผู้ถือหุ้น อีสท์วอเตอร์ ถือเป็นส่วนหนึ่ง ที่้มีผลกระทบโดยตรง ต่อความเชื่อมั่นด้านการลงทุนของบริษัท อีสท์วอเตอร์ มาโดยตลอด

ดังข้อมูลปรากฎจากกราฟสถิติ การลงทุนของอีสท์วอเตอร์ ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ราคาหุ้นของ อีสท์วอเตอร์ มีการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง จากมูลค่าหุ้นกว่า 10.30 บาท เหลือต่ำสุดเพียง 5.45 บาท เท่านั้น และ การประปาส่วนภูมิภาค ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ ในสัดส่วนการถือครองหุ้น จำนวน 668,800,000 หุ้น หรือ คิดเป็น 40.20 % ได้รับผลกระทบจากการลดต่ำลงของราคาหุ้น เป็นมูลค่าเบื้องต้น กว่า 3.3 พันล้านบาท ( 3,334,000 ล้านบาท )

 

 

 

ทางด้าน นายวิวัฒน์ สมบัติหลาย ประธานกลุ่มธรรมาภิบาล เครือข่ายภาคประชาชนต้านทุจริตและคอร์รัปชั่น ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า หลังจากยื่นหนังสือต่อ นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ (ก.ล.ต. ) เพื่อติดตามความคืบหน้ากรณีการตรวจสอบความไม่โปร่งใส โครงการก่อสร้างสระสำนักบก จ.ชลบุรี และ การเร่งจัดจ้างสร้างระบบท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ-แหลมฉบัง และสถานีเพิ่มแรงดันหนองปลาไหล เอื้อประโยชน์ต่อใครหรือไม่แล้ว เร็ว ๆ นี้จะได้เดินทางไปยื่นหนังสือถึงธนาคารกสิรกรไทย ขอให้มีการตรวจสอบกระบวนการบริหารงานของ คณะกรรมการบริษัทอีสท์วอเตอร์ จากขั้นตอนจัดทำสัญญาค้ำประกันธนาคาร หรือ Letter of Guarantee (LG) ปลอม เพื่อใช้ในโครงการปรับปรุงสระเก็บน้ำสำนักบก ซึ่งถือเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ให้ครบถ้วนกระบวนความโดยเร็ว

ส่วนกรณี ความคืบหน้าการจัดจ้างสร้างระบบท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ-แหลมฉบัง และ สถานีเพิ่มแรงดันหนองปลาไหล มูลค่า 4.2 พันล้านบาท TOP NEWS ได้ติดต่อไปยัง นายเชิดชาย ปิติวัชรากุล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ของ อีสท์ วอเตอร์ ถึง 2 ครั้ง แต่ปรากฎ ครั้งแรกไม่สะดวกในการให้ข้อมูล และ ครั้งสองไม่รับสาย

ขณะที่ ฝ่ายสื่อสารองค์กร ติดต่อกลับมาเพื่อสอบถามประเด็นคำถาม ก่อนแจ้งว่า ช่วงนี้ผู้บริหารไม่สะดวก เนื่องจากตารางงานค่อนข้างแน่น และต้องลงพื้นที่ ขณะที่ในส่วนของการเดินหน้าก่อสร้างระบบโครงข่ายท่อส่งน้ำต่างๆ ทางอีสท์ วอเตอร์ ชี้แจงว่า เป็นการดำเนินการตามแผนที่ต้องการจัดหาแหล่งน้ำให้เพียงพอกับพื้นที่ EEC ซึ่งหากมีความคืบหน้าในโครงการต่างๆ จะมีการเผยแพร่ข้อมูลเป็นระยะ

 

อย่างไรก็ตาม TOP NEWS ได้รับข้อมูลเพิ่มเติมจากแหล่งข่าว ในการตั้งข้อสังเกตุความเร่งรีบที่ผิดปกติ เบื้องต้นทราบข้อมูลว่า ระบบท่อส่งน้ำใหม่ มีความยาวประมาณ 60 กิโลเมตร และ คณะกรรมการ บริษัท อีสท์วอเตอร์ มีการอนุมัติงบประมาณเพื่อดำเนินการดังกล่าว แยกเป็น

1. การจัดซื้อท่อส่งน้ำ (งานจัดหาผู้ผลิตท่อส่งน้ำ) มูลค่า 1,862,557,000 ล้านบาท
2. การจัดหาผู้รับจ้างงานวางท่อ ซึ่งมี 8 สัญญาย่อย แบ่งเป็น งานวางท่อแบบขุดวาง (Open Cut) มูลค่า 990,693,000 ล้านบาท , งานวางท่อแบบดันลอด (Pipe Jacking) มูลค่า 110,880,000 ล้านบาท

 

 

แต่ประเด็นที่เป็นปัญหา คือ การจัดซื้อท่อส่งน้ำดังกล่าว ได้ดำเนินการไปแล้ว ทั้ง ๆ ที่ยังมีประเด็นต้องพิจารณารายละเอียดอย่างครบถ้วนว่า คุณลักษณะของท่อส่งน้ำที่จะนำมาใช้จะเป็นท่อประเภทใด จากเดิมที่ส่วนใหญ่เป็นท่อเหล็ก และอาจมีการใช้ท่อพลาสติก บางส่วนในกรณีที่วางท่อเหล็กไม่ได้

ยังไม่นับรวมวิธีการวางท่อ ซึ่งปกติจะมี 2 แบบ คือ 1. แบบผ่าถนน เพื่อวางท่อ และ 2. ส่วนที่ไม่สามารถผ่าถนนได้ จะใช้วิธีวางท่อแบบดันลอด (Pipe Jacking) ซึ่งตรงนี้ถือเป็นปัญหาใหญ่ของโครงการนี้ เพราะที่้ผ่านมายังไม่มีแนวเส้นท่อที่ชัดเจน และโอกาสที่หน่วยงานรัฐ ผู้รับผิดชอบพื้นที่อาจไม่อนุมัติให้ผ่าถนนได้ หรือเมื่อผ่าถนนแล้ว อาจไปทับซ้อนกับเส้นท่อของบริษัทวงษ์สยามก่อสร้าง ท่อก๊าซ หรือท่ออื่นๆ เนื่องจากโครงการนี้มีการอนุมัติอย่างเร่งรีบ ไม่มีการศึกษาแนวท่ออย่างละเอียด มีเพียงแบบก่อสร้างคร่าวๆ ทำให้มีความเสี่ยงสูงจะวางเส้นท่อตามที่กำหนดไม่ได้

นอกจากนี้ แหล่งข่าวยังให้ข้อมูลด้วยว่า ตามหลักการการวางเส้นทางท่อส่งน้ำใหม่ ต้องจัดทำให้แล้วเสร็จก่อนนำส่งคืนท่อส่งน้ำที่อยู่ในพื้นที่กรมธนารักษ์ ภายใน 60 วัน แต่กรณีที่เป็นปัญหาสำหรับการบริหารของอีสท์วอเตอร์ คือ กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่เกิดขึ้น เป็นไปอย่างเร่งรีบผิดปกติ หรือ เกิดขึ้นทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้รับใบอนุญาต รวมถึงมีการเร่งจัดซื้อจัดจ้างเป็นกรณีพิเศษ ให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน อีกด้วย

ทั้งๆ ที่บอร์ดอีสท์วอเตอร์ สามารถเลือกใช้วิธีการจัดซื้อจัดจ้างตามกระบวนการปกติ และทำเรื่องขออนุญาตดำเนินการ ก่อนจัดกระบวนการประกวดราคา จัดซื้อจัดจ้าง เพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน ไม่เสี่ยงต่อปัญหาในอนาคตที่อาจเกิดขึ้น กับการลงทุนมูลค่าสูงถึง 4.2 พันล้านบาท แม้อ้างว่ากำลังจะได้ใบอนุญาตก่อสร้างในพื้นที่จังหวัดระยองก็ตาม แต่โดยภาพรวมการลงทุน ไม่ใช่พื้นที่หลักสำหรับการตัดสินใจใช้เงิน 4.2 พันล้านบาท และต้องเผชิญสารพัดความเสี่ยงผิดพลาดด้านต่าง ๆ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

“เอกภพ” ได้ประกันตัว ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ปมให้ข้อมูลเท็จดิไอคอน จ่อฟ้องกลับ
สามเชฟดังร่วมรังสรรค์เมนูเพื่อการกุศลทางการแพทย์
"ทนายบอสพอล" เผยเป็นไปตามคาด "เอก สายไหม" ถูกจับ จ่อดำเนินคดีหมิ่นประมาท เรียกค่าเสียหาย 100 ล้าน
ศาลออกหมายจับ 'เจ๊หนิง' พร้อมสามีและหลาน ร่วมกันแจ้งความเท็จ 'ภรรยาบิ๊กโจ๊ก'
อิสราเอลถล่มเลบานอนดับครึ่งร้อย
หมายจับ ICC กระทบอิสราเอลอย่างไร
เปิดวิสัยทัศน์ประธานเครือข่ายธุรกิจ Bizclub นครราชสีมาคนใหม่ “กิม ฐิติพรรณ จันทร์ประทักษ์”
เกาหลีใต้ชี้รัสเซียส่งระบบป้องกันภัยทางอากาศให้เกาหลีเหนือ
สหรัฐเมินไฮเปอร์โซนิครัสเซียลั่นไม่หยุดหนุนยูเครน
เมียเอเย่นต์ค้ายาบ้า ร้องถูกตร.รีด 5 แสน แลกปล่อยตัว พ่วงเรียกเก็บเงินรายเดือน

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น