“หมอกัมปนาท” ชำแหละสื่อ หลังโทรขอสัมภาษณ์ “โศกนาฏกรรม” หนองบัวลำภู ส่งผลกระทบ ศก.อย่างไร

"หมอกัมปนาท" ชำแหละสื่อ หลังโทรขอสัมภาษณ์ "โศกนาฏกรรม" หนองบัวลำภู ส่งผลกระทบ ศก.อย่างไร

นพ.กัมปนาท ตันสิถบุตรกุล หรือหมอแดน จิตแพทย์ชื่อดัง เมื่อไม่กี่ชั่วโมง​ที่ผ่านมา มีทีมงานสื่อโทรทัศน์​ช่องนึงโทร.เข้ามาบอกว่าจะขอสัมภาษณ์คุณหมอในเรื่องจากเคสโศกนาฏกรรมจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อเศรษฐกิจประเทศไทย ฟังแล้วอยากจะเป็นลมผมเลยตอบไปว่าตลอดระยะเวลาหลายปีที่ไม่ให้สัมภาษณ์สื่อต่างๆเพราะแม้กระทั่งสื่อที่เคยไว้วางใจมากๆก็ตาม เวลามาสัมภาษณ์ไม่เคยสนใจเนื้อหาที่หมอให้สัมภาษณ์เลยว่าจะเกิดประโยชน์กับสังคมในด้านใด แต่อยากจะเอาคำสัมภาษณ์​ บทสัมภาษณ์ ของเราไปจับเชื่อมโยงกับประเด็นที่ตัวเองต้องการ

แล้วถามว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นหรือ??? ผมไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์ไม่ได้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจก็ไม่รู้จะวิเคราะห์อะไรยังไงให้มันไปเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจ แล้วมันเป็นสิ่งที่ไม่สมควรด้วย​ การที่เราไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญไปวิเคราะห์มั่วๆน่าจะเกิดผลเสียมากกว่าผลดีไหมครับ และที่น่าสงสัยอีกอันนึงก็คือมีวาระแอบแฝงซ่อนเร้นอะไรหรือเปล่าในการพยายามจะใช้คำสัมภาษณ์ของหมอเชื่อมโยงไปถึงเรื่องปัญหาเศรษฐกิจ​ ปัญหาปากท้องของประชาชน​ แล้วก็โยงไปด่ารัฐบาล​ ด่านักการเมืองทุกยุคทุกสมัยโยงกันไปถึงเรื่องอดีต สงสัยจะขุดกันไปถึงเรื่องต้นกำเนิดของประเทศไทยเลยกระมัง… (เกรงว่าจะโดนเสี้ยม​ให้วิเคราะห์​ไปถึงสมัยพ่อขุนราม​คำแหงมหาราชหรืออย่างไร​)​ แล้วก็สรุปว่า​”ความจน” เป็นต้นเหตุของปัญหาทั้งปวงแบบนั้นหรือ งงกับแนวคิดแบบนี้มาก

เรายินดีที่จะให้ความรู้กับสังคมนะถ้าคุณต้องการให้เรานำเสนอความรู้เกี่ยวกับการวิเคราะห์ในเรื่องของการป้องกันการใช้ความรุนแรงในสังคมหรือปัญหาสุขภาพจิต ว่ามาจากอะไรบ้าง​ เราจะมีวิธีการค้นหาหรือป้องกันตั้งแต่เนิ่นๆอย่างไรบ้าง แล้วปัญหาสังคมที่เกี่ยวโยงกันทั้งหมดอันนำไปสู่การเกิดโศกนาฏกรรมมันเกิดจากอะไรได้บ้าง​ ยกตัวอย่าง​ เช่น

1. เหตุการณ์การกราดยิงที่เจอในต่างประเทศและในประเทศไทยส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากอะไรไม่ใช่พูดแต่เรื่องอาวุธปืนอย่างเดียวคงไม่ได้หรอกนะครับ​ เพราะควบคุมยังไงก็ควบคุมยากเรามีตัวอย่างในอเมริกาให้เห็นอยู่

2.ต้องไปดูด้วยว่าคนที่เขามีปัญหาสุขภาพจิตแล้วเราไม่รู้หรือเราจัดการไม่ได้แล้วปล่อยให้มันรุนแรงมากขึ้นมันก็เกิดโศกนาฏกรรมได้ตั้งเยอะแยะ​ ที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้น​ แล้วระบบการป้องกันเป็นอย่างไร ประเทศไทยมีกฎหมายสุขภาพจิตมาตั้งแต่ปี 2551 แต่แทบจะไม่ได้บังคับใช้อะไรเลย โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงในการใช้ความก้าวร้าวรุนแรงต่อตัวเองแล้วก็ผู้อื่น

3.ที่ผ่านมามันมีคนนิสัยไม่ดีบางคนชอบอ้างเรื่องโรคซึมเศร้าเลยกลายเป็นว่าโรคซึมเศร้าเป็นโรคที่น่ารังเกียจแล้วเป็นโรคของความตอแหล เอาไว้แถเวลาทำผิด คนเลยไม่สนใจและเห็นใจคนที่เป็นโรคสักเท่าไหร่

4.รายนี้เท่าที่สังเกตดูจากข้อมูลที่ได้มาก็สันนิษฐาน​ว่าน่าจะมีภาวะซึมเศร้าหรือปัญหาสุขภาพจิตอยู่ แล้วพยายามรักษาปัญหาสุขภาพจิตหรือภาวะซึมเศร้าของตัวเองด้วยการใช้สารเสพติด​ (self medication) พอใช้สารเสพติดเยอะๆก็เกิดผลข้างเคียงจากการใช้สารเสพติด​ ก็คืออาการทางจิตควบคุมตัวเองไม่ได้หวาดระแวงคลุ้มคลั่ง​ เลยตามมาด้วยโศกนาฏกรรมอย่างที่เราเห็น

 

ข่าวที่น่าสนใจ

5. สังคมไม่สนใจหรอกว่าใครมีปัญหาสุขภาพจิตอะไร รู้แค่ว่าถ้าเสพยาก็เป็นคนเลวคนไม่ดีคนน่ารังเกียจ เพราะเราคิดแบบนี้​ คนที่ถูกรังเกียจก็เลยระเบิดออกมากันบ่อยครั้ง เอาจริงๆนะครับไม่ได้ออกมาแก้ตัวแทนผู้ก่อเหตุนะ แค่อยากจะบอกว่าเราแทบจะไม่เคยมองมุมอื่นๆเลย​ ( มุมที่อาจจะเป็นประโยชน์​ในการป้องกัน​ในรายต่อๆไป)​

6. พอเรามองแต่มุมผู้เสียหาย​ มุมของการสูญเสีย​ แล้วพยามโยงไปถึงเรื่องเศรษฐกิจ​ เรื่องปากท้อง มันเลยยิ่งเลยเถิดไปไกล​ (ถึงแม้มันอาจจะมีส่วนเชื่อมโยงกันก็ตาม)​ แต่สุดท้ายก็แก้อะไรไม่ได้สักที เพราะแก้ไม่ตรงจุด

และที่ผ่านมาเพราะสื่อทั้งหลายที่เอาคำสัมภาษณ์ผมไปบิดเบือนเพียงเพื่อขายข่าว​ และไม่คิดว่าจะทำอะไรเพื่อเป็นการช่วยเหลือสังคมเลย เผลอๆ​ ให้สัมภาษณ์ทางวิชาการในเรื่องของความถูกต้องเหมาะสมแต่ดันไม่ถูกใจใคร ก็ถูกแชร์ลิงก์ข่าวเอาไปตั้งกระทู้ด่าอีก ประหนึ่ง เนื้อไม่ได้กินหนังไม่ได้รองนั่ง​ แถมกระดูกแขวนคออีก ผมถึงไม่อยากให้สัมภาษณ์อีกแล้ว​ เพราะสิ้นหวัง…กับสื่อบ้านเรา

ผมว่ามันไม่จำเป็นจะต้องมานั่งวิเคราะห์ 360 องศาหรอกเพราะปัญหาสังคมมันซับซ้อนมากเอาแค่เบื้องต้นควรจะต้องกลับมาคิดว่า

1.เวลาคนมีปัญหาสุขภาพจิตมีความเสี่ยงที่จะใช้ความรุนแรงในสังคมเราจะรับรู้ได้อย่างไร​ (early detection)

2. แล้วพอรับรู้แล้วจะมีกระบวนการช่วยเหลือกันป้องกันปัญหาที่จะตามมาอย่างไรบ้าง… เราใส่ใจกันจริงหรือเปล่าหรือคิดว่าธุระไม่ใช่หรือรีบตัดสินใครไปแล้วประณามใครไปแล้วก็เลยไม่สนใจ… สุดท้ายปัญหามันก็วกกลับมาอยู่รอบๆตัวเราอีกตามเคย

3.หน่วยงานภาครัฐมีใครบ้างที่จะช่วยดูแลเรื่องปัญหาสุขภาพจิตของคนในชุมชนความเสี่ยงในการใช้ความรุนแรง เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก แต่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยสนใจเพราะมัวแต่จุดประกายเริ่มต้นของการใช้สื่อที่เต็มไปด้วยความรุนแรงกันตามโซเชียลมีเดีย สุดท้ายมันก็ลามปามออกไปนอกเหนือจากในจอโทรศัพท์

คอยดูสิครับ ผ่านไป 3 วัน 5 วัน​ พอข่าวซาลงทุกคนก็ลืมหมด อีกไม่กี่เดือนไม่กี่ปีก็เกิดเรื่องซ้ำๆแบบเดิมให้เราเศร้าใจกันต่อ มันคือวัฏจักร​แห่งความน่าสงสาร

 

เอาจริงนะผมไม่ได้คาดหวังอะไรกับรัฐบาลทุกยุคทุกสมัยหรือหน่วยงานที่เข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะจากประสบการณ์ของตัวเองที่พยายามรณรงค์​เรื่องการป้องกัน​การใช้ความรุนแรงในสังคม ก็เห็นแล้วว่าคนทำงานเพื่อประเทศชาติมีน้อยมากจริงๆ ทั้งนักการเมืองและข้าราชการนั่นแหละ แถมนักการเมืองและข้าราชการบางคนก็เลียแข้งเลียขากันสนับสนุนให้มีสารเสพติดเกิดขึ้นแล้วนำไปสู่หายนะในอนาคตแล้วก็อ้างข้างๆคูๆหาเหตุผลมาสนับสนุนความถูกต้องของตัวเอง น่าเบื่อครับ

พวกเราคงต้องอยู่กันด้วยการสวดมนต์​ อยู่กันด้วยการปกป้องตัวเองตามลำพังแค่นั้นล่ะครับ ทำใจเถอะ แล้วก็เลิกโทษคนนู้นคนนี้ได้แล้วหันกลับมามองว่าตัวเองจะมีส่วนช่วยสังคมได้ยังไงบ้างแค่นั้นพอ ทำได้แค่ไหนก็แค่นั้น

ปล.​ ภาพปลากรอบ.. จิบกาแฟ เมนูโปรด​คลายเครียด ​คลายเศร้าครับ ลองทายดูว่าชื่ออะไร… ชื่อไม่ โสภา​แต่รสชาติกลมกล่อม​ และ จิตใจคนที่จิบยังคงโสภาอยู่นะ ฮะ ด้วยรักและห่วงใยสังคมไทยครับ

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

รัฐบาลเพิ่ม 73,388 ที่นั่ง แก้ตั๋วเครื่องบินแพงช่วงปีใหม่
เปิดใจเจ้าของป้ายสุดแปลก "รับซื้อบ้านผีสิง" ยันซื้อจริง ไม่คอนเทนต์
“บิ๊กโจ๊ก” รอฟ้าเปิด ความจริงปรากฎ-คัมแบ็คตร. เจ็บมาเยอะแค่นี้ไม่สะเทือน
ศาลอาญาฯ พิพากษาจำคุกจำเลยคดีแชร์ลูกโซ่ "คอนเซ็ปต์ ซีรี่ส์" 1.7 หมื่นปี
คลี่ 6 ข้อกล่าวหาเขย่าขวัญ “ทักษิณ” ล้มล้างฯ จับตาศาลรธน.รับ-ไม่รับคำร้อง?
เกิดเหตุไฟไหม้ครั้งใหญ่ "โรงงานผลิตพัดลมรายใหญ่" จ.สมุทรสาคร คาดความเสียหายไม่ต่ำกว่า 50 ล้าน
เกิดแผ่นดินไหวบริเวณ "จ.ลำพูน" ขนาด 2.5 ลึกประมาณ 1 กิโลเมตร ปชช.รับรู้แรงสั่นสะเทือน
"กรมอุตุฯ" เผยภาคเหนือ-อีสาน อากาศเย็นในช่วงเช้า กทม.เช้านี้ 24 องศา เตือน 14 จังหวัดภาคใต้ ฝนยังตกหนัก
นาทีชีวิต 3 พลเมืองดี ช่วยหนุ่มจะกระโดดสะพานข้ามแม่น้ำบางปะกง
แตกตื่นช่างไฟดวงกุดซ่อมพัดลมเพดาน อะโกโก้ พลาดถูกช็อตดับ

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น