วันที่ 10 ตุลาคม 2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นำแถลงข่าว ความคืบหน้าปฏิบัติการเยียวยาจิตใจจากเหตุการณ์รุนแรงใน จ.หนองบัวลำภู ว่า ตั้งแต่วันที่เกิดเหตุกราดยิงเมื่อ 6 ต.ค. 2565 ที่ผ่านมา ได้รับรายงานในขณะที่อยู่ระหว่างปฏิบัติราชการที่ สปป.ลาว ขณะนั้นยังไม่ทราบสถานการณ์ในรายละเอียด แต่ก็มีการโทรศัพท์ขอให้ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ลงพื้นที่ในทันที เนื่องจากเป็นการทำร้ายประชาชนอย่างอุกอาจรุนแรง
อนุทิน โต้ดราม่ารอผู้ใหญ่แจงยิบขั้นตอนส่ง 37 ร่างชันสูตรที่รพ.อุดรธานี ทีมแพทย์ อุปกรณ์ต้องพร้อมทั้งต้นทางและปลายทาง ยัน 7 ผู้บาดเจ็บรอดชีวิตทุกคนแล้ว ขณะเด็ก 3 คนที่สาหัสถูกทำร้ายที่ศีรษะแพทย์สมองยันมีโอกาสหาย วางแผนดูแลจิตใจครอบครัวเหยื่อ 3 ระยะ
ข่าวที่น่าสนใจ
สำหรับเรื่องเร่งด่วนในขณะนั้นคือการช่วยชีวิตผู้บาดเจ็บที่ส่วนใหญ่เป็นเด็กเล็กๆ ที่บาดเจ็บสาหัส และเป็นเรื่องโชคดีที่โรงพยาบาลหนองบัวลำภู มีแพทย์ผ่าตัดสมองประจำการอยู่ 2 นาย โดยแพทย์ได้ทำอย่างเต็มที่ในการช่วยชีวิตผู้บาดเจ็บ และขณะนี้ผู้บาดเจ็บทั้งหมดมีอาการปลอดภัยพ้นขีดอันตรายแล้ว สิ่งที่จะต้องทำจากนี้คือต้องช่วยฟื้นฟูทั้งร่างกายและจิตใจให้กลับมาเป็นปกติมากที่สุด ซึ่งทุกคนถูกรับไว้เป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์
ทั้งนี้ ในคืนแรกมีความโกลาหลพอสมควร เพราะทุกคนต้องเร่งช่วยผู้บาดเจ็บให้รอดชีวิตก่อน จากนั้นจึงช่วยเหลือเยียวยาจิตใจและทำให้ทุกคนได้รับการปฏิบัติที่เหมาะสม ส่วนประเด็นที่มีการดราม่ารอ ไม่ส่งไปชันสูตรเพราะต้องการรอผู้ใหญ่ นายอนุทิน ชี้แจงข้อเท็จจริงคือต้องมีการจัดการ ยอมรับว่าตนเองและปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกันสั่งการไปยังผู้เกี่ยวข้องว่า การขนย้ายร่างผู้เคราะห์ร้ายไปชันสูตรต้องมีความพร้อมทั้งต้นทางและปลายทาง ซึ่งขณะนั้นเรากำลังระดมแพทย์นิติเวชที่จะมาชันสูตร เพราะในพื้นที่มีเพียง 2 คน จึงต้องเร่งระดมมาจากจังหวัดใกล้เคียงหรือส่วนกลาง กว่าจะมาถึง จ.อุดรธานี คือเช้าตรู่ของวันที่ 7 ต.ค. 2565 ดังนั้น การให้รออยู่ที่ จ.หนองบัวลำภู ก่อนเป็นสิ่งที่เหมาะสม
นายอนุทิน ระบุต่อไปว่า สิ่งที่ได้ย้ำไปคือว่าห้ามยัดทะนาน หรือการอัดรถใส่กระบะรถบรรทุก เราทำเช่นนั้นไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคสมัยปัจจุบันภาพเช่นนั้นจะออกสู่สายตาสาธารณชนไม่ได้ ตนเองและปลัด สธ. ก็หารือกัน คิดขนาดว่าต้องระดมรถพยาบาลในสังกัดมาลำเลียงแบบมีศักดิ์ศรี แบบการให้ความเคารพ ขอให้จัดโลงศพใส่ร่างเพื่อรอการชันสูตรที่ รพ.อุดรธานี เรามีผู้เคราะห์ร้าย 37 ราย ต้องใช้เวลาในการบริหารจัดการ แต่ก็โชคดีมากทางจังหวัดได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากเครือข่ายฉุกเฉิน เมื่อได้รับรายงานว่าจะต้องมีการลำเลียงผู้เคราะห์ร้ายเขาก็ทยอยนำรถฉุกเฉินมาซึ่งช่วยเหลือได้มาก กว่าจะเป็นทุกอย่างเป็นระเบียบก็ใช้เวลาพอสมควร ที่สำคัญ รพ.อุดรธานี ก็ต้องมีความพร้อมในการรับด้วย เมื่อเตรียมการเป็นขั้นตอนทุกอย่างพร้อม จึงดำเนินการจนเสร็จเรียบร้อยภายในเวลา 10.00 น. ของวันที่ 7 ต.ค. 2565 ถือเป็นประสิทธิภาพอย่างสูงของคณะแพทย์
“ถ้าเราทำแบบลวกๆเร่งๆขอให้ไปถึงโรงพยาบาลก่อน สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือร่างผู้เคราะห์ร้ายก็จะถูกนำมาวางไว้ตามซอกตามมุม หรือไปฝากไว้ตามมูลนิธิ เพราะไม่มีทางที่รพ.อุดรธานีจะรับร่างทั้ง 38 ร่างในเวลาเดียวกัน จะอลหม่านมาก จึงต้องจัดผู้รับผิดชอบ กำหนดรายชื่อแพทย์ที่ต้องมาทำการชันสูตรได้แล้วจึงดำเนินการ อุปกรณ์การชันสูตรพร้อมจึงลำเลียงไปชันสูตรที่รพ.อุดรธานี คนที่ไม่รู้เรื่องก็คอยแต่มานั่งจับผิด คอยมานั่งดูสิ่งที่มันไม่เป็นสาระกับสถานการณ์ใดๆ ทั้งสิ้น แล้วมันก็ทำให้สภาวะจิตใจของผู้ที่บริโภคข่าวที่อยู่ห่างไกลออกไป ก็ไปคิดว่ามันเป็นการปฏิบัติที่ไม่มีประสิทธิภาพ มันเป็นไปไม่ได้หรอกครับ เพราะว่าปลัดกระทรวงสาธารณสุขซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของหน่วยงานราชการอยู่ในพื้นที่ตั้งแต่วันเกิดเหตุแล้ว ตัวผมเองเมื่อได้เข้าไปในนั้น ก็ได้ทำการประสานในเรื่องต่างๆ ให้เป็นอย่างดี ช่วยกันทำเพื่อให้เกิดภาพที่ทำให้ญาติสบายใจ ทำให้สาธารณชนได้คลายความวิตกกังวล คลายความเศร้าโศก เพราะฉะนั้นทุกอย่างได้รับการปฏิบัติอย่างดี” นายอนุทิน กล่าว
ทางด้านการเร่งเยียวยาจิตใจ นายอนุทิน ระบุว่าได้ขอให้ยกกรมสุขภาพจิตไปอยู่ในที่เกิดเหตุ แปลว่าคนที่เกี่ยวข้องขอให้ระดมไปยัง จ.หนองบัวลำภู เพื่อเยียวยาจิตใจญาติผู้อยู่ในเหตุการณ์ และญาติผู้สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไป ซึ่งกรมสุขภาพจิตมีทีม MCATT ทีม MCATT หรือทีมประเมินภาวะสุขภาพจิตและเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤติ มีการระดมเข้ามาช่วยดูแลลงพื้นที่ไปหาแต่ละครอบครัว “ไม่ใช่แตะมือ แตะแขน แล้วบอกสู้ๆ ไม่ใช่” และถ้าต้องใช้บริการทางการแพทย์ต้องส่งไป รพ.ทันที ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากในช่วงเกิดวิกฤติเช่นนี้ พร้อมย้ำว่าไม่เกินสมรรถภาพ ไม่ได้เหนือบ่ากว่าแรง เพราะเกิดเหตุในตำบลเดียวกัน เราสามารถกระจายไปเยียวยาจิตใจลงไปแต่ละครอบครัว
นายอนุทิน กล่าวด้วยว่า ตั้งแต่วันเกิดเหตุจนถึงปัจจุบัน กระทรวงสาธารณสุขไม่ได้นิ่งนอนใจพยายามจะทำทุกอย่างเต็มที่ ตอนนี้ชีวิตรักษาได้แล้ว วันนี้ทั้ง 7 รายปลอดภัยและรอดชีวิตทุกคนอย่างแน่นอน ส่วนน้องๆ 3 คนที่มีอาการรุนแรงเนื่องจากถูกทำร้ายที่ศีรษะ ผมได้รับรายงานจากแพทย์ ซึ่งเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสมองที่อุดรฯ ว่า น้องๆ เขายังอายุน้อยอยู่ โอกาสที่จะฟื้นฟูสภาพให้กลับมาเป็นเหมือนเดิมมากที่สุดยังมีมากอยู่ ส่วนผู้ที่ได้รับบาดเจ็บซึ่งผู้ใหญ่ก็จะต้องรักษาให้เขากลับคืนสู่สภาพปกติให้มากที่สุด อย่างน้อยเป้าหมายแรกคือการรักษาชีวิต เราทำได้สำเร็จไปแล้ว ต่อไปคือการฟื้นฟูสภาพร่างกาย กายภาพ และทางจิตใจให้เต็มที่ ไม่ใช่ว่าพอออกจากห้องไอซียูแล้วมาพักฟื้น ดูแผลเสร็จ 7 วันกลับบ้าน อันนี้ไม่ใช่แน่นอน เนื่องจากเป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์ด้วย เราก็จะต้องดูแลทางด้านการฟื้นฟูสภาพของเขาไปจนกว่าจะกลับคืนสู่สภาพ ถ้าเป็นไปได้ก็คืนสู่สภาพเดิม หรือใกล้สภาพเดิมให้มากที่สุด นี่คือเป้าหมายของกระทรวงสาธารณสุข พร้อมจัดห้องพักให้ญาติได้ดูแลผู้บาดเจ็บใกล้ชิด”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง