หลายจุดยังคาใจ “ดร.สามารถ”เรียกร้อง “รฟม.-องค์กรต้านโกง” ชี้แจงให้ครบทุกปมรถไฟฟ้าสีส้ม

หลายจุดยังคาใจ "ดร.สามารถ"เรียกร้อง "รฟม.-องค์กรต้านโกง"ชี้แจงให้ครบทุกปมรถไฟฟ้าสีส้ม

สืบเนื่องจากการที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้ออกแถลงการณ์ กรณี 6.8 หมื่นล้านในการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ระบุใจความสำคัญว่า “จากกรณีสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่มีปัญหาการประมูลล่าช้ามากว่าสองปี ล่าสุดได้ปรากฏเงื่อนงำ ต่อสาธารณชนอีกว่า ราคาของผู้ชนะการประมูลเป็นราคาที่ทำให้รัฐต้องเสียประโยชน์ไปมากถึง 6.8 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับข้อเสนอของเอกชนรายอื่น

ดังนั้นเพื่อหยุดวงจรของการโกง ไม่ปล่อยให้ประเทศไทยถูกเอาเปรียบ เสียค่าโง่ไปจนถึงลูกหลาน และสุดท้ายประชาชนคือผู้รับกรรมจากการโกง องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ จึงขอแถลงการณ์ในกรณีรถไฟสายสีส้มดังนี้ :

1. ขอเรียกร้องนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล สั่งให้มีการตรวจสอบว่า ผลประโยชน์ของรัฐที่เอกชนเสนอแตกต่างกันมากถึง 6.8 หมื่นล้านบาทนี้ เป็นเรื่องสมเหตุสมผลหรือไม่ โดยเปิดให้องค์กรวิชาชีพ ที่สังคมเชื่อมั่น เข้ามีส่วนร่วมตรวจสอบด้วย เช่น สภาวิศวกรฯ สภาวิศวกรที่ปรึกษาฯ แล้วเปิดเผยให้ประชาชนทราบโดยเร่งด่วน

2. ชักชวนคนไทยทุกภาคส่วนได้ร่วมกันกดดันให้ “ผู้นำ” รัฐบาล ผู้นำทางการเมืองและหน่วยงานของรัฐ และบุคคลในคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) คณะกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) คณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (พีพีพี.) กระทรวงคมนาคม คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน และผู้นำของทุกส่วนงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องรถไฟสายสีส้มที่กำลังฉาวโฉ่ ต้องแสดงความรับผิดชอบ ต้องทำงานเป็นตัวแทนประชาชนในรักษาผลประโยชน์ของประชาชน ให้สมกับตำแหน่งที่ความไว้วางใจที่ได้รับเลือกมา

ทั้ง 2 ข้อเสนอนี้ จะช่วยให้ประชาชนไม่ต้องรับกรรมซ้ำซากจากการทุจริตคดโกง ช่วยให้ประเทศไทย ผุดจากหลุมพรางของการโกงชาติ เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเสียงของประชาชนจะได้รับการตอบสนอง ไม่ต้องให้ประชาชนหมดหวังกับ “ผู้นำ” จนต้องลุกมาสู้โกงด้วยตนเอง

 

 

ข่าวที่น่าสนใจ

และต่อมา กองประชาสัมพันธ์ สำนักสื่อสารองค์กร การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ได้ออกเอกสารชี้แจงระบุว่าใจความสำคัญ อาทิ

1) การคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ เป็นการดำเนินการโดยคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 (คณะกรรมการคัดเลือกฯ) ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากหลายหน่วยงาน ได้แก่ รฟม. สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) สำนักงบประมาณ (สงป.) กระทรวงคมนาคม สำนักงานอัยการสูงสุด และผู้ทรงคุณวุฒิ 2 ท่าน

2) การดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี พระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 (พ.ร.บ. การร่วมลงทุนฯ พ.ศ. 2562) ประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (ประกาศคณะกรรมการ PPP) กฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประกาศ สคร. เรื่อง แนวทางปฏิบัติสำหรับการนำข้อตกลงคุณธรรมมาใช้กับโครงการร่วมลงทุนที่ดำเนินการตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 พ.ศ. 2564

3) ในการดำเนินการตามประกาศ สคร. เรื่อง แนวทางปฏิบัติสำหรับการทำข้อตกลงคุณธรรมฯ สคร. ได้มอบหมายให้องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เป็นองค์กรภาคเอกชนให้ดำเนินการคัดเลือกผู้สังเกตการณ์เข้าร่วมโครงการจัดทำข้อตกลงคุณธรรม

4) สคร. ได้แจ้งชื่อผู้สังเกตการณ์ 5 ท่าน ที่ได้รับการคัดเลือกจาก องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เข้าร่วมสังเกตการณ์ในกระบวนการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ โดย รฟม. และผู้สังเกตการณ์ได้ลงนามข้อตกลงคุณธรรม เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2565 และผู้สังเกตการณ์ได้เข้าร่วมสังเกตการณ์ในกระบวนการคัดเลือกเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ทุกขั้นตอน

5) ผู้สังเกตการณ์ที่เข้าร่วมสังเกตการณ์ในกระบวนการคัดเลือกเอกชนฯ มีหน้าที่ต้องจัดทำรายงานผลการสังเกตการณ์ และในกรณีที่พบเห็นพฤติการณ์ที่ส่อไปในทางทุจริตให้แจ้งคณะกรรมการคัดเลือกฯ โดยเร็ว เพื่อให้มีการชี้แจงหรือแก้ไขในระยะเวลาที่ผู้สังเกตการณ์กำหนด หากคณะกรรมการคัดเลือกฯ ไม่ชี้แจงหรือแก้ไข ให้ผู้สังเกตการณ์แจ้งองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เพื่อรายงานต่อ สคร. และกระทรวงเจ้าสังกัดพิจารณาดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง ทั้งนี้สำหรับกรณีการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 ไม่ปรากฏว่า คณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้รับแจ้งข้อสังเกตใดจากผู้สังเกตการณ์

6) ผลประโยชน์ของรัฐที่เอกชนเสนอแตกต่างกันมากถึง 6.8 หมื่นล้านบาท ตามที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวอ้าง น่าจะเป็นการเปรียบเทียบกับตัวเลขข้อเสนอที่เอกชนรายหนึ่งทำการเปิดเผยตัวเลขผลประโยชน์ของรัฐที่อ้างว่าเป็นข้อเสนอตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 ซึ่งได้ยกเลิกไปแล้ว ข้อเสนอที่กล่าวอ้างจึงมิได้ผ่านการพิจารณาตามเกณฑ์การประเมินที่ประกอบด้วยข้อเสนอด้านคุณสมบัติ ข้อเสนอด้านเทคนิค และข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน รวมถึงเงื่อนไขข้อจำกัดต่าง ๆ ตามลำดับ

ล่าสุด ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้ชำนาญด้านโครงการและแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนและ ท่าอากาศยาน
ได้แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊ก ระบุข้อความ ใครของจริง ? รฟม. ปะทะ องค์กรต้านโกง โดยมีรายละเอียด เริ่มต้นจากกรณีส่วนต่าง 6.8 หมื่นล้าน ประมูลสายสีส้ม ว่า น่าดีใจที่องค์กรต้านโกงออกโรงเรียกร้องให้นายกฯ ตรวจสอบการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มที่ทำให้รัฐต้องจ่ายค่าก่อสร้างแพงขึ้นถึง 6.8 หมื่นล้าน พร้อมชักชวนให้คนไทยทุกภาคส่วนร่วมกันกดดันให้ผู้เกี่ยวข้องกับการประมูลที่ฉาวโฉ่ยืดอกแสดงความรับผิดชอบ !

1. องค์กรต้านโกงเกี่ยวข้องกับการประมูลสายสีส้มอย่างไร ?

การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ลงนามในข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) กับผู้เข้าร่วมประมูล และผู้สังเกตการณ์จากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT (Anti-Corruption Organization of Thailand) ภายใต้โครงการความร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ

ข้อตกลงคุณธรรมเป็นการตกลงร่วมกันระหว่าง รฟม.กับผู้เข้าร่วมประมูลว่าจะไม่กระทำการทุจริตในการประมูล โดยมีผู้สังเกตการณ์เข้าร่วมสังเกตการณ์ทุกขั้นตอนตั้งแต่ขั้นตอนการจัดทำร่างขอบเขตของงาน (ร่างทีโออาร์) ร่างประกาศเชิญชวน จนถึงขั้นตอนสิ้นสุดการประมูล
ผู้สังเกตการณ์เป็นบุคคลภายนอกหรือภาคประชาสังคมที่มีความเชี่ยวชาญ ความรู้ และประสบการณ์ซึ่งจำเป็นต่อการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม และจะต้องมีความเป็นกลาง ไม่มีส่วนได้เสียกับการประมูล

 

 

2. ผู้สังเกตการณ์จากองค์กรต้านโกงพบสิ่งผิดปกติในการประมูลสายสีส้มหรือไม่ ?
ในการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ผู้สังเกตการณ์จาก ACT ซึ่งมีจำนวน 5 คน ได้ทักท้วงการประมูลในประเด็นที่น่ากังขาดังต่อไปนี้หรือไม่ ?

(1) ในระหว่างการประมูลครั้งที่ 1 รฟม. เปลี่ยนเกณฑ์ประมูลตามคำขอของบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD หลังจาก ITD ได้ขอให้เปลี่ยนเพียงแค่ 2 สัปดาห์ ทั้งๆ ที่ รฟม. ได้ใช้เวลาศึกษามาอย่างละเอียดรอบคอบถึงเกือบ 2 ปี การใช้เกณฑ์ใหม่เอื้อประโยชน์ให้เอกชนรายใดรายหนึ่งหรือไม่ ?

(2) การเปลี่ยนเกณฑ์ประมูล ทำให้บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ฟ้องต่อศาลปกครองกลาง ซึ่งศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาว่า การเปลี่ยนเกณฑ์ประมูลไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ รฟม. ไม่เห็นด้วย จึงอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ยังไม่ทันที่ศาลปกครองสูงสุดจะมีคำสั่งลงมา รฟม. ได้ชิงล้มการประมูลไปก่อน ทำให้ BTSC ฟ้องต่อศาลปกครองกลางอีกคดีหนึ่ง ซึ่งศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาว่า คำสั่งยกเลิกการประมูลเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ รฟม. เพิกถอนคำสั่ง แต่ รฟม. ไม่เพิกถอนคำสั่งนั้นกลับเดินหน้าเปิดประมูลใหม่หรือประมูลครั้งที่ 2 เหตุใด รฟม. จึงไม่เพิกถอนคำสั่ง แล้วกลับไปดำเนินการประมูลครั้งที่ 1 ให้แล้วเสร็จ ?

(3) การประมูลครั้งที่ 2 รฟม. ได้ปรับแก้คุณสมบัติของผู้เข้าร่วมประมูลและเกณฑ์การให้คะแนน ซึ่งทำให้เกิดคำถามว่าเอื้อประโยชน์ และ/หรือ กีดกันเอกชนรายใดรายหนึ่งหรือไม่ ? เช่น

ก. กำหนดคุณสมบัติของผู้รับเหมาให้สามารถเข้าร่วมประมูลได้ยากขึ้นกว่าการประมูลครั้งที่ 1 ทำให้ BTSC ที่เคยยื่นประมูลร่วมกับบริษัท ซิโน–ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC ในครั้งที่ 1 ไม่สามารถเข้าประมูลในครั้งที่ 2 ได้ เนื่องจาก STEC ซึ่งเคยมีคุณสมบัติครบในการประมูลครั้งที่ 1 กลับมีคุณสมบัติไม่ครบในการประมูลครั้งที่ 2 เพราะมีการปรับแก้คุณสมบัติของผู้รับเหมาให้เข้าร่วมประมูลได้ยากขึ้น เหตุใด รฟม. จึงปรับแก้คุณสมบัติของผู้รับเหมาให้เข้าร่วมประมูลได้ยากขึ้น ?
ข. ลดคุณสมบัติของผู้เดินรถไฟฟ้าลง ทำให้ Incheon Transit Corporation หรือ ITC จากเกาหลีใต้สามารถเข้าร่วมประมูลกับ ITD ได้ หาก ITC ไม่สามารถเข้าร่วมประมูลได้ ITD จะหาผู้เดินรถไฟฟ้ารายอื่นมาร่วมประมูลได้หรือไม่ ? เหตุใด รฟม. จึงลดคุณสมบัติของผู้เดินรถไฟฟ้าลง ไม่เพิ่มคุณสมบัติขึ้นเหมือนผู้รับเหมา หรือคงคุณสมบัติไว้เหมือนเดิมเป็นอย่างน้อย ?
ค. ITD มีกรรมการคนหนึ่งได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก จึงเกิดคำถามว่า ITD มีคุณสมบัติครบถ้วนตามประกาศของคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เรื่อง ลักษณะของเอกชนที่ไม่สมควรให้ร่วมลงทุนในโครงการร่วมลงทุนหรือไม่ ? โดยเอกชนที่มีลักษณะดังกล่าว “ไม่มีสิทธิ์” ได้รับคัดเลือกเป็นคู่สัญญาร่วมลงทุนในโครงการร่วมลงทุนตาม พรบ. การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 แต่เหตุใด รฟม. จึงพิจารณาให้ ITD ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติ ?
ง. ให้ผู้รับเหมาเป็นผู้นำกลุ่มผู้ยื่นข้อเสนอได้ ทำให้ ITD สามารถเป็นผู้นำกลุ่ม ITD Group ซึ่งประกอบด้วย ITD และ ITC ได้ หาก ITD ไม่สามารถเป็นผู้นำกลุ่ม ITC จะยอมเป็นผู้นำกลุ่มหรือไม่ ? ทั้งนี้ ผู้นำกลุ่มจะต้องถือหุ้นมากที่สุด และไม่น้อยกว่า 35%
จ. เพิ่มคะแนนผ่านเกณฑ์ด้านเทคนิคให้สูงขึ้นกว่าครั้งที่ 1 และสูงกว่าโครงการอื่นที่ก่อสร้างในพื้นที่เดียวกัน ใช้เทคนิคการก่อสร้างเหมือนกัน ทำให้เป็นที่สงสัยว่ามีการกีดกันเอกชนรายใดรายหนึ่งไม่ให้ผ่านเกณฑ์เทคนิคหลังจากผ่านเกณฑ์คุณสมบัติมาแล้วหรือไม่ ?
ฉ. จากการเปรียบเทียบการประมูลครั้งที่ 1 กับครั้งที่ 2 ทำให้รัฐต้องจ่ายค่าก่อสร้างแพงขึ้นถึง 6.8 หมื่นล้านบาท จึงเกิดคำถามว่าการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วยปกป้องผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชนและประเทศชาติหรือไม่ ?

3. รฟม. และองค์กรต้านโกง ต้องทำอย่างไร ?

ACT ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีตรวจสอบการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มที่ทำให้รัฐเสียผลประโยชน์ถึง 6.8 หมื่นล้านบาท พร้อมชักชวนให้คนไทยทุกภาคส่วนร่วมกันกดดันให้ผู้เกี่ยวข้องกับการประมูลที่ฉาวโฉ่ยืดอกแสดงความรับผิดชอบ แต่ รฟม. โต้ ACT ว่า รฟม. ไม่ได้รับรายงานผลการสังเกตการณ์ของผู้สังเกตการณ์จาก ACT ที่ชี้ให้เห็นว่า รฟม. มีพฤติกรรมส่อไปในทางทุจริต หาก ACT ได้รับรายงานดังกล่าวก็ควรส่งให้ รฟม.
ด้วยเหตุนี้ เพื่อให้สาธารณชนหายเคลือบแคลงสงสัย รฟม. และ ACT ควรพิจารณาดำเนินการดังนี้

(1) รฟม. ควรเปิดเผยรายงานการประชุมให้เห็นว่ามีการทักท้วงจากผู้สังเกตการณ์หรือไม่ ?
(2) ACT ควรเปิดเผยความเห็นของผู้สังเกตการณ์ต่อการประมูล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นตามข้อ 2 ดังกล่าวข้างต้น
(3) กรณีคุณสมบัติของ ITD ซึ่งอาจขัดหรือแย้งกับประกาศของคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนดังกล่าวข้างต้น รฟม. เคยให้ข่าวว่า จะสอบถามไปยังคณะกรรมการฯ ถึงเวลานี้ รฟม.ควรเปิดเผยความเห็นของคณะกรรมการฯ ว่ามีความเห็นอย่างไร ?
หมายเหตุ : ข้อสงสัยดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นข้อกังขาที่ผมและประชาชนทุกคนชอบที่จะต้องขอคำชี้แจงให้สิ้นสงสัยจากหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ทั้งนี้ก็เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ด้วยเจตนาที่จะให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากโครงการนี้อย่างเต็มที่ โดยปราศจากข้อสงสัยใดๆ ทั้งสิ้นเท่านั้นเอง

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

MEA ชูพลังงานสะอาด เปิดสถานีชาร์จ EV ณ MRT ศูนย์วัฒนธรรมฯ ขับเคลื่อนอนาคตการเดินทางไร้มลพิษ
สถาบันฯ สร้างสรรค์ และซอฟต์พาวเวอร์ ผลักดัน “จังหวัดจันทบุรี” เป็น “Soft Power” ระดับประเทศ
นพ.สสจ.เมืองคอนเตือน ระมัดระวังโรคฉี่หนู เมืองคอนสังเวยชีวิตแล้ว 8 ราย ชี้อำเภอฉวางสุ่มเสี่ยงมากที่สุด เสียชีวิตถึง 7 ราย -เตือนประชาชนประชาชนรักษาสุขภาพและเฝ้าระวังโรคที่จะมากับหน้าฝนนอกจากฉี่หนูแล้วให้ระมัดระวังให้โรคไข้เลือดออก
"เงินดิจิทัล เฟส 2 ได้วันไหน" ชัดเจนแล้ว พร้อมเช็ก เงื่อนไขเงิน 10,000 ล่าสุด
CPF สานต่อความมุ่งมั่นสร้างงานมีคุณค่าสำหรับคนพิการ หนุนวัฒนธรรมเคารพความแตกต่างและหลากหลาย
หมอวรงค์ นำกลุ่มคนรักชาติ ยื่นกว่าแสนรายชื่อ ร้องรบ.ยกเลิก MOU 44
กุ้ง อาหารทะเลยอดฮิต โปรตีนคุณภาพดี อร่อยด้วย ช่วยชาติได้
หมอถึงขั้นเข้าไปถามคนไข้ หลังพยาบาล เจาะเลือดไม่เข้า อึ้งห้อยพระเต็มคอ แต่ละองค์ราคาไม่ธรรมดา
“บิ๊กโจ๊ก” ด่าแรง “ทนายตั้ม” แอบอ้างชื่อ ลวง “เจ๊อ้อย” ไปเขื่อนเชี่ยวหลาน
“เจ๊อ้อย”โคตรแค้น “ทนายตั้ม” พาลูกเมียทัวร์ยุโรปถลุงเป็นล้าน แว้งกัด-คิดเอาชีวิต

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น