ปราบหมูเถื่อนอย่างไร? ถึงยังเกลื่อนเมือง ปริวรรธน์ โพธนาม

กดติดตาม TOP NEWS

คนที่ติดตามข่าวเรื่องการปราบปรามหมูเถื่อนมาตลอด หากเห็นข่าวที่สื่อมวลชนนำเสนอเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2565 แล้ว คงเห็นด้วยว่าเป็นการ “เชือดไก่ ให้ลิงดู” เพราะการปฏิบัติการจับกุมหมูเถื่อนที่ห้องเย็นสมุทรสาครในวันดังกล่าว เกิดขึ้นหลังกรมปศุสัตว์ประกาศ “ย้ายสายฟ้าฟาด” ข้าราชการด่านกักกันสัตว์ ณ ท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อให้การปราบปรามเป็นผลอย่างเด็ดขาด หลังปราบเท่าไรก็ไม่หมด

ตลอดเดือนกันยายนที่ผ่านมา ทั้ง “กรมปศุสัตว์” และ “กรมศุลกากร” มีการตรวจสอบจับกุมและทำลาย “หมูเถื่อน” บ้าง เมื่อเทียบกับจำนวนที่ยังวางขายกันทางออนไลน์ หรือ โซเชียลมีเดียแล้ว นับว่าน้อยมาก แม้จะโดนกระทุ้งกระตุ้นการทำงานโดยสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติและตัวแทนเกษตรกรผู้เลี้ยงออกมาเรียกร้องให้รัฐจัดการปัญหาลักลอบนำเข้าเนื้อหมูอย่างจริงจัง ก็ยังไม่มีอะไรในกอไผ่

อดรนทนไม่ไหวกลุ่มตัวแทนเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรตัวจริงเสียงจริงที่เดือดร้อนจากราคาแสนถูกของหมูเถื่อน ต้องเรียกร้องให้รัฐช่วยปกป้องอาชีพจนต้องเข้ายื่นหนังสือถึง เลขาธิการคณะกรรมการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ขอให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งกรมศุลกากรและกรมปศุสัตว์ เพราะจับกุมกันมาหลายเดือน แต่ไม่เคยเปิดเผยชื่อเจ้าของสินค้าหรือผู้นำเข้าเลย รวมทั้งไม่ระบุถึงการลงโทษผู้กระทำความผิด หรือการสืบสวนขยายผลไปถึงตัวการใหญ่เลยแม้แต่เพียงครั้งเดียว ซึ่งหากขบวนการตรวจสอบจับกุมยังเป็นเช่นนี้…ไล่จับเท่าไหร่ก็ไม่มีทางหมด…

เมื่อย้อนกลับไปดูรายงานการจับกุม “หมูเถื่อน” ในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายนที่ผ่านมาของกรมศุลกากรมี 5 คดี ปริมาณเนื้อสุกรและชิ้นส่วนจากต่างประเทศรวม 43,800 ตัน มูลค่า 8,940,000 บาท เป็นการจับกุมระหว่างการเคลื่อนย้าย ซึ่งไม่พบเอกสารการผ่านพิธีการศุลกากรทั้งหมด ล่าสุดกรมปศุสัตว์ร่วมมือกับกรมศุลกากรเข้าตรวจสอบห้องเย็นบริษัทนาสาครห้องเย็น จำกัด จังหวัดสมุทรสาคร ที่ประกอบกิจการลักษณะรับฝากและผลิตจำหน่ายสินค้าปศุสัตว์ โดยจากการตรวจสอบพบซากสัตว์(สุกร, ขาไก่) นำเข้าโดยไม่ได้รับอนุญาต ประกอบด้วย สามชั้นจากประเทศอิตาลีและเยอรมัน จำนวน 70 ตัน ซี่โครง จากประเทศบราซิล จำนวน 40 ตัน ขาไก่จากประเทศบราซิล จำนวน 25 ตัน ขาไก่จากประเทศตุรกี จำนวน 25 ตัน จึงเกิดคำถามตามมาว่า ก่อนที่หมูเถื่อนเหล่านี้จะเคลื่อนย้ายไปยังห้องเย็นต่างๆ มาในช่องทางไหน ถึงสามารถเล็ดลอดมาได้ ซึ่งที่ผ่านมา กรมศุลกากรยืนยันอย่างเหนียวแน่นว่าไม่มีหมูเถื่อนผ่านมาเลย อย่างไรก็ดี ปริมาณหมูถื่อนที่จับกุมได้ ถือว่าเล็กน้อยมาก เมื่อเทียบกับข้อมูลจากเกษตรกรที่คาดว่ามีการนำเข้ามาเดือนละ 1,000 ตู้คอนเทนเนอร์ ยิ่งตอกย้ำให้เห็นถึง “ความบกพร่องหรือละเลย” ของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

ถึงเวลานี้ ต้นทางนำเข้าเป็นช่องทางอื่นไม่ได้เลยนอกจาก “ท่าเรือแหลมฉบัง” น่าจะเป็นช่องทางหลักที่ลำเลียง “หมูเถื่อน” เข้ามาในประเทศ แต่กรมศุลกากรซึ่งเป็นด่านแรกของการตรวจสอบ มีเครื่องสแกนเทคโนโลยีขั้นสูง ที่รัฐทุ่มงบประมาณติดตั้งแต่กลับไม่พบของผิดกฎหมาย และยังไม่เคยมีรายงานการตรวจจับหมูเถื่อนได่ภายในท่าเรือแม้แต่ครั้งเดียว ทั้งที่จับได้น่าจะเป็นหน้าตาและโชว์ศักยภาพของหน่วยงาน แต่กลับไปจับนอกด่านให้สังคมสงสัยถึงการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึง”ความโปรงใส” และมุ่งมั่นในการปราบปรามของผิดกฎหมาย เพราะต่อให้ขบวนการลักลอบนำเข้าสำแดงเท็จเป็นอาหารทะเลหรืออาหารสัตว์ แต่กรมศุลกากรก็มีอำนาจในการตรวจทุกตู้สินค้าอย่างละเอียดและมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยเป็นตัวช่วยในการจับผู้กระทำผิดได้ไม่ยาก และมีอำนาจเต็มในการเปิดตู้ตรวจสอบซ้ำเพื่อความมั่นใจ หากดำเนินการตรวจจับอย่างจริงจังที่ต้นทางย่อมตัดวงจรการกระจายหมูเถื่อนอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าการไล่ตรวจจากรถขนส่งและห้องเย็นต่างๆ

ที่สำคัญ หากจับ“หมูเถื่อน” ได้ที่ท่าเรือ กรมศุลกากรก็มีอำนาจพักใบอนุญาต หรือยกเลิกการนำเข้าของผู้ประกอบการรายนั้นๆ ได้ทันที แต่ในการตรวจจับช่วงที่ผ่านมาไม่เคยเปิดเผยชื่อเจ้าของสินค้า หรือผู้นำเข้าเลย ขณะที่กรมศุลกากรยังไม่มีการขยับใดๆ ทางฟาก กรมปศุสัตว์ ได้ดำเนินการโยกย้ายด่วน “ข้าราชการ” ตำแหน่ง “หัวหน้าด่าน (นายสัตวแพทย์) ด่านกักกันสัตว์ชลบุรี” กลุ่มควบคุม เคลื่อนย้ายและกักกัน สำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์ และแต่งตั้ง “ผู้อำนวยการกองสารวัตรและกักกัน” คนใหม่ เพื่อยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานหน้าด่าน และการปราบปราม “หมูเถื่อน” อย่างเด็ดขาด

จากนี้จึงต้องติดตามว่า กรมศุลกากร จะยกระดับการปราบหมูเถื่อนอย่างไร ในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักที่มีข้อมูลผู้นำเข้าอยู่แล้ว ควรติดตามและให้ความร่วมมือกับพนักงานสืบสวนสาวไปให้ถึง “ตัวการใหญ่” เพื่อถอนรากถอนโคนปัญหาหมูเถื่อนให้ได้ เพราะหากยังจัดการตัวการใหญ่ไม่ได้ มิจฉาชีพเหล่านี้ก็ยังหาโอกาสทำผิดแบบไม่เกรงกลัวกฎหมายกันต่อไป

กรมศุลกากร และกรมปศุสัตว์ ก็ต้องเดินหน้าตรวจสอบและจับกุม “หมูเถื่อน” อย่างเข้มงวดต่อไป ไม่ใช่พอเกษตรกรออกมากระตุ้นก็เข้าไปทำที หรือทำให้เสร็จๆ ไป แต่ต้องปราบปรามให้สิ้นซากแบบถอนรากถอนโคน การปราบพวกฉวยโอกาสลักลอบนำเข้าต้องทำอย่างเด็ดขาด ด้วยความรวดเร็ว และต่อเนื่อง ต้องลงโทษให้เข็ดหลาบ เพราะ “หมูเถื่อน” เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำลายเศรษฐกิจไทย เนื่องจากขายในราคาต่ำกว่าหมูไทยมาก ถือเป็นการบิดเบือนกลไกตลาด เกษตรกรไทยแข่งขันไม่ได้ เนื่องจากเป็นชิ้นส่วนที่ประเทศต้นทางไม่บริโภค เปรียบเสมือนการสร้างมูลค่าเพิ่มให้อาหารขยะ ทำลายสุขอนามัยที่ดีของผู้บริโภคจากสารเร่งเนื้อแดงที่ปนเปื้อนมากับหมูเถื่อน อีกทั้งยังมีโอกาสนำโรค ASF เข้ามาแพร่ระบาดในประเทศไทยซ้ำ ทั้งๆ ที่ ผู้เลี้ยงหมูไทย โดยเฉพาะรายย่อยกำลังฟื้นฟูการเลี้ยง หากเสียหายอีกก็อาจกลับมาในอาชีพการเลี้ยงสุกรไม่ได้ กระทบกับธุรกิจที่เกี่ยวข้อง คิดเป็นมูลค่ากว่าแสนล้านบาท และตัดโอกาสคนไทยที่จะได้บริโภคเนื้อหมูที่ปลอดโรค ปลอดสาร ปลอดภัย ในราคาที่เหมาะสมไปตลอดกาล

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

-

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น