เพจเข็นเด็กขึ้นภูเขา ได้โพสต์เตือนเกี่ยวกับเสพข่าวดังกล่าว ว่า เหตุการณ์กราดยิง ถือเป็นเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่ทำให้เกิดผลกระทบกับจิตใจ ถึงแม้จะไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ แต่บางคนที่เสพข่าวมากเกินไป (ทางทีวีหรือโซเชียลมีเดีย) พ่อแม่ที่เปิดข่าวให้ลูกๆ ดู ลูกๆ หรือตัวผู้ใหญ่เองอาจจะมีอาการซึ่งเป็นผลกระทบที่ตามมาภายหลังจากการรับสื่อที่กระตุ้นเร้าอย่างมากก็ได้
PTSD หรือ Post-traumatic stress disorder เป็นภาวะทางจิตเวชอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นภายหลังพบเห็น เผชิญ หรือรับรู้เหตุการณ์ที่รุนแรง (โดยในช่วงแรกหลังเหตุการณ์ใหม่ๆ จะเรียกว่า Acute stress disorder แต่ถ้าเป็นนานกว่า 1 เดือนจะเรียก PTSD) โดยผลกระทบทางจิตใจที่เกิดขึ้นจะต้องมากเกินกว่าปกติธรรมดา เพราะคนเราทุกคนก็เครียดได้ หรือไม่สบายใจได้ ถ้าเจอเหตุการณ์รุนแรง
PTSD จะมีลักษณะสำคัญ 3 ด้าน คือ
- 1.’หลอน’ (Reexperience) – การรู้สึกถึงประสบการณ์การตกอยู่หรือเสมือนอยู่ในเหตุการณ์รุนแรงที่ประสบมาซ้ำๆ เช่น ภาพเหตุการณ์ในข่าว รูปภาพที่เห็น ผุดขึ้นในในความคิดซ้ำๆ หยุดไม่ได้ มีฝันร้ายเรื่องนั้น
- 2.’เร้า’ (Hyperarousal) – มีอาการตกใจ ตื่นตัวง่าย อาจมีอารมณ์หงุดหงิด ระแวดระวัง สมาธิไม่ดี นอนหลับยากขึ้น
- 3.’หลบ’ (Avoidance) – การหลีกเลี่ยงสิ่งเร้าที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นั้น
(ส่วนใน ASD อาจมีอาการด้าน Dissociative ร่วมด้วย เช่น รับรู้สิ่งแวดล้อมรอบตัวผิดไปจากความเป็นจริง)