จากกรณี สภาองค์กรของผู้บริโภค โดยการนำของ นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการฯ และ นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ประธานอนุกรรมการด้านสื่อสารโทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาองค์กรของผู้บริโภค เดินหน้าเรียกร้องให้กสทช. ทำหน้าที่ปกป้องสิทธิผู้บริโภค โดยการใช้อำนาจพิจารณาตัดสินใจ คำร้องขอควบรวมธุรกิจ ทั้ง ๆ ที่คณะกรรมการกฤษฎีกา ตีความว่า บทบาทสำคัญของกสทช.ในเรื่องการดูแลผู้บริโภค คือ การทำให้ดูแล ควบคุม การให้บริการ โทรศัพท์ หลังการเปลี่ยนผ่าน เป็นไปอย่างเหมาะสม อาทิเช่น ไม่มีการคิดค่าบริการอย่างไม่เป็นธรรม เท่านั้น พร้อมยืนยันจะฟ้องร้องต่อศาลปกครอง ถ้าเกิดกรณีกสทช. มีความเห็นให้เกิดกระบวนการควบรวมธุรกิจ ระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC
ต่อมา นายเพทาย วัฒนศิริ ทนายความผู้รับมอบอำนาจ จากผู้ถือหุ้นรายย่อย TRUE ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องคณะกรรมการ กสทช. ทั้ง 5 ราย ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 สืบเนื่องมาจาก กสทช.ยังไม่พิจารณาอนุญาตการรวมธุรกิจระหว่าง TRUE กับ DTAC หรือพิจารณาล่าช้า โดยไม่มีเหตุอันสมควร ทำให้ผู้ถือหุ้นได้รับความเดือดร้อนเสียหาย จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาล และศาลจะมีคำสั่งเกี่ยวกับคดีต่อไป
โดยให้เหตุผลว่า ความล่าช้าของคณะกรรมการ กสทช. เพราะการเลื่อนพิจารณาการควบรวมธุรกิจ TRUE กับ DTAC ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ถือหุ้น ทั้งที่ประกาศ กสทช. เกี่ยวกับการรวมธุรกิจ กำหนดระยะเวลาไว้ชัดเจนว่าให้ดำเนินการภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ผู้ได้รับใบอนุญาตยื่นต่อเลขาธิการ กสทช.
และยื่นคำร้องต่อศาลแพ่ง ขออนุญาตดำเนินคดีแบบกลุ่ม หรือ Class Action เพื่อดำเนินการฟ้องร้องเป็นค่าเสียหายต่อ คณะกรรมการ กสทช. , เลขาธิการ สำนักงาน กสทช. และสำนักงาน กสทช. รวม 7 ราย ในข้อหาละเมิด จงใจปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามกฎหมาย และขอให้ชดใช้ค่าเสียหาย อันเนื่องมาจากการพิจารณารายงานการรวมธุรกิจของ TRUE กับ DTAC และการมีมติรับแจ้งการรวมธุรกิจให้เป็นไปตามที่ประกาศ กสทช.กำหนดนั้นเป็นไปอย่างล่าช้าและไม่มีเหตุผลอันสมควร