“ศรีสุวรรณ” หนุนกสทช. กล้าเคาะผนึก TRUE-DTAC จวกสภาผู้บริโภคเลือกโจมตีมุมลบ

"ศรีสุวรรณ" หนุนกสทช. กล้าเคาะผนึก TRUE-DTAC จวกสภาผู้บริโภคเลือกโจมตีมุมลบ

ติดตามต่อเนื่องกับกรณี บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ตัดสินใจผนึก 2 องค์กรโทรศัพท์มือถือในรูปการควบรวม โดยกำหนดการแบ่งสัดส่วนถือครองหุ้นเท่า ๆ กัน ฝ่ายละ 30 % และเป้าหมายสำคัญในการมุ่งเน้นพัฒนาโครงข่ายการสื่อสารของไทยระยะยาว

เพราะหลังจากผู้บริหารทั้ง 2 ค่ายโทรศัพท์มือถือ นำเสนอความคิด และแผนธุรกิจต่อ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ปรากฎว่าผ่านมาแล้วกว่า 7 เดือน บอร์ดกสทช. ยังไม่มีการตัดสินใจ แม้กระทั่งล่าสุด คณะกรรมการกฤษฎีกา จะทำความเห็นชี้แจงเมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2565 ระบุใจความสำคัญ ยืนยันว่า การควบรวมกิจการ TRUE – DTAC ไม่จำเป็นต้องให้บอร์ดกสทช.พิจารณาอนุมัติ เนื่องจากกฎหมายรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ตามประกาศกสทช.ปี 2553 ที่กำหนดให้การรวมธุรกิจต้องได้รับอนุญาตจากกสทช.ก่อนนั้น ได้ถูกยกเลิกแล้ว

โดยมีประกาศ กสทช.ปี 2561 ขึ้นมาแทน และกำหนดเงื่อนไขเพียงว่า การรวมธุรกิจกระทำได้โดยจัดทำรายงานส่งให้กสทช. โดยมีทั้งกรณีที่ต้องรายงานก่อนล่วงหน้าและรายงานหลังจากรวมธุรกิจแล้ว สอดคล้องกับมาตรา 77 วรรคสามของรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้รัฐพึงใช้ระบบอนุญาตเฉพาะกรณีที่จำเป็น รวมถึงกสทช. มีอำนาจกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะ สำหรับผู้มีอำนาจเหนือตลาดมาบังคับใช้เพื่อป้องกันความเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะได้ตามข้อ 12 ของประกาศปี 2561

กล่าวโดยหลักการ คือ กสทช. ต้องใช้อำนาจโดยคำนึงถึงความได้สัดส่วน ระหว่างการคุ้มครองผู้บริโภคกับการพัฒนากิจการโทรคมนาคม ตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 และ พ.ร.บ.บัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 ซึ่งกำหนดให้ กสทช. มีแค่หน้าที่และอำนาจกำหนดมาตรการเพื่อป้องกัน มิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาด หรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม เท่านั้น

และจากกรณีดังกล่าวทำให้ต้องติดตามว่า วันที่ 12 ต.ค. 2565 นี้ บอร์ดกสทช. จะตัดสินใจการควบรวมธุรกิจ TRUE และ DTAC ในรูปแบบไหน อย่างไร ท่ามกลางแรงกดดันของทั้งฝ่ายต้องการเห็นการควบรวมเกิดขึ้นโดยเร็ว เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาระบบการสื่อสาร และฝ่ายที่คัดค้านอ้างว่าจะเป็นการผูกขาดตลาด ทำให้ค่าบริการมีอัตราสูงขึ้น

ขณะที่ นายเพทาย วัฒนศิริ ทนายความ ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากผู้ถือหุ้นรายย่อยของ TRUE เป็นโจทก์ยื่นฟ้องคณะกรรมการ กสทช. ทั้ง 5 ราย ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เนื่องจากความล่าช้าในการพิจารณาของ โดยไม่มีเหตุอันสมควร ทำให้ผู้ถือหุ้นได้รับความเดือดร้อนเสียหาย ทั้งที่ประกาศ กสทช. เกี่ยวกับการรวมธุรกิจ กำหนดระยะเวลาไว้ชัดเจนว่า ให้ดำเนินการภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ผู้ได้รับใบอนุญาตยื่นต่อเลขาธิการ กสทช.

สอดคล้องกับความเห็นของ พ.อ.เศรษฐพงศ์ มะลิสุวรรณ อดีตรองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เคยระบุว่า การควบรวม TRUE และ DTAC เป็นแนวปฏิบัติที่กสทช.สามารถดำเนินการได้ตาม ประกาศ ปี 2561 เรื่องการควบรวมธุรกิจ และตั้งแต่กฎหมายดังกล่าว ประกาศบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 20 ม.ค. 2561 มีผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมไม่น้อยกว่า 9 ราย แจ้งการรวมธุรกิจภายใต้ประกาศดังกล่าว

“และ กสทช. มีมติเพียง “รับทราบ” การแจ้งการรวมธุรกิจเหล่านั้นเท่านั้น โดยมิได้ออกคำสั่ง “อนุญาต” และมิได้อาศัยอำนาจตามประกาศเรื่องมาตรการป้องกันการผูกขาดฯ ปี 2549 มาประกอบการพิจารณาแต่อย่างใด “

ยกตัวอย่าง การรวมธุรกิจระหว่างบมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท โทรคมนาคม เป็นบมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ NT โดยกสทช. มีมติเพียง “รับทราบ” การแจ้งการรวมธุรกิจเท่านั้น เช่นนี้การรวมธุรกิจโดยวิธีการควบธุรกิจ ระหว่าง TRUE และ DTAC ในครั้งนี้ กสทช. ก็ต้องดำเนินการแบบเดียวกัน โดยไม่เลือกปฏิบัติ ส่วนถ้ามีข้อกังวล ผลกระทบใดๆที่อาจเกิดขึ้น ถือเป็นอำนาจของกสทช. สามารถกำหนดเงื่อนไข มาใช้เพื่อป้องกันความเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะในทุกรูปแบบได้ ทั้งเงื่อนไขราคาค่าบริการ หรือแม้แต่การออกมาตราการควบคุมเพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาดตลาดอย่างที่มีการวิพากษ์วิจารณ์

 

ข่าวที่น่าสนใจ

ล่าสุด นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยกับทีมข่าว TOPNEWS เพิ่มเติม กรณีควบรวมกิจการ TRUE-DTAC ว่า จากการที่กสทช.ยื่นเรื่องไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อวินิจฉัยกรอบอำนาจของกสทช. เป็นอย่างไรในทางปฏิบัติ และได้คำตอบชัดเจน กรณีดังกล่าวเป็นอำนาจของกสทช. ในการวินิจฉัยและพิจารณาระเบียบ หรือ เงื่อนไขประกอบ ทำให้การควบรวมธุรกิจ ไม่เกิดผลกระทบอย่างที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ส่วนตัวจึงมองว่าไม่มีเหตุผลอื่นเลย ที่กสทช.จะไม่อนุมัติการควบรวมธุรกิจของ TRUE และ DTAC ตามที่บางฝ่ายต้องการ โดยอ้างประเด็นเรื่องผู้บริโภคมาทำให้เกิดความเข้าใจผิด

นอจากนี้ นายศรีสุวรรณ ยังให้ความเห็นเกี่ยวกับการสร้างกระแสกดดัน กสทช. ด้วยวิธีโน้มน้าวให้สังคมเข้าใจผิดเกี่ยวผลกระทบ ที่จะเกิดกับการควบรวมธุรกิจครั้งนี้ โดยเฉพาะการโจมตีว่าถ้ามีการรวมตัวกันแล้ว จะเป็นการผูกขาดธุรกิจทำให้ค่าบริการแพงขึ้น โดยอ้างข้อมูลการวิจัยของอนุกรรมการเพื่อศึกษาและวิเคราะห์กรณีการรวมธุรกิจ กสทช. ว่า ส่วนตัวแปลกใจ ทำไมองค์กรที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรง ไม่ออกมาให้ความรู้กับสาธารณชนให้ครบถ้วน และรอบด้าน ว่า การควบรวมธุรกิจจะเกิดประโยชน์อย่างไร และอาจมีผลเสียอย่างไร ซึ่งกรณีนี้ต้องนำเสนอทั้ง 2 ด้าน เพื่อให้ผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือทุกค่าย เกิดความเข้าใจอย่างถูกต้อง ในทางตรงข้ามกลับเห็นหลายคน หลายองค์กร พยายามบิดพลิ้วข้อมูลเรื่องนี้ จนทำให้เกิดความสับสนกับผู้รับบริการ หรือผู้บริโภคโดยไม่มีเหตุผล

 

 

อีกประเด็นหนึ่ง คึอ เป็นที่รับรู้ว่าคลื่นความถี่โทรศัพท์มือถือในประเทศเราส่วนใหญ่ใช้ 5G โดยภาครัฐเองก็มีการเปิดประมูลระบบ 5G ส่วนผู้ที่ประมูลได้คือ AIS และ TRUE ส่วน DTAC ไม่สามารถประมูลได้ จึงมีคลื่นสัญญาณด้อยกว่า คนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงก็คือลูกค้า DTAC และ การที่ DTAC พยายามพัฒนาตัวเอง โดยการเพิ่มทางเลือกธุรกิจ ด้วยการเข้ารวมกับ TRUE ก็จะทำให้ผู้ใช้บริการ DTAC สามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ในคลื่นของ TRUE เป็น 5G ได้

นี่คือประโยชน์สำคัญของผู้รับบริการ ซึ่งองค์กรที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรง ควรเสนอข้อมูลนี้ประกอบให้ชัดเจน เพราะอย่าลืมว่า ลูกค้าของ DTAC หลายสิบล้านเลขหมาย ซึ่งเป็นผู้ด้อยโอกาส จากการรับประโยชน์จากสัญญาณ 5G จะได้ผลดีจากการควบรวมดังกล่าว ไม่ต่างกับลูกค้าของ AIS ที่เป็นเจ้าตลาดโทรศัพท์มือถือและมีเครือข่าย 5 G รองรับประสิทธิภาพการให้บริการ

แต่ที่ผ่านมากลับเห็นอีกฝ่ายพยายามโจมตี ว่า หากรวมตัวกันแล้ว จะทำให้ไม่มีการแข่งขัน และทั้ง 2 ค่ายโทรศัพท์มือถืออาจจะจับมือกัน รวมตัวกันเพื่อเอาเปรียบผู้บริโภค ซึ่งจริงๆ มันทำไม่ได้ เพราะคนที่เป็นกรรรมการกำกับควบคุมดูแลอยู่ อย่าง กสทช. ย่อมไม่ปล่อยให้เกิดกรณีแบบนั้นอย่างแน่นอน จึงไม่น่าวิตกเลยว่า เมื่อควบรวมระหว่าง ทรู-ดีแทค แล้วจะนำไปสู่การขึ้นค่าบริการ หรือ ทำให้ผู้บริโภค หรือผู้รับบริการเสียเปรียบ แต่ถ้าผู้บริโภค หรือ ผู้รับบริการเสียเปรียบ นั่นแสดงว่า กสทช.ไม่ทำหน้าที่ ซึ่งคิดว่าหน่วยงานภาคประชาชน คงไม่ปล่อยให้กสทช.วางเฉย แล้วเกิดกรณีผู้ประกอบการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคหรือผู้รับบริการได้

 

ส่วนประเด็นการออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่า เมื่อควบรวมกันแล้ว จะทำให้เกิดการผูกขาด นายศรีสุวรรณ ระบุว่า การออกมาวิพากษ์วิจารณ์อย่างนี้ มองอีกด้านก็อาจจะมีเบื้องหลังเหมือนกัน เนื่องจากข้อมูลที่ได้ศึกษามาอย่างมากมาย ตนไม่คิดว่าจะนำไปสู่การผูกขาด เพราะอย่าลืมว่า AIS มีลูกค้าเกือบครึ่งตลาดทั้งหมด ขณะที่ TRUE – DTAC จะมีลูกค้าต่ำกว่า AIS และเมื่อรวมกันระดับลูกค้าอาจเท่ากัน จนเหนือกว่ากันเล็กน้อย ผลที่เกิดขึ้นในอนาคตก็คือ โครงข่ายของการให้บริการจะกว้างขึ้น เพราะทั้ง 2 องค์กรธุรกิจทับซ้อนกัน จึงจะกลายเป็นการผูกขาดธุรกิจได้อย่างไร รวมถึง AIS และ TRUE – DTAC ต่างก็ต้องพัฒนาตัวเองขึ้นไปในทุก ๆ ด้าน เพื่อดึงลูกค้าเดิมและจูงใจลูกค้าของอีกฝ่าย ซึ่งส่วนตัวมองว่าจะเกิดการแข่งขันที่สมบูรณ์มากยิ่งขึ้นมากกว่าการไปกล่าวหาว่าจะเกิดการผูกขาด

 

และกรณีมีรายงานข่าวว่า บอร์ดกสทช. จะนำคำร้องของ TRUE และ DTAC มาพิจารณาให้เสร็จสิ้นกระบวนการภายในวันที่ 12 ต.ค. 2565 นี้นั้น นายศรีสุวรรณ ระบุว่า กสทช.ควรจะตัดสินใจได้เลยทันที เพียงแต่อาจจะวางเงื่อนไข กฎเกณฑ์ขึ้นมา เพื่อดูแลเรื่องนี้ เพื่อคลายข้อกังวลของหลายฝ่ายที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์

แต่หากกสทช. ยังมีความเป็นห่วงเสียงพิพากษ์วิจารณ์โดยไม่ดูข้อเท็จจริง และเพิกเฉยต่อข้อกฎหมายที่ตนเองถืออยู่ จนส่งผลให้การพิจารณาล่าช้า สมาคมฯก็อาจต้องพิจารณาในเรื่องการฟ้องร้องคดีทางปกครอง เนื่องจากเป็นการละเลยการใช้อำนาจหน้าที่ ทั้งๆ ที่ คณะกรรมการกฤษฎีกาได้วินิจฉัยและตีความแล้วว่าเป็นอำนาจของกสทช.และอาจถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ เพราะในอดีตที่ผ่านมา กสทช.เคยอนุมัติการควบรวมกิจการประเภทนี้ มาหลายครั้ง แต่เมื่อถึงกรณี TRUE-DTAC กลับไม่ดำเนินการตามเจตนารมย์ของทั้ง 2 บริษัท จนทำให้ผู้บริโภคบางส่วนได้รับความเสียหาย

นอกจากนี้ นายศรีสุวรรณ ยังได้ให้ความเห็นถึงการเคลื่อนไหวขององค์กรเพื่อผู้บริโภค ว่า องค์กรที่เกี่ยวข้องเรื่องการดูแลผู้บริโภคโดยตรงอย่าง สภาองค์กรของผู้บริโภค ควรทำหน้าที่ให้ข้อมูล ข้อเท็จจริงทั้ง 2 ด้าน ไม่ใช่เอนเองไปข้างใดข้างหนึ่ง เพื่อให้ผู้ใช้บริการทุกเครือข่ายตัดสินใจว่าสิ่งไหนที่คิดว่าดี หรือถูกต้อง แต่หากมีการชี้นำไปด้านใดด้านหนึ่งเป็นการเฉพาะ ก็อาจทำให้มองว่าเป็นข้อพิรุธ และนำมาซึ่งข้อสงสัยว่า สภาองค์กรฯ ได้ทำหน้าที่ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดแล้วหรือไม่อย่างไร

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

ตร.จับ 2 เจ้าหนี้ ปล่อยเงินกู้ดอกโหด ลูกหนี้เครียดยิงตัวตายคาหอพัก
รัฐบาลกัมพูชายืนยันไม่เกี่ยวเหตุสังหารอดีตสส.ฝ่ายค้านที่ไทย
“รองผวจ.ประจวบฯ” พร้อมปฏิบัติตามกม. ปมอัลไพน์ ชาวบ้านเชื่อวัดธรรมิการาม ไม่อยากได้ที่ดินคืน
“แสตมป์” รับแล้ว “กลัวติดคุก” ยันโดนขู่ยัดคดี 112 ผวาจนต้องถอนฟ้องคู่กรณี
“Co-op Market Fair พลังสหกรณ์ ขับเคลื่อนสินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น By ร้านสหกรณ์กรุงเทพ จำกัด สาขาเอกมัย”พบกับผลิตภัณฑ์สินค้าดีมีคุณภาพของสหกรณ์นำมาจำหน่ายสู่คนเมือง
เที่ยว ‘งานวัดโบราณ’ รับตรุษจีนที่เหอหนาน
บินโดรนโชว์ ‘มังกรร่อน หงส์ไฟรำ’ ในฉงชิ่งของจีน
‘เขาหวงซาน’ ของจีนติดสถานที่น่าเที่ยวปี 2025 ของนิวยอร์ก ไทม์ส
หานเจิ้งเรียกร้องมัสก์กระชับสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับจีน
"นภินทร" นำกรมพัฒนาธุรกิจฯ มอบรางวัล Thailand Franchise Award 2024 หนุนเป็นต้นแบบแฟรนไชส์ สร้างรายได้ยั่งยืน

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น