สืบเนื่องจากประเด็นปัญหา ภายในบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์วอเตอร์ จนมีการยื่นคำร้องก.ล.ต. ให้เร่งดำเนินการหลายกรณี รวมถึงการว่าจ้างผู้รับเหมา ดำเนินโครงการปรับปรุงสระเก็บน้ำสำนักบก ต.สำนักบก อ.เมืองชลบุรี จ.ชลบุรี วงเงิน 75 ล้านบาท แต่ตรวจพบมีการใช้หนังสือสัญญาค้ำประกัน หรือ Letter of Guarantee (LG) ปลอม เข้าทำสัญญาจ้าง แต่ปรากฎว่าบอร์ด อีสท์วอเตอร์ กลับไม่ได้ดำเนินการทางกฎหมาย และยังคงว่าจ้างให้รับผิดชอบโครงการตามปกติ
โดยเฉพาะ เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2565 นายวิวัฒน์ สมบัติหลาย ประธานกลุ่มธรรมาภิบาล เครือข่ายภาคประชาชนต้านทุจริตและคอร์รัปชั่น ผู้ได้รับมอบหมายจากเครือข่ายผู้ถือหุ้น ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อ นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ (ก.ล.ต. ) เพื่อทวงถามความคืบหน้าการตรวจสอบ การทำหน้าที่ของบอร์ด และผู้บริหาร อีสท์วอเตอร์ เนื่องจากเป็นการกระทำความผิดในหลายกรรม
ล่าสุด วันที่ 6 ต.ค.65 นายวิวัฒน์ ได้เดินทางไปที่สถานีตำรวจนครบาลบางซื่อ เพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษ และให้เจ้าหน้าที่ดำเนินคดี บริษัท โกบอล โปรสเปคเตอร์ แอนด์ คอนซัลแตนท์ จำกัด กับพวก ในฐานะผู้รับเหมาก่อสร้าง โครงการปรับปรุงสระเก็บน้ำสำนักบก ดังกล่าว ตามหลักฐานการกระทำความผิด เรื่องการปลอมและใช้หนังสือสัญญาค้ำประกัน (หลักประกันสัญญาจ้าง) และหนังสือสัญญาค้ำประกัน ( ประกันเงินเบิกจ่ายล่วงหน้า) ซึ่งออกโดยธนาคารกสิกรไทย มาใช้ยื่นประกอบทำสัญญาว่าจ้างโครงการปรับปรุงสระเก็บน้ำสำนักบก
ภายหลังการเข้าแจ้งความ นายวิวัฒน์ ระบุว่า ตนในฐานะผู้รับมอบอำนาจ ได้มายื่นเรื่องคำร้อง พร้อมหลักฐาน หนังสือค้ำประกันสัญญา หรือ แบงก์การันตีปลอม จำนวน 2 ฉบับ ให้ดำเนินคดีกับบริษัท โกลบอล ฯ โดยการสรุปข้อเท็จจริงกับพนักงานสอบสวนว่า กรณีที่เกิดขึ้นเป็นกรณีการปลอมเอกสาร และใช้เอกสารสิทธิปลอม เพื่อให้ได้มีสิทธิเข้าทำสัญญากับบริษัท อีสท์ วอเตอร์ ซึ่งหากบริษัทดังกล่าวไม่มีเเบงก์การันตีปลอม ย่อมไม่สามารถเข้าทำสัญญาโครงการสระเก็บน้ำสำนักบกได้ จึงเข้ามาร้องทุกข์กล่าวโทษ
ทั้งนี้ ทางพนักงานสอบสวนจะเร่งสรุปหลักฐานเบื้องต้น เพื่อให้ผู้เสียหาย รวมถึงผู้ถือหุ้นมาให้ปากคำ พร้อมทำหมายเรียกผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด อาทิ บริษัท โกบอล โปรสเปคเตอร์ แอนด์ คอลซัลแตนท์ ที่ทำหนังสือค้ำประกันปลอม รวมถึงบอร์ดของอีสท์วอเตอร์ หรือ ธนาคารเข้ามาให้ปากคำตามข้อเท็จจริง เพื่อดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมายต่อไป
นายวิวัฒน์ ระบุด้วยว่า การนำเอกสารสิทธิ์ปลอมมาใช้ในครั้งนี้ แสดงให้เห็นเจตนาเพื่อมุ่งทำให้บริษัทของตนเอง ได้มีสิทธิเข้าทำสัญญาในโครงการสระเก็บน้ำสำนักบก จึงถือเป็นการนำเอาข้อมูลหรือเอกสารเท็จมาทำสัญญากับบริษัทอีสท์ วอเตอร์ไป และผู้ถือหุ้นซึ่งเปรียบเสมือนเจ้าของบริษัท อยู่ในสถานะเป็นผู้มีส่วนได้เสียกับการกระทำดังกล่าว จึงย่อมมีสิทธิ์ร้องทุกข์กล่าวโทษได้
อย่างไรก็ตาม หลังจากแจ้งความกล่าวโทษทางอาญาต่อผู้กระทำผิดทั้งหมดแล้ว พรุ่งนี้ ( 7 ต.ค.) จะเดินทางไปยื่นหนังสือถึงธนาคารกสิกรไทย สำนักงานใหญ่ เพื่อให้มีหนังสือยืนยันว่า แบงก์การันตีทั้งสองฉบับเป็นเอกสารจริงหรือไม่ แม้ว่าเบื้องต้นจะมีการรับทราบแล้วว่า เอกสารทั้งสองฉบับเป็นเอกสารปลอม แต่ถ้ามีหนังสือยืนยันจากธนาคารออกมา จะทำให้พนักงานสอบสวนสามารถเร่งรัดดำเนินคดีได้เร็วขึ้น
ส่วนความผิดที่เกิดขึ้นจากการใช้แบงก์การันตีปลอมในครั้งนี้ จะมีบทลงโทษหนักกว่าการปลอมแปลงเอกสารทั่วไป โดยมีโทษจำคุก 5 ปี และจะในคำร้องทุกข์ได้ขอให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด โดยไม่ละเว้นบุคคลใด
สำหรับโครงการพัฒนา “สระสำรองน้ำสระสำนักบก” ต.สำนักบก อ.เมือง จ.ชลบุรี มูลค่า 75,000,000 บาท (เจ็ดสิบห้าล้านบาทถ้วน) ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อการกักเก็บน้ำ ด้วยความจุ 5 ล้านลูกบาศก์เมตร
ที่ผ่านมา TOP NEWS ได้สืบค้นข้อมูลต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่การพิจารณาดำเนินการจากผู้เกี่ยวข้อง ให้ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนที่ถูกต้อง และชอบธรรมด้วยกฎหมาย เริ่มจาก บันทึกการประชุม คณะกรรมการ อีสท์ วอเตอร์ ครั้งที่ 4/2565 วันจันทร์ที่ 28 มีนาคม 2565
1. บุคคลผู้เข้าร่วมประชุม พิจารณาวาระการอนุมัติจัดซื้อจัดจ้าง ตามเอกสารบันทึกการประชุม ประกอบด้วย
1. นางอัศวินี ไตลังคะ ประธานคณะกรรมการบริษัท
2. พลเรือเอก สุชีพ หวังไมตรี ประธานคณะกรรมการการลงทุน ของบริษัทฯ
3. นายเชิดชาย ปิติวัชรากุล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และกรรมการการลงทุน ของบริษัทฯ
4. คณะกรรมการบริษัท
2.บันทึกการประชุม ในระเบียบวาระที่ 5 แสดงรายละเอียด ว่า ที่ประชุมรับรู้ รับทราบว่า หนังสือค้ำประกันสัญญาตรวจสอบพบว่าเป็นของปลอม โดย นายสุรชัย ขันอาสา กรรมการอิสระ ประธานคณะกรรมการตรวจสอบ กรรมการบริหารความเสี่ยง ได้ซักถามที่ประชุม เรื่องเอกสารค้ำประกันทางการเงินของ บริษัท โกบอล โปรสเปคเตอร์ แอนด์ คอนซัลแตนท์ จำกัด พร้อมระบุว่าจากการตรวจสอบทำให้รับทราบว่า หนังสือค้ำประกันสัญญา ซึ่งถือเป็นสาระสำคัญมีปัญหา ทำให้การทำสัญญาไม่สมบูรณ์ ดังนั้น บริษัทฯ จึงไม่ควร แจ้งเริ่มงาน โดยเห็นว่า หากมีการยื่นหนังสือค้ำประกันสัญญาปลอม ควรแจ้งความ เนื่องจากเป็นคดีอาญา
3. กรณีดังกล่าว ฝ่ายบริหารยอมรับ และให้ข้อมูลว่า หนังสือค้ำประกันสัญญาของผู้รับจ้างฉบับแรก ได้รับการปฏิเสธแล้วจากธนาคารกสิกรไทย สำนักงานใหญ่ หลังจากก่อนหน้าเจ้าหน้าที่ธนาคารกสิกรไทย สำนักพหลโยธิน มีหนังสือชี้แจงว่า หนังสือค้ำประกันดังกล่าว เป็นฉบับจริง ที่ตนลงนาม แต่ฝ่ายบริหารเลือกจะขอหนังสือ ยืนยันจากธนาคารกสิกรไทย สำนักพหลโยธิน จากนั้นสำนักฯสาขา แจ้งว่า ต้องขอออกหนังสือจากธนาคารกสิกรไทย สำนักงานใหญ่ ขณะนี้อยู่ระหว่างการตอบกลับจากธนาคารกสิกรไทย สำนักงานใหญ่
ฝ่ายบริหาร นำเสนอในที่ประชุม ด้วยว่า กรณีผู้รับจ้างยื่นหนังสือค้ำประกันสัญญาปลอม บริษัทฯ อาจต้องจัดหาผู้รับจ้างรายใหม่ แต่การจ้างผู้ประกอบการรายใหม่ อาจมีมูลค่างานมากกว่างบประมาณเดิม ที่อนุมัติไว้ 75 ล้านบาท โดยในการประมูลครั้งก่อน ผู้เสนอลำดับที่ 2 เสนองบประมาณ 91 ล้านบาท
4. ประธานฯ ที่ประชุม มอบหมายให้ฝ่ายบริหารติดตามดำเนินการต่อไป โดยฝ่ายบริหารแจ้ง หากธนาคารยืนยันแล้วว่า หนังสือค้ำประกันสัญญาของผู้รับจ้างเป็นปลอม ฝ่ายบริหารจะเริ่มการจัดหาผู้รับจ้างรายใหม่
5. ประธานฯ ที่ประชุมชี้แนะว่า ในอนาคตหากสัญญายังไม่สมบูรณ์ ก็ไม่ควรให้ผู้รับจ้างเริ่มงาน และหากมีขั้นตอนใดที่ล่าช้า เช่น การตรวจสอบหนังสือค้ำประกันสัญญาของโครงการ ก็ควรเร่งเข้าตรวจสอบ
อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสังเกตว่า มติที่ประชุม ในวันดังกล่าว ไม่ได้มีมอบหมายให้ผู้เกี่ยวข้อง ดำเนินการแจ้งความ ทั้ง ๆ ที่มีการแจ้งว่า หนังสือค้ำประกันสัญญาของผู้รับจ้างฉบับแรก เป็นเอกสารปลอม โดยได้รับการปฏิเสธแล้ว จากธนาคารกสิกรไทย สำนักงานใหญ่