วันที่ 8 ตุลาคม 2565 นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข รักษาราชการแทน อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า กระแสข่าวการก่อความรุนแรงในสังคมที่เกิดจากผู้ใช้ยาและสารเสพติด โดยเฉพาะยาบ้า ยังมีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง บางคนบาดเจ็บ บางคนถึงขั้นเสียชีวิต บางครอบครัวต้องสูญเสียคนที่รักไป กลายเป็นเรื่องเศร้าที่กระทบกระเทือนต่อจิตใจของผู้คนในสังคมเป็นอย่างมาก การกระทำความรุนแรงต่างๆที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากการที่ร่างกายของผู้เสพได้รับยาเสพติดเป็นระยะเวลานาน เมื่อยาเสพติดเข้าสู่ร่างกายจะมีผลต่อสมอง เมื่อหมดฤทธิ์จะทำให้ผู้เสพมีอาการหงุดหงิด ซึมเศร้า
กรมการแพทย์ โดยสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) เตือนยาเสพติดทำให้ผู้เสพขาดสติ รีบเข้าสู่กระบวนการบำบัดก่อนที่จะไม่สามารถควบคุมตนเองได้และก่ออาชญากรรม ร้ายแรงที่สุดอาจจะทำร้ายผู้อื่นโดยไม่รู้ตัว แนะประเมินตนเองผ่าน line official ห่วงใย
ข่าวที่น่าสนใจ
ในขณะเดียวกันเมื่อใช้ยาเสพติดบ่อยๆ จะทำให้สมองส่วนคิดถูกทำลาย การใช้ความคิดที่เป็นเหตุเป็นผลเสียไป ทำอะไรตามใจ ตามอารมณ์ แสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น ก้าวร้าว หงุดหงิด เกิดอาการทางจิตประสาท ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ เป็นสาแหตุของการก่อความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ
“ย้ำเตือนทุกคนในสังคม หากพบคนใกล้ชิดเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ต้องรีบปรึกษาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อหาทางช่วยเหลือ หรือรีบนำเข้าสู่กระบวนการบำบัด โดยสามารถขอคำปรึกษาและรับการบำบัดรักษาได้ที่สถานพยาบาลของรัฐทุกแห่ง ทั้งในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เช่นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป หรือโรงพยาบาลนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เช่นโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โรงพยาบาลตำรวจ ศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม. เป็นต้น “
ด้านนายแพทย์สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า หากประสบปัญหาเกี่ยวกับยาและสารเสพติด สามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่ สายด่วนบำบัดยาเสพติด 1165 และสายด่วนเลิกยาเสพติด ผ่านศูนย์ดำรงธรรม 1567 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือผ่านช่องทาง Line Official ‘ห่วงใย’ ระบบแชทบ็อตตอบคำถามอัตโนมัติ ที่ตอบทุกเรื่องเพื่อประเมินตัวเองเกี่ยวกับการติดสารเสพติดและการให้คำปรึกษา โดยพิมพ์ในช่องค้นหาโดยใช้ คำว่า“@1165huangyai” ก็สามารถใช้งานได้เลย จะพบกับเมนูต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การประเมินตนเองว่า ติด/ไม่ติด ซึ่งถ้าเรารู้ตัวเร็ว ก็สามารถเข้าสู่กระบวนการบำบัดเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้เร็วขึ้นและยังมีการรวบรวมคำถามที่พบบ่อยไว้ เพื่อเป็นแนวปฏิบัติเบื้องต้น สำหรับผู้ติดยาและสารเสพติด หรือเข้ารับการบำบัดรักษายาเสพติดได้ที่ สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กรมการแพทย์ จังหวัดปทุมธานี และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ในส่วนภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์แม่ฮ่องสอน โรงพยาบาลธัญญารักษ์ขอนแก่น โรงพยาบาลธัญญารักษ์อุดรธานี โรงพยาบาลธัญญารักษ์สงขลา และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ปัตตานี หรือโรงพยาบาลใกล้บ้าน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.pmnidat.go.th
ข่าวที่เกี่ยวข้อง