จากกรณีสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่มีปัญหาการประมูลล่าช้ามากว่าสองปี ล่าสุด มีข้อมูลออกมาว่าราคาของผู้ชนะการประมูล เป็นราคาที่ทำให้รัฐต้องเสียประโยชน์ไปมากถึง 6.8 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับข้อเสนอของเอกชนรายอื่น ขณะที่ทางการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) ได้ออกมาชี้แจงผ่านสื่อ ซึ่งอาจจะไม่ครบถ้วนทุกประเด็นคำถาม ที่สังคมสงสัย ส่งผลให้หลายฝ่ายออกมาเรียกร้องให้เปิดเวทีเสวนา เพื่อสร้างความชัดเจนเรื่องดังกล่าว
ล่าสุด ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT เปิดเผยกับทีมข่าว TOPNEWS ถึง การประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ว่า เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของประชาชนโดยตรงในระยะยาว วันนี้รัฐบาลต้องใช้เงินกี่หมื่นล้านบาท เพื่อสนับสนุนให้เอกชนใช้ในการก่อสร้าง แต่วันข้างหน้า สิ่งที่จะต้องเจอ คือ การคิดค่าโดยสาร ถูกหรือแพง การจะให้บริการดีหรือไม่ดี มีจำนวนรถที่จะมาวิ่งให้บริการมากน้อยแค่ไหน เหมาะสมกับผู้โดยสารแต่ละช่วงเวลาหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก
โดยเมื่อมีการประมูลและก็มีข้อมูลออกมาว่า ในการประมูลครั้งนี้ จะทำให้รัฐเสียประโยชน์ไปถึงประมาณ 6.8 หมื่นล้านบาท เพราะฉะนั้น ทางองค์กรฯ จึงออกแถลงการณ์มา เพื่อเรียกร้องให้ทางรัฐบาลเป็นตัวกลาง หรือจะเป็นผู้สั่งการก็ตามแต่ เพื่อให้มีการตรวจสอบถึงผลประโยชน์ตรงนี้ ว่าสิ่งที่รัฐควรได้ ควรเสีย ในการประมูลครั้งนี้ เป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลแล้วหรือไม่
นอกจากนี้ องค์กรฯ ยังอยากเห็นการแสดงความรับผิดชอบของบุคคลที่เป็นคณะกรรมการต่างๆ ในโครงการเมกะโปรเจคท์ของภาครัฐ อย่างกรณีโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม จะมีทั้งการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) กรรมการรฟม. คณะกรรมการตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน หรือเกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคม ไหม รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) หรือมีคณะกรรมการอะไรเกี่ยวข้องหรือไม่ บุคคลที่เป็นคณะกรรมการเหล่านั้น ได้แสดงความรับผิดชอบในเรื่องเหล่านี้แค่ไหนในการแสดงความคิดเห็น
ส่วนในแง่ของจุดยืนและหลักคิด ขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ต่อโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม นั้น ดร.มานะ กล่าวว่า รถไฟฟ้าสายสีส้ม น่าเสียดายที่ตั้งแต่แรกมีความไม่โปร่งใส ขัดกับหลักธรรมาภิบาล ในการจัดซื้อจัดจ้างอยู่มากพอสมควร ทำให้เป็นคดีความขึ้นศาล ทั้งศาลปกครอง และศาลคอร์รัปชั่น อยู่หลายคดี ตรงนี้ทำให้เกิดเรื่องเคลือบแคลงสงสัยว่า มีการขัดแย้งผลประโยชน์กันระหว่าง ผู้มีอำนาจฝ่ายรัฐ กับกลุ่มผลประโยชน์ในภาคเอกชน ยังไงบ้าง ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกคนจะต้องช่วยกันติดตาม
แต่เมื่อมีการประมูลครั้งที่ 2 ทั้งที่คดีความยังไม่เสร็จสิ้น ก็คงต้องเป็นความรับผิดชอบของรฟม. และคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคงได้คิดทบทวนกันดีแล้ว จึงเปิดการประมูลครั้งนี้ขึ้นมา อย่างไรก็ตาม เมื่อมีปัญหาซ้อนขึ้นมาอีก ให้สังคมได้เห็นว่า มีตัวเลขผลประโยชน์ที่เสียไป ตรงนี้จำเป็นมากที่จะต้องสร้างความชัดเจน ซึ่งเกี่ยวกับความเชื่อถือของนักลงทุนต่อไปในวันข้างหน้า และทำให้ประชาชน สบายใจในการที่จะไว้วางใจคณะกรรมการ องค์กรต่างๆ ของภาครัฐ รวมถึงรัฐมนตรี และผู้ที่อยู่ในรัฐบาล ในการดูแลปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนอย่างเต็มที่